ผ่าตัดครั้งแรกในไทย
นำเข้าเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2560 โดย จุฬา ศรีบุตตะ
อ่าน [59250]  

.....

 ในวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๓๗๘ มิชชันนารีอเมริกันคนหนึ่งได้เดินทางมาถึงประเทศไทยในวันเกิดปีที่ ๓๑ ของเขาพอดี พร้อมกับบัณฑิตสาวผู้เป็นภรรยา จนวันที่เขาฝังร่างลงบนผืนแผ่นดินไทยในวัย ๖๙ ปี แม้เขาจะไม่ประสบความสำเร็จในการเผยแผ่ศาสนานัก แต่ประวัติศาสตร์ไทยต้องจารึกผลงานอีกด้านหนึ่งของเขาไว้หลายหน้า ในฐานะเป็นผู้นำวิทยาการแผนใหม่มาสู่แผ่นดินไทยหลายอย่าง เป็นผู้สร้างตำนานการแพทย์สมัยใหม่ รักษาด้วยการผ่าตัดเป็นครั้งแรก ริเริ่มปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษและเพาะเชื้อขึ้นเอง เป็นผู้เขียนตำราแพทย์แผนปัจจุบันเป็นภาษาไทยเล่มแรก เป็นผู้ริเริ่มการพิมพ์ในประเทศไทย ทั้งยังเป็นผู้ให้กำเนิดหนังสือพิมพ์ไทยฉบับแรก

       
       ฝรั่งที่คนไทยไม่เคยลืมท่านนี้ ก็คือ นายแพทย์ แดเนียล บีช บรัดเลย์ หรือเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในนาม “หมอบรัดเลย์” ซึ่งคนไทยสมัยนั้นเรียกกันว่า “หมอปลัดเล”
       
       หมอบรัดเลย์เกิดเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๓๔๗ บิดาเป็นผู้สอนศาสนา เมื่อเรียนจบวิชาแพทย์ได้แต่งงานกับ เอมิลี่ รอยซ์ บัณฑิตสาวผู้มีอาชีพเป็นครู จากนั้นก็สมัครเป็นมิชชันนารีเพื่อไปรับใช้พระเจ้าในต่างแดน
       
       หลังแต่งงานได้ ๔ ปี หมอบรัดเลย์และภรรยาก็ออกเดินทางจากเมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกามาสู่ประเทศสยามในช่วงปลายรัชกาลที่ ๓ สองสามีภรรยาได้เรียนภาษาไทยและเผยแพร่ศาสนาโดยใช้วิชาแพทย์เป็นเครื่องมือ ให้คนป่วยอธิษฐานก่อนรักษา แจกใบปลิวให้ก่อนกลับบ้าน และยังเดินแจกใบปลิวพร้อมหนังสือเกี่ยวกับพระเจ้าให้แก่ชาวบ้านตามตลาด ท่าเรือ และวัด เพื่อให้ผู้อ่านรู้จักพระเยซูคริสต์
       
       หมอบรัดเลย์ทำงานรับใช้พระเจ้าร่วมกับภรรยา ๑๐ ปี เอมิลี่ผู้ได้ชื่อว่าเป็นผู้หญิงสวยที่สุดในบางกอกขณะนั้น ก็เสียชีวิตด้วยวัณโรคใน พ.ศ.๒๓๘๘ โดยไม่ได้กลับไปเยี่ยมบ้านในอเมริกาเลย ต่อมาวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๙๐ หมอบรัดเลย์ได้พาลูกกำพร้าแม่ ๓ คนกลับไปอเมริกา และแต่งงานใหม่กับ ซาราห์ แบคลี่ จากนั้นก็พากันกลับมาทำงานต่อในสยาม
       
       หมอบรัดเลย์เสียชีวิตในวัย ๖๙ สมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๔๑๖ หลังจากที่เดินทางมาอยู่เมืองไทย ๓๘ ปี กลับไปเยี่ยมบ้านเสีย ๒ ปี จึงใช้ชีวิตเผยแพร่ความเจริญให้เมืองไทยถึง ๓๖ ปี
       
       หลังจากหมอบรัดเลย์เสียชีวิต ซาราห์ แบคลี่ บรัดเลย์ได้สานต่องานของสามี จนนางเสียชีวิตในเมืองไทยเช่นกันในวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๔๓๖ รวมอายุได้ ๗๕ ปี
       
       ส่วนลูกสาวคนเล็ก ไอรีน แบลล์ บรัดเลย์ ซึ่งเกิดในเมืองไทย เสียชีวิตในเมืองไทยเมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๔๘๓ สมัยรัชกาลที่ ๘ ขณะมีอายุได้ ๘๐ ปี ไม่มีโอกาสได้เห็นอเมริกาเลย
       
       ร่างของหมอบรัดเลย์ พร้อมกับภรรยาทั้ง ๒ และลูกสาวคนเล็ก นอนเคียงกันอยู่ที่สุสานโปรเตสแตนท์ ยานนาวา ในขณะนี้
       
       เมื่อมาถึงเมืองไทยไม่ถึงเดือน หมอบรัดเลย์ได้ตั้งคลินิกขึ้นแถววัดเกาะ สัมพันธวงศ์ ในวันที่ ๕ สิงหาคม และหลังจากเข้ามาถึงเมืองไทยได้ ๑ เดือนกับ ๑๐ วัน หมอบรัดเลย์ก็สร้างประวัติศาสตร์การแพทย์ด้วยวิธีผ่าตัดครั้งแรกขึ้นในเมืองไทย โดยตัดก้อนเนื้อที่หน้าผากของคนไข้รายหนึ่ง ขณะที่ไม่มีทั้งยาชาหรือยาสลบ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องเงียบๆไม่โด่งดัง
       
       ต่อมาในวันที่ ๘ กันยายน ได้เกิดเรื่องเมื่อกัปตันเรือชาวอังกฤษเข้าไปยิงนกในวัดเกาะ และเกิดวิวาทกับพระที่ไปห้าม หมอบรัดเลย์เป็นฝรั่งเหมือนกันเลยถูกหางเลขด้วย เจ้าของห้องที่ให้เช่าขอให้ย้ายก่อนที่ตัวเองจะเดือดร้อน หมอบรัดเลย์จึงมาอยู่ที่เรือนแพหน้ากุฎีจีน ฝั่งธนบุรี ย่านของชาวโปรตุเกส และที่ใหม่นี้หมอบรัดเลย์ก็สร้างผลงานโด่งดังขึ้น
       
       ในวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๓๗๙ มีงานฉลองวัดประยุรวงศ์ ซึ่งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์สร้างขึ้น มีมหรสพมากมายหลายอย่างรวมทั้งมีการจุดดอกไม้ไฟ และเพื่อให้สมกับที่เป็นงานใหญ่ ผู้จุดดอกไม้ไฟได้ขอยืมปืนใหญ่มาทำเป็นที่จุด โดยฝังโคนกระบอกลงดิน อัดดินปืนเข้าทางปากกระบอก แต่อัดเข้าไปเกินขนาด พอจุดไฟพะเนียง กระบอกปืนใหญ่จึงแตกเป็นเสี่ยง คนที่อยู่ใกล้ตายไปทันที ๘ คน บาดเจ็บอีกมาก หมอบรัดเลย์ซึ่งเปิดคลินิกอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุถูกตามตัวมาทันที
       
       หลายคนมีแผลฉกรรจ์ หมอบรัดเลย์ลงความเห็นว่าต้องผ่าตัด แต่พอได้ยินว่าต้องตัดบางส่วนของร่างกายออก บรรดาคนเจ็บก็ถอยหนีกันเป็นแถว ไม่เชื่อว่าคนเราสามารถตัดอวัยวะของร่างกายออกได้โดยไม่เสียชีวิต แต่พระสงฆ์รูปหนึ่งกระดูกแขนแตก หมอบรัดเลย์ว่าต้องตัดแขนทิ้ง เพราะบาดแผลฉกรรจ์เกินกว่าจะใส่ยา หากปล่อยไว้จะอักเสบลามทำให้เสียชีวิต พระสงฆ์รูปนั้นก็ใจถึงยอมให้ตัด โดยไม่มียาชาหรือยาสลบเช่นกัน ล่อกันสดๆ
       
       บรรดามิชชันนารีเองก็ลุ้นระทึก เฝ้าไข้กันทั้งคืน หากพระสงฆ์รูปนี้เป็นอะไรไป คงต้องเสียศรัทธายับเยินแน่ แต่ปรากฏว่าคนที่ยอมให้มิชชันนารีรักษา หายกันทุกคน ส่วนคนที่กลัวผ่าตัดกลับไปใส่น้ำมันมะพร้าว กินยาต้ม แผลอักเสบตายกันเป็นแถว การผ่าตัดรักษาตามแผนตะวันตกของหมอบรัดเลย์จึงได้รับความเชื่อถือขึ้นมาก
       
       โรคร้ายของเมืองไทยโรคหนึ่งในยามนั้นก็คือ ฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ ซึ่งทำให้คนตายปีละมากๆ ถ้าไม่ถึงตายก็หน้าพรุนเสียโฉมหรือตาบอด หมอบรัดเลย์ทุ่มเทในเรื่องนี้อย่างจริงจัง สั่งหนองฝีมาจากเมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกามาใช้ แต่ไม่ค่อยได้ผล เพราะเชื้อเดินทางมาไกล พอมาถึงก็เสื่อมคุณภาพแล้ว ต่อมาจึงลองเพาะเชื้อขึ้นเองในประเทศไทย ซึ่งช่วยให้คนรอดตายจากไข้ทรพิษได้เป็นจำนวนมาก จนในที่สุดโรคนี้ก็หายไปจากเมืองไทย
       
       บิดาของหมอบรัดเลย์นอกจากจะเป็นศาสนาจารย์ เป็นผู้พิพากษาแล้ว ยังยึดอาชีพเกษตรกรและเป็นบรรณาธิการวารสารทางการเกษตร หมอบรัดเลย์จึงมีพื้นฐานทางการพิมพ์อยู่บ้าง ได้สั่งแท่นพิมพ์จากสิงคโปร์มาตั้งโรงพิมพ์ขึ้นที่บ้านซึ่งอยู่หลังป้อมวิชัยประสิทธิ์ ปากคลองบางหลวง งานพิมพ์แรกๆ ก็เป็นงานเผยแพร่ศาสนาและการแพทย์ ต่อมารับพิมพ์งานราชการ โดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงจ้างพิมพ์ประกาศห้ามซื้อขายฝิ่นจำนวน ๙,๐๐๐ ฉบับ ซึ่งนับเป็นเอกสารทางรายการฉบับแรกที่ใช้วิธีพิมพ์แจกจ่ายประชาชน
       
       โรงพิมพ์ของหมอบรัดเลย์ได้พิมพ์หนังสือออกมาวางขายด้วยหลายเล่ม เช่น วรรณกรรมเรื่อง สามก๊ก จินดามณี ประวัติศาสตร์ กฎหมาย รวมทั้งซื้อลิขสิทธิ์ “นิราศลอนดอน” ของหม่อมราโชทัย มาจัดพิมพ์ งานเล่มสุดท้ายคือดิกชันนารีภาษาไทย ในชื่อ “อักขราภิธานศรับท์”
       
       ประวัติศาสตร์หนังสือพิมพ์ในประเทศไทย ก็ต้องจารึกไว้อีกเหมือนกันว่า ผู้ให้กำเนิดหนังสือพิมพ์ไทยฉบับแรก ก็คือคนอเมริกันผู้นี้
       
       หลังจากอยู่เมืองไทยมา ๒๐ ปี เขียนภาษาไทยได้คล่องแคล่วแล้ว ในปี ๒๓๙๘ หมอบรัดเลย์ก็ออกหนังสือพิมพ์ภาษาไทยในชื่อ“บางกอกรีคอเดอร์” แต่ออกอยู่ไม่ถึงปีก็หยุด เอาไปรวมกับฉบับภาษาอังกฤษเป็นครั้งเป็นคราว
       
       หมอบรัดเลย์เรียกหนังสือพิมพ์ของเขาว่า “จดหมายเหตุ”บ้าง “นิวสะเปเปอ”บ้าง และ “หนังสือพิมพ์”บ้าง ต่อมาคำว่า “หนังสือพิมพ์” ก็ได้รับการยอมรับจนถึงทุกวันนี้
       
       หลังจากหยุดออกไปหลายปี ในวันที่ ๑ มีนาคม ๒๔๐๘ “บางกอกรีคอเดอร์” ได้ออกใหม่อีกครั้งเป็นรายปักษ์ เสนอทั้งข่าวในประเทศ ข่าวต่างประเทศ บทความ และจดหมายจากผู้อ่าน ครั้งนี้ออกอยู่ได้ ๒ ปีก็เกิดเรื่องโดนฟ้องฐานหมิ่นประมาท
       
       สาเหตุมาจากการปักปันเขตแดนสยามกับอาณานิคมของฝรั่งเศสในอินโดจีน ฝรั่งเศสซึ่งเล่นบทหมาป่ากับลูกแกะพยายามเอาเปรียบทุกทาง แต่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) สมุหกลาโหม ไม่ยอมอ่อนข้อให้ ม.กาเบรียล ออบาเรต์ กงสุลฝรั่งเศสขุ่นเคือง จึงกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯให้ปลดเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ออกจากคณะกรรมการปักปันเขตแดน แต่ ร.๔ ไม่โปรดตามคำทูล ม.ออบาเรต์จึงทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรไปยืนดักรออยู่หน้าวังยื่นถวายพร้อมกับคำขู่ว่า ถ้าไม่ทำตามประสงค์ของเขาสัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับฝรั่งเศสจะต้องขาดสะบั้น เกิดสงครามขึ้นเป็นแน่ แต่พระเจ้าอยู่หัวไม่ได้ตรัสตอบแต่อย่างใด เสด็จเข้าวังไป
       
       หมอบรัดเลย์เอาเรื่องนี้มาตีแผ่ใน“บางกอกรีคอเดอร์” ทั้งยังออกวามเห็นด้วยว่า การกระทำของทูตฝรั่งเศสนี้ผิดวิธีการทูต และดักคอว่าการไม่ยอมปลดสมุหกลาโหมนี้ กงสุลฝรั่งเศสอาจพยายามแปลความเป็นไปว่า ในหลวงได้ทรงหยามเกียรติพระเจ้าจักรพรรดินโปเลียน เป็นสาเหตุอ้างในการทำสงครามกับสยามก็เป็นได้
       
       การตีแผ่ของของ “บางกอกรีคอเดอร์” ทำให้กงสุลฝรั่งเศสไม่กล้าแสดงอำนาจบาตรใหญ่กับคณะกรรมการปักปันเขตแดนต่อไป แต่หันไปฟ้องหมอบรัดเลย์ต่อศาลกงสุลในข้อหาหมิ่นประมาท
       
       คดีนี้ทั้งคนไทยและฝรั่งในบางกอกต่างสนับสนุนหมอบรัดเลย์ กงสุลอังกฤษเสนอตัวเป็นทนายให้ กงสุลอเมริกันเป็นผู้พิพากษา แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯมีพระราชประสงค์ที่จะไม่สร้างความขุ่นเคืองให้กงสุลฝรั่งเศสอีก จึงห้ามข้าราชการไทยที่รู้เห็นเหตุการณ์ไปเป็นพยานให้หมอบรัดเลย์ ผลจึงปรากฏว่าหมอบรัดเลย์แพ้คดี ถูกปรับเป็นเงิน ๔๐๐ เหรียญอเมริกัน ซึ่งคนไทยและชาวต่างประเทศได้เรี่ยไรกันออกค่าปรับให้ และเมื่อเรื่องราวสงบแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯได้พระราชทานเงินให้หมอบรัดเลย์ ๒,๐๐๐ เหรียญ เป็นค่ารักษาข้าราชสำนักฝ่ายใน ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นค่าปลอบใจเรื่องนี้นั่นเอง แต่เงินก้อนนี้ก็ไม่อาจรักษาไข้ใจของหมอบรัดเลย์ได้ จึงออก “บางกอกรีคอเดอร์” ฉบับวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๑๐ เป็นฉบับสุดท้าย
       
       แม้หมอบรัดเลย์จะเสียชีวิตไปร้อยกว่าปีแล้ว แต่เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๔๗ ได้มีพิธีทางศาสนาเนื่องในวาระครบ ๒๐๐ ปีชาตกาลหมอบรัดเลย์ที่สุสานโปรเตสแตนท์ ถนนตก ซึ่งผู้ร่วมพิธีล้วนแต่เป็นคนไทย และที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็จัด “๒ ศตวรรษหมอบรัดเลย์” ในวันที่ ๑๖ กรกฎาคมยาวถึง ๘ สิงหาคม ๒๕๔๗
       
       แสดงว่ากาลเวลาไม่อาจทำให้คนไทยเราลืมพระคุณของมิชชันนารีผู้นี้ แม้จะยอมรับนับถือลัทธิศาสนาที่หมอบรัดเลย์มีหน้าที่มาเผยแพร่น้อยไปหน่อยก็ตาม 

 

 
กำลังแสดงหน้าที่ 1 จากทั้งหมด 0 หน้า [หน้าถัดไปคือหน้าที่ 2] 1
 

 
เงื่อนไขแสดงความคิดเห็น
1. ทุกท่านมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเสรี โดยไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่กล่าวพาดพิง และไม่สร้างความแตกแยก
2. ผู้ดูแลระบบขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใด ๆ ต่อเจ้าของความคิดเห็นนั้น
3. ความคิดเห็นเหล่านี้ ไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมาย และไม่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับคณะผู้จัดทำเว็บไซต์

ชื่อ :

อีเมล์ :

ความคิดเห็นของคุณ :
                                  

              * ใส่รหัสจากภาพที่เห็นลงในช่องด้านล่าง และใส่คำตอบจากคำถาม เพื่อยืนยันการส่งความเห็น
  และสำลีสีอะไร
    

          ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการแสดงความคิดเห็นโดยสาธารณชน ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าชื่อผู้เขียนที่้เห็นคือชื่อจริง และข้อความที่เห็นเป็นความจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ boyoty999@google.com  เพื่อให้ผู้ดูแลระบบทราบและทำการลบข้อความนั้นออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้