ประเด็นปัญหาการศึกษาไทย
นำเข้าเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2560 โดย จุฬา ศรีบุตตะ
อ่าน [58765]  

.....

ประเด็นปัญหาการศึกษาไทยที่สำคัญ 4 ประการ ประการแรก ปัญหาสังคมผู้สูงอายุเต็มตัว มีโรงเรียน มหาวิทยาลัย คุณภาพต่ำ เกินกว่าจำนวนนักเรียนนักศึกษา ทุกวันนี้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว (Aged Society) เราเคยมีเด็กเกิดใหม่เพิ่มขึ้นปีละเกินกว่าล้านตั้งแต่ปี 2505 จนถึงปี 2530 กว่าๆ หลังจากนั้น จำนวนเด็กเกิดใหม่ในแต่ละปีของประเทศไทยก็ลดลงไปเรื่อยจนเหลือประมาณเจ็ดแสนกว่าต่อปีและมีแนวโน้มจะลดลงไปเรื่อยๆ มีการประมาณการกันว่าจำนวนเด็กที่เกิดในทุกวันนี้มีเพียงครึ่งเดียวหรือหนึ่งในสามของเมื่อยี่สิบปีก่อน และแน่นอนว่าเมื่อเด็กเกิดน้อยลงความต้องการเข้าเรียนหรือจำนวนที่นั่งเรียนก็ต้องการลดลงไปกว่าครึ่ง ผลที่เริ่มเห็นชัดคือโรงเรียนเอกชนต่างๆ ที่เคยมีมากมายเริ่มไม่มีนักเรียนเพราะที่นั่งของโรงเรียนในสังกัดของรัฐรวมไปถึงกระทรวงศึกษาธิการก็ยังเหลือบานเบอะมากมาย โรงเรียนอนุบาลและโรงเรียนประถมศึกษาของเอกชนเริ่มล้มหายตายจาก บางโรงเรียนขายที่ดินทำคอนโดมิเนียมขายหรือขายที่ให้ทำห้างสรรพสินค้าแทน เพิ่งได้รับทราบมาว่าโรงเรียนประถมศึกษาของรัฐที่มีชื่อเสียงย่านเอกมัย ท้องฟ้าจำลอง เคยมีนักเรียนสามพันกว่าคน ทุกวันนี้มีจำนวนนักเรียนรวมทั้งโรงเรียนแค่หกร้อยคน และมีแนวโน้มจะลดลงไปเรื่อยๆ ได้ลองสังเกตดูก็พบว่าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในโรงเรียนต่างจังหวัดเช่นกัน โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กในต่างอำเภอซึ่งมีจำนวนนักเรียนลดลงไปเรื่อยๆ เป็นจำนวนมาก นอกจากจำนวนเด็กที่เกิดน้อยแล้ว โรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้ก็หมดความสำคัญลงไป เพราะเมื่อเด็กเกิดน้อยการแข่งขันเพื่อเข้าเรียนโรงเรียนขนาดใหญ่ในเมืองที่มีชื่อเสียงก็ไม่ได้ยากมากเท่าในอดีต อัตราการแข่งขันลดลง อีกทั้งการเดินทางสมัยนี้ก็สะดวกมากขึ้น ต่างอำเภอในระยะไม่เกิน 100 กิโลเมตรสามารถเข้ามาเรียนในตัวจังหวัดได้สะดวกมาก อันที่จริงสมัยก่อนนักเรียนจากชลบุรีหรืออยุธยามาเรียนที่โรงเรียนในกรุงเทพ โดยเดินทางไปเช้าเย็นกลับกันเยอะแยะมานานแล้ว และปรากฏการณ์แบบเดียวกันนี้ก็เกิดขึ้นในตัวจังหวัดและหัวเมืองใหญ่แล้วเช่นเดียวกัน เมื่อเด็กเกิดลดลงไปครึ่งหนึ่งหรือเกือบสองในสาม เราก็คงต้องถามเช่นกันว่าแล้วจำนวนครูที่เหมาะสมต้องลดลงไปครึ่งหนึ่งหรือเกือบสองในสามหรือไม่ เราจำเป็นต้องปิดโรงเรียนลงไปบ้างให้เกิดสมดุลกับจำนวนนักเรียนที่ลดลงไปหรือไม่? แน่นอนว่าท้ายที่สุดแล้วต้องมีการลดขนาดองค์การของกระทรวงศึกษาธิการ โดยต้องมีการปิดโรงเรียนลงไปเป็นอันมากเนื่องจากไม่มีนักเรียนเพียงพอที่จะเข้าจุดคุ้มทุน (Break-even point) เนื่องจากโรงเรียนแต่ละโรงมีต้นทุนคงที่สูงมาก สิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการต้องทำคือนำผลการฉายภาพประชากร (Demographic Projection) ของไทยมาใช้ในการวางแผนการปิดโรงเรียนให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด การวางแผนอัตรากำลังพล เช่น จำนวนครู ในแต่ละสาขาและในแต่ละพื้นที่ให้สอดคล้องกับจำนวนเด็กที่ต้องได้รับการศึกษาในอนาคต ไม่เช่นนั้นกระทรวงศึกษาธิการจะเป็นกระทรวงที่มีคนล้นงานและว่างงานมากที่สุด เพราะจะไม่มีงานให้ทำ และเป็นการสิ้นเปลืองเงินงบประมาณแผ่นดินไปอย่างไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ ประการที่สอง ความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพ ไม่ใช่ความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึง ทุกวันนี้รัฐธรรมนูญตลอดจนนโยบายของแทบทุกรัฐบาลให้ความสำคัญกับการเข้าถึง โดยเน้นไปที่ Education for all เน้นการให้ทุกคนได้เรียนฟรี อย่างน้อยก็ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ในส่วนของอุดมศึกษาก็มีกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา อัตราการแข่งขันก็ลดลงเพราะไม่มีนักเรียน มหาวิทยาลัยมีที่ว่างให้นักศึกษามากกว่านักเรียนที่สมัครเข้ามหาวิทยาลัยเกือบเท่าตัว แรกว่าถ้ายังมีหัวสมองบ้างและพอมีลมหายใจก็ได้เรียนอะไรสักอย่างแน่นอน การสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้เอาเป็นเอาตายเหมือนสมัยก่อนที่การแข่งขันสูงมาก แต่ปัญหาที่น่าห่วงมากกว่าคือความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพของการศึกษาไทย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สังวรณ์ งัดกระโทก แห่งสาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้วิเคราะห์ผลการสอบ PISA ของไทยในวิชา การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ซึ่งพบว่านักเรียนไทยเกือบร้อยละ 80 มีคะแนนต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยของทั่วโลก ในขณะที่สิงคโปร์มีเพียงร้อยละ 20-30 สะท้อนให้เห็นว่าคุณภาพการศึกษาไทยค่อนข้างต่ำมากเมื่อเทียบกับมาตรฐานโลก แล้วที่เราไปแข่งวิทยาศาสตร์โอลิมปิก คณิตศาสตร์โอลิมปิกแล้วได้เหรียญรางวัลมามากมายนั้นก็เป็นเรื่องของนักเรียนเพียงหยิบมือเดียวไม่ใช่เรื่องของภาพรวมการศึกษาทั้งประเทศแต่อย่างใด 4 วิกฤติการศึกษาไทยที่ต้องแก้ไขโดยทันที (ตอนที่ 1) แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าคือผลการวิเคราะห์ Intraclass correlation ระหว่างโรงเรียน ซึ่งสะท้อนความแปรปรวนของคะแนนสอบ PISA ระหว่างโรงเรียนเทียบกับความแปรปรวนของคะแนนสอบ PISA ภายในโรงเรียน ยิ่งค่า Intraclass correlation มีค่ามากเข้าใกล้หนึ่งมากเท่าใดยิ่งแสดงว่าความแตกต่างหรือความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนในประเทศไทยนั้นมีมากเหลือเกิน ในรูปนี้ถ้าเราวิเคราะห์จะเห็นว่าความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการศึกษาของไทยสูงแม้กว่าเวียดนามซึ่งมีความแตกต่างระหว่างโรงเรียนน้อยกว่า ทั้งนี้ในประเทศที่พัฒนาแล้วความแปรปรวนของผลการสอบหรือผลการศึกษาจะเกิดขึ้นจากตัวนักเรียนเองเป็นหลัก ไม่ใช่เกิดขึ้นจากโรงเรียน ฟินแลนด์และสิงคโปร์เป็นตัวอย่างที่ดีที่ความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการศึกษาระหว่างโรงเรียนมีน้อยกว่ามากดังจะเห็นได้จากค่า Intraclass correlation ของฟินแลนด์ในสามวิชามีค่าเพียง 0.3 ในขณะที่ของไทยนั้นมีค่ามากกว่า 0.5 ดังนั้นอย่าได้แปลกใจที่จะเห็นพ่อแม่ผู้ปกครองวิ่งเต้นใช้เส้นสายฝากลูกเข้าโรงเรียนดังๆ โรงเรียนดีๆ และเราจะได้เห็นขบวนรถติดจอดรอรับลูกหน้าโรงเรียนดังในย่านสามเสน สีลม สุขุมวิท และปทุมวันอยู่เสมอไป หากเรายังไม่พัฒนาคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนอื่นๆ ให้ดีขึ้นมาได้ คำถามคือในขณะที่ NGO หรือแม้แต่กระทรวงศึกษาธิการ และนักการเมืองทั้งระดับชาติและระดับประเทศไปกังวลหรือสนใจปัญหาการเข้าถึงแต่กลับไม่คำนึงถึงคุณภาพและความเหลื่อมล้ำทางคุณภาพเท่าไหร่นัก ยิ่งประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว ประชากรวัยเด็กมีลดน้อยลง จำนวนโรงเรียน จำนวนครู และจำนวนนักเรียน ต่างก็ลดลง น่าจะสนใจเรื่องคุณภาพการศึกษาให้มากกว่าปริมาณอันเป็นการเข้าถึง ทั้งนี้ควรต้องคำนึงว่าประชากรวัยทำงานก็จะลดลงเช่นกัน ดังนั้นประชากรที่มีน้อยลงต้องมีคุณภาพเพียงพอที่จะทำงานได้มากเท่ากับคนหลายๆ คน จึงจะพยุงภาวะเศรษฐกิจและผลิตภาพของประเทศได้ ทั้งนี้คุณภาพการศึกษาจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวได้ 4 วิกฤติการศึกษาไทยที่ต้องแก้ไขโดยทันที (ตอนที่ 1) ประการที่สาม การวางแผนการศึกษาของชาติขาดความเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติและการเงินการคลังเพื่อการศึกษา ประเทศไทยมีปัญหาค่านิยมบ้ากระดาษและใบปริญญา นักการเมืองแห่กันมาเรียนปริญญาเอก มีปริญญาเอกไร้คุณภาพเปิดกันเต็มบ้านเต็มเมือง คนจบปริญญาเอกมีมากมายจนจะเดินชนกันตาย แต่ส่วนใหญ่จบปริญญาเอกในสาขาวิชาที่ไม่ได้มีความจำเป็น ที่มีมากสุดคือสายสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะสาขาวิชาการบริหารการศึกษา และ การบริหารรัฐกิจ มีเปิดกันมากและมีปัญหาไม่ผ่านมาตรฐานตามที่ สกอ. กำลังไล่ปิดอยู่ สาเหตุที่เราผลิตสังคมศาสตร์มากเกินไปเพราะต้นทุนการผลิตต่ำ ไม่ต้องมีห้องทดลอง เป็นที่นิยมของนักเรียนเพราะจบได้ง่ายกว่า จบได้เร็วกว่า แม้ว่าตลาดแรงงานจะไม่ได้ดีมากนัก เราจึงเห็นผู้สำเร็จระดับปริญญาตรีได้รับการจ้างงานในระดับที่ต่ำกว่ามาก ซึ่งทางวิชาการเรียกว่า underemployment คนจบปริญญาตรีทำงานต่ำกว่าตำแหน่งงานระดับปริญญาตรีมาก เช่น ไปเป็น messenger คอยส่งเอกสาร ซึ่งไม่จำเป็นต้องจบปริญญาตรีก็ทำได้ แท่งอาชีวะศึกษาซึ่งสำคัญมาก ขาดแคลนและเป็นที่ต้องการ ก็ไม่เป็นที่นิยม ในขณะที่เยอรมนี อาชีวะศึกษาเข้มแข็งและได้รับความนิยมมาก หลายบริษัทเช่น เครือซีเมนต์ไทยและ ปตท. ต้องลงมาเปิดโรงเรียนอาชีวะศึกษาเองเพื่อให้ได้คุณภาพและปริมาณตรงตามที่ต้องการ ต้นเหตุของปัญหาประการหนึ่งคือการคลังเพื่อการศึกษาเช่น กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ต้องกำหนดทุนที่ให้กู้ยืมเพื่อสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ เช่น ควรให้กู้ยืมเฉพาะในสาขาที่ขาดแคลน และจบมาแล้วมีงานทำแน่นอนและมีรายได้ดี พยาบาลเป็นอาชีพที่ขาดแคลนมากในปัจจุบันและอนาคต เป็นอาทิ หรือในสาย STEM (Sciences, Technology, Engineering and Mathematics) ที่นักเรียนไทยไม่นิยมเรียนแต่จำเป็นสำหรับการพัฒนาประเทศในระยะยาวเป็นอย่างยิ่ง หากการปล่อยกู้ทางการศึกษา คำนึงถึงความต้องการของสังคม ไม่ตามใจนักเรียนที่ต้องการเรียนเพื่อจบเอาใบปริญญา แต่เป็นการให้กู้ยืมเรียนในสาขาวิชาที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ นอกจากจะเป็นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาแล้ว ยังช่วยให้ประเทศมีกำลังคนที่เพียงพอและตรงกับแนวทางในการพัฒนาประเทศ ทั้งยังช่วยบริหารความเสี่ยง ลดโอกาสที่จะเกิดหนี้สูญจากการให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ในต่างประเทศเช่นในสหรัฐอเมริกา นักเรียนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำในสาขาวิชาที่เมื่อจบออกไปแล้วจะได้งานดีๆ เช่น เข้าเรียนแพทย์หรือกฎหมายที่ฮาร์วาร์ดได้ สามารถไปกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาจากธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ได้เลย ธนาคารเหล่านั้นจะมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อนำมาวิเคราะห์ความน่าจะเป็นที่จะเกิดหนี้เสียและสร้าง credit score โดยอาศัย credit scoring model ซึ่งประเทศไทยเราควรสนใจศึกษาและนำมาใช้ ณ วันนี้ที่ คสช. เขียนแผนยุทธศาสตร์ชาติ เราควรต้องถามว่าอีก 10-20 ข้างหน้าประเทศไทยต้องการกำลังคนในแต่ละสาขาวิชาเป็นเท่าใด และในปัจจุบันเรามีกำลังการผลิตหรือสถาบันการศึกษาที่สอนในวิชานั้นๆ อย่างละเท่าไหร่ แล้วมาวิเคราะห์ช่องว่าง (Gap analysis) เพื่อวางแผนการศึกษาของชาติให้สอดคล้องกัน หากสาขาวิชาใดมีจำนวนมากเกินความจำเป็นก็ต้องชะลอการผลิตลงไป และสาขาวิชาใดที่น่าจะขาดแคลนในอนาคตก็ควรจะวางแผนการศึกษาของชาติให้สอดคล้องกัน จีนใช้วิธีการนี้ในการวางแผนการศึกษาของชาติ และไม่ยอมให้มีการเรียนการสอนทางสังคมศาสตร์มากเกินไปแต่เน้นที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทำให้จีนมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และมีนวัตกรรมมากมายอย่างก้าวกระโดดอันจะเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศ เราพูดกันถึงเรื่อง Thailand 4.0 แต่เราคงลืมไปว่าเรามีคุณภาพการศึกษาอย่างไร คนไทย 0.4 และราชการไทย 0.004 ใช่หรือไม่ ประการที่สี่ การศึกษาของครูไทยขาดคุณภาพและขาด accountability ที่จะรับผิดชอบการพัฒนานักเรียน ในยุคสมัยหนึ่งมีความจริงที่แสนระคายหูครูไทยก็คือใครที่เรียนอะไรไม่ได้แล้วให้ไปเรียนครู ทั้งๆ ที่สมัยโบราณจริงๆ คนที่สอบได้ที่หนึ่งของจังหวัดจะเข้ามาเรียนครู การได้วัตถุดิบในการผลิตครูคุณภาพแย่นั้นก็นับว่าแย่แล้ว แต่ที่แย่กว่าคือหลักสูตรผลิตครูระดับปริญญาตรี แม้กระทั่งหลักสูตรห้าปีที่ใช้ในปัจจุบัน กลับไปเน้นสอนวิชาครูมากกว่าวิชาเนื้อหา การเรียนวิชาครูมากน่าจะช่วยให้สอนได้ดีพอสมควร แต่ถ้าเนื้อหาวิชาไม่แม่นยำ เรียนวิชาครูมากและสอนได้ดี น่าจะสอนสิ่งความรู้ผิดๆ ติดสมองนักเรียนไปชั่วกาลนาน เพราะสอนได้ดีมาก จนนักเรียนจำฝังใจในความรู้ที่ผิดหรือไม่แม่นยำ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ครูคณิตศาสตร์ หรือการสอนคณิตศาสตร์ศึกษา ทั้งนี้หลักสูตรคณิตศาสตร์พื้นฐานระดับมัธยมศึกษาตอนปลายมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับสถิติกว่า 42% แต่ครูที่จบเมเจอร์คณิตศาสตร์ศึกษาได้เรียนสถิติไม่เกิน 6 หน่วยกิต จาก 170 หน่วยกิต และไม่เคยเรียนเนื้อหาสถิติที่ต้องใช้สอน เมื่อสอบถามทำให้ทราบว่า ครูคณิตศาสตร์แทบทั้งหมด ไม่เคยเรียนวิชาการวิเคราะห์ถดถอย (Regression analysis) ที่ตรงกับเนื้อหาความสัมพันธ์เชิงเส้นในชั้นมัธยมปลาย ไม่เคยเรียนทฤษฎีการสุ่มตัวอย่าง (Sampling theory) และ การสำรวจความคิดเห็นและการทำประชามติ (Poll and opinion survey methodology) ซึ่งทำให้ครูหลายคนสอนเนื้อหาเหล่านี้อันเป็นเนื้อหาบังคับในคณิตศาสตร์พื้นฐานระดับมัธยมปลายอย่างไม่สะดวกใจเพราะไม่เคยเรียนมาก่อน ไม่เคยเห็นหรือทำงานจริงในเรื่องเหล่านี้ ทั้งนี้ความแตกฉานทางสถิติและข้อมูลจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาประเทศและการสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพ ให้มีวิจารณญาณ ไม่หลงเชื่อผลโพลผีโม่แป้งอย่างง่ายดายเกินไปโดยไม่คิดใคร่ครวญ แม้แต่เนื้อหาวิชาคณิตศาสตร์เองก็มีหลายหัวข้อที่เมื่อสอบถามครูคณิตศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายแล้วพบว่าครูที่จบโดยตรงเอกคณิตศาสตร์ศึกษา ก็ไม่ได้เรียนมาก่อนเป็นส่วนใหญ่ เช่น ทฤษฎีกราฟ (Graph Theory) และกำหนดการเชิงเส้น (Linear Programming) เป็นต้น นอกจากนี้ครูคณิตศาสตร์ยังต้องสอนจำนวนเชิงซ้อน (Complex number) โดยที่ไม่เคยเรียน Complex Analysis ทั้งนี้โดยหลักการครูผู้สอนเนื้อหาวิชาอะไร ก็ควรมีความรู้ในเนื้อหาวิชาที่ต่อเนื่องไปในระดับมหาวิทยาลัยหรือมีความรู้สูงกว่าสิ่งที่ตนเองจะต้องสอน เพราะนักเรียนจะเกิดความสงสัยได้ว่าเรียนต่อไปแล้วจะเอาไปใช้ประโยชน์อะไรอย่างไรในอนาคตอย่างแน่นอน และมีความเข้าลุ่มลึกพอที่จะอธิบายเหตุและผลได้ดี นอกจากนี้ระบบประเมินผลงานและการเลื่อนขั้นครูนั้นแม้กำลังได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น จากเดิมที่ต้องทำผลงานวิชาการกันโดยเขียนงานวิจัย เรื่องนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกำลังพยายามแก้ไขอยู่ แต่กระนั้นก็ตามการประเมินครูต้องดูที่เด็ก ว่าเด็กมีผลการเรียนดีขึ้นหรือไม่ เด็กประสบความสำเร็จดีขึ้นหรือไม่ ซึ่งระบบการศึกษาของไทยไม่เคยสนใจที่จะทำเช่นนี้ และการที่เด็กจะพัฒนาไปมากน้อยเพียงไป ไม่ได้เชื่อมโยงกับความดีความชอบของครูเลย ทำให้ครูไม่จำเป็นต้องมี accountability หรือความสำนึกรับผิดชอบต่อเด็ก ยกเว้นครูที่มี accountability อยู่แล้วโดยตัวเอง แต่ไม่ใช่เพราะระบบทำให้ครูมี accountability หลักการสำคัญที่ประเทศหลายๆ ประเทศใช้คือการประเมินผลงานครูต้องดูที่เด็กนักเรียน เรายังไม่ได้นำมาใช้ ทั้งหมดนี้คือ 4 วิกฤติการศึกษาไทย ที่ต้องรีบแก้ไขให้ทันท่วงที ก่อนที่จะย่ำแย่ไปกว่านี้

 

 
กำลังแสดงหน้าที่ 1 จากทั้งหมด 0 หน้า [หน้าถัดไปคือหน้าที่ 2] 1
 

 
เงื่อนไขแสดงความคิดเห็น
1. ทุกท่านมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเสรี โดยไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่กล่าวพาดพิง และไม่สร้างความแตกแยก
2. ผู้ดูแลระบบขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใด ๆ ต่อเจ้าของความคิดเห็นนั้น
3. ความคิดเห็นเหล่านี้ ไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมาย และไม่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับคณะผู้จัดทำเว็บไซต์

ชื่อ :

อีเมล์ :

ความคิดเห็นของคุณ :
                                  

              * ใส่รหัสจากภาพที่เห็นลงในช่องด้านล่าง และใส่คำตอบจากคำถาม เพื่อยืนยันการส่งความเห็น
  และสำลีสีอะไร
    

          ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการแสดงความคิดเห็นโดยสาธารณชน ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าชื่อผู้เขียนที่้เห็นคือชื่อจริง และข้อความที่เห็นเป็นความจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ boyoty999@google.com  เพื่อให้ผู้ดูแลระบบทราบและทำการลบข้อความนั้นออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้