ชื่อเรื่อง การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ความคิดสร้างสรรค์ และเจตคติ สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น ไดโนเสาร์กาฬสินธุ์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนคำใหญ่วิทยา อำเภอห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้วิจัย นางพรทิวา พละเอ็น
ปีที่พิมพ์ 2552
บทคัดย่อ
การพัฒนาสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น ไดโนเสาร์กาฬสินธุ์ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เป็นการเพิ่มเติมรายละเอียดเนื้อหาสาระโดยบูรณาการเนื้อหาวิชาระหว่างกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ซึ่งเป็นเรื่องราวในท้องถิ่น เพื่อให้นักเรียนมีโอกาสเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงจากสิ่งใกล้ตัว การวิจัยในครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อ
1) พัฒนาสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น ไดโนเสาร์กาฬสินธุ์ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
2) เพื่อศึกษาประสิทธิภาพ และดัชนีประสิทธิผลของแผนการจัดการเรียนรู้ ไดโนเสาร์กาฬสินธุ์ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
3) เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ความคิดสร้างสรรค์ และเจตคติ ที่เกิดจากการใช้สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น ไดโนเสาร์กาฬสินธุ์ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2552 โรงเรียนคำใหญ่วิทยา อำเภอห้วยเม็ก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากาฬสินธุ์ เขต 2 จำนวน 21 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย
1) แบบสัมภาษณ์
2) แบบสอบถาม
3) แบบสังเกตพฤติกรรม
4) เอกสารสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น ไดโนเสาร์กาฬสินธุ์ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
5) แผนการจัดการเรียนรู้ สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น ไดโนเสาร์กาฬสินธุ์ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 11 แผน ใช้เวลาสอน 20 ชั่วโมง
6) แบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จำนวน 30 ข้อ มีค่าความยากตั้งแต่ 0.21 - 0.78 และค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ 0.21 - 0.93 และมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.88
7) แบบทดสอบ วัดความคิดสร้างสรรค์ จำนวน 3 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นของแบบทดสอบทั้งฉบับเท่ากับ 0.84
8) แบบวัดเจตคติจำนวน 19 ข้อ มีค่าอำนาจจำแนกรายข้อตั้งแต่ 0.44 - 0.88 ค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.86 สถิติในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ การวิเคราะห์เนื้อหา ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบค่าที (T - test Dependent) ด้วยการคำนวณ
ผลการวิจัย
จากการศึกษาข้อมูลพื้นฐาน พบว่า หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 เป็นหลักสูตรแกนกลางที่มีโครงสร้างหลักสูตรยืดหยุ่น กำหนดจุดหมายเป็นมาตรฐานการเรียนรู้ในภาพรวม ให้สถานศึกษาจัดทำสาระเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนจากสภาพที่แท้จริงใกล้ตัวในท้องถิ่น ตามความต้องการของผู้เรียนและชุมชน จึงได้จัดทำสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามหลักสูตรภายใต้ความเป็นจริง และสอดคล้องกับสภาพและสิ่งที่มีอยู่จริงในท้องถิ่น โดยเพิ่มรายละเอียดของเนื้อหาสาระบูรณาการเนื้อหาในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม จัดทำเป็นสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น ไดโนเสาร์กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของจังหวัดกาฬสินธุ์
ผลจากการศึกษาในขั้นนี้ ทำให้ทราบถึงประวัติความเป็นมาของการศึกษาค้นคว้าซากดึกบรรพ์ไดโนเสาร์ที่มีในประเทศไทย การค้นพบซากดึกดำบรรพ์โดยเฉพาะซากไดโนเสาร์ในจังหวัดกาฬสินธุ์ มิติสัมพันธ์ ทำเลที่ตั้ง ลักษณะทางธรณีวิทยาของแหล่งไดโนเสาร์ในจังหวัดกาฬสินธุ์ วัฏจักรชีวิต การสืบพันธุ์ พฤติกรรมของไดโนเสาร์วิวัฒนาการของไดโนเสาร์กาฬสินธุ์ การจำแนกชนิดของไดโนเสาร์ ผลกระทบที่เกิดจากการค้นพบแหล่งไดโนเสาร์ในท้องถิ่น การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนับสนุน ส่งเสริมและเผยแพร่แหล่งท่องเที่ยวไดโนเสาร์ในท้องถิ่น ได้แนวทางในการจัดการเรียนรู้และการวัดและประเมินผล ได้ข้อมูลที่จะจัดทำสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น ไดโนเสาร์กาฬสินธุ์
ผลการพัฒนาสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น พบว่า สาระการเรียนรู้ท้องถิ่นมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ มาตรฐานการเรียนรู้ ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง สาระการเรียนรู้ คำอธิบายรายวิชา หน่วยการเรียนรู้ กระบวนการจัดการเรียนรู้ สื่อและแหล่งเรียนรู้ กำหนดวิธีการวัดและประเมินผล ผู้เชี่ยวชาญได้ประเมินความสอดคล้องขององค์ประกอบ สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น และแผนการจัดการเรียนรู้ องค์ประกอบของหลักสูตร โดยวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา พบว่า มีค่าความสอดคล้องเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด
ผลการทดลองใช้สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น ไดโนเสาร์กาฬสินธุ์ กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนคำใหญ่วิทยาโดยใช้แผนการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบสมองครบส่วนที่มีประสิทธิภาพ 81.79/80.16 และมีค่าดัชนีประสิทธิผลคิดเป็นร้อยละ 63.24 และพบว่า นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์ เฉลี่ยโดยรวมคิดเป็นร้อยละ 80.58 และนักเรียนมีเจตคติที่ดีต่อการจัดการเรียนรู้อยู่ในระดับมากที่สุด