ล้าหลัง..เพราะแบบนี้ นำเข้าเมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2560 โดย จุฬา ศรีบุตตะ อ่าน [359]
.....17 เม.ย.60 พล.ต.อ.จรัมพร สุระมณี กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เปิดเผยความคืบหน้าการตรวจสอบทุจริตโครงการรับฝากข้าวที่รัฐบาลรับจำนำจากเกษตรกร ว่า จากการตรวจสอบข้อมูลย้อนไปถึงการรับฝากข้าวโครงการรับจำนำนำพืชผลของรัฐบาลเมื่อปี 2551 ได้พบข้อมูลที่เป็นพิรุธอย่างมีนัยสำคัญ โดยตั้งแต่ปี 2551 บริษัทผู้รับจ้างตรวจสอบข้าว หรือ "เซอร์เวย์เยอร์" แต่ละแห่งจะรับดูแลข้าวเฉลี่ยอยู่ที่หลักสิบโกดัง เป็นระบบเจ้าของโกดังรับฝากข้าวแล้วหาเซอร์เวเยอร์เอง
แต่สำหรับการรับฝากข้าวในโครงการรับจำนำข้าวปี 2555 - 2556 ซึ่งอยู่ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมของนโยบายการรับฝาก คือ การเช่าโกดังและจ้างเซอร์เวเยอร์ตรวจสอบคุณภาพข้าวอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของหัวหน้าคลัง โดยบริษัทแห่งหนึ่งมีสัญญารับผิดชอบดูแลโกดังข้าวถึงเกือบ 100 โกดัง ซึ่งอาจเกินขีดความสามารถในการดูแลข้าวให้มีคุณภาพและมาตรฐานตามที่กำหนดในสัญญา จนเป็นเหตุให้มีปัญหาข้าวเน่า เสื่อมคุณภาพเสียหายจำนวนมาก ดังนั้นจึงเป็นประเด็นที่ต้องขยายผลว่า ใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังบริษัทเซอร์เวย์เยอร์ที่ได้รับว่าจ้างจากองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) ให้ดูแลคุณภาพข้าวทีละเกือบ 100 โกดัง ขณะที่ อคส.และ อตก.ต้องดูแลโกดังข้าวรวม 191 แห่ง เป็นโกดังของ อคส.137 แห่ง และเป็นโกดังของ อตก.54 แห่ง
พล.ต.อ.จรัมพร กล่าวอีกว่า เริ่มแรก อตก.และ อคส.ได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษว่า บริษัทที่รับฝากข้าวหรือเช่าโกดังเก็บข้าวกับเซอร์เวย์เยอร์ร่วมกันฉ้อโกง แต่ต่อมามีการกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ อคส.และ อตก.ที่ดูแลโกดังมีส่วนกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ เนื่องจากมีข้อมูลว่า มีส่วนทำให้ข้าวที่อยู่ในโกดังหรือคลังสินค้าเอาข้าวผิดชนิดเข้าเก็บ เช่น ระบุแจ้งข้อมูลเป็นข้าวหอมมะลิ แต่เอาข้าวขาว หรือข้าวไม่ได้มาตรฐานจัดเป็นข้าวเกรดซีหรือข้าวเสื่อมคุณภาพ เข้ามาจัดเก็บแทนข้าวดี ทั้งนี้ อคส.มีเจ้าหน้าที่ 48 คน ดูแล 137 โกดัง อตก.มีเจ้าหน้าที่ 23 คน ดูแล 54 โกดัง ซึ่งจากการตรวจสอบพบความผิดปกติมีการมอบเจ้าหน้าที่คลังสินค้าคนเดียวดูแล 30 โกดัง หรืออย่างน้อย 1 คนดูแลมากกว่า 5 โกดังขึ้นไป ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่าเกินขีดความสามารถที่จะทำได้หรือไม่ โดย ป.ป.ท.กำหนดกรอบเวลาในการไต่สวนคดีทุจริตรับฝากข้าวในโครงการรับจำนำข้าว 987 สำนวน ให้แล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย.นี้ โดยผู้ที่อยู่ในข่ายกระทำความผิด ได้แก่ หัวหน้าคลังฯ เซอร์เวย์เยอร์ ซึ่งมีรายชื่ออยู่แล้ว
"ป.ป.ท.ตรวจสอบเป็นการทุจริตโครงการรับฝากข้าวในโกดัง ซึ่งเป็นการทุจริตตอนเอาข้าวเข้าจัดเก็บ หรือเอาข้าวเข้า - ออกจากโกดัง ไม่ใช่โครงการรับจำนำข้าว แต่เป็นการทุจริตในขั้นตอนรับฝากข้าวในโครงการรับจำนำ ทำให้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมากมาย โดยจะมีค่าฝาก หรือค่าวางข้าวกระสอบละ 2 บาท ต่อเดือน" พล.ต.อ.จรัมพร กล่าว
พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ รองเลขาธิการ ป.ป.ท.กล่าวว่า ขณะนี้ ป.ป.ท.เขตพื้นที่ 1 - 9 อยู่ระหว่างตรวจสอบการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่ระดับปฎิบัติการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดูแลข้าวในโกดัง ซึ่งต้องเร่งรัดให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลา หลังจากนี้จึงจะขยายผลตรวจสอบธุรกรรมการเงินของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต ในส่วนข้อสังเกตุที่พบว่ามีบริษัทเซอร์เวเยอร์บางรายได้รับสิทธิเป็นคู่สัญญากับ อสค.และ อ.ต.ก.กว่า 100 โกดัง และปรากฎข้อเท็จจริงว่าข้าวของรัฐที่จัดเก็บไว้สูญหายจากโกดังมีคุณภาพไม่ตรงกับที่รับจำนำไว้ และเป็นข้าวเสื่อมคุณภาพ ป.ป.ท.จะขอให้บอร์ด ป.ป.ท.มีมติตั้งอนุกรรมการไต่สวนเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงถึงความเชื่อมโยงและสายสัมพันธ์ของบริษัทดังกล่าว ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ได้รับเลือกเป็นคู่สัญญาตรวจสอบคุณภาพข้าวเป็นจำนวนมาก
|