“คดีจิ้งเหลือง
นำเข้าเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2560 โดย จุฬา ศรีบุตตะ
อ่าน [58548]  

.....

ฟ้า ๗ วันที่สิงคโปร์! จิ้งเหลือง เป็นเหตุ! พระฟ้องคึกฤทธิ์หมิ่นประมาท จัดบริการพาญาติโยมทอดกฐินลอยฟ้า ๗ วันที่สิงคโปร์!! ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อปี ๒๕๐๗ คำว่า “จิ้งเหลือง” เกิดเป็นคำฮิตขึ้นมา ได้รับความสนใจจากคนทั่วเมือง โดยเฉพาะแฟนหนังสือพิมพ์สยามรัฐของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้บัญญัติศัพท์ที่น่าหวาดเสียวนี้ และถูกฟ้องด้วยข้อหาหมิ่นประมาทโดยคนที่ห่มผ้าเหลืองเป็นโจทก์ ทั้งนี้ในสยามรัฐรายวัน ฉบับวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๐๗ ในคอลัมน์ “ขัดจังหวะ” โดย “นายรำคาญ” ได้ลงข้อความว่า บริการจิ้งเหลือง ท่านอาจารย์พระมหาพิชิต คณะ ๑๕ วัดมหาธาตุ ขอบอกบุญมายังสัปปุรุษและสีกาทั้งหลาย ร่วมการกุศลทอดกฐินสามัคคี ณ วัดอานันทเมตตาราม ที่สิงคโปร์ เพื่อส่งเสริมวัดไทยในต่างประเทศให้เจริญยิ่งขึ้น โดยกำหนดออกเดินทางโดยเครื่องบินจากดอนเมืองวันที่ ๒๒ ตุลาคมศกนี้ เวลา ๙.๓๐ น. เสร็จงานทอดกฐินแล้วจะมีการทัศนาจรที่สิงคโปร์มีกำหนด ๗ วัน ค่าเดินทางทั้งไปและกลับ ตลอดจนค่าหนังสือเดินทางและค่าที่พัก ค่านำเที่ยว ค่าอาหาร รวมคนละ ๕,๐๐๐ บาท ติดต่อได้ที่พระมหาพิชิต คณะ ๑๕ วัดมหาธาตุ หรือโทรศัพท์หมายเลข ๒๘๖๑๖ (ใบฎีกาจากวัดมหาตุยุวราชรังสฤษฏ์) จงทำดี จงทำดี จงทำดี และในโอกาสนี้หวังว่าจะไม่มีการประกวดยอดสีกาด้วยนะครับ ด้วยเหตุนี้ พระมหาพิชิต พิชัยวีระพงษ์ พระภิกษุคนดัง ซึ่งเคยจัดพาญาติโยมไปทอดกฐินลอยฟ้าโดยเครื่องบินที่เชียงใหม่ จนอื้อฉาวเมื่อปีก่อนมาแล้วครั้งหนึ่ง จึงยื่นฟ้อง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้อำนวยการสยามรัฐ เป็นจำเลยที่ ๑ และนายประจวบ ทองอุไร บรรณาธิการ เป็นจำเลยที่ ๒ ในข้อหาหมิ่นประมาท โดยอ้างว่า คำโฆษณาดังกล่าวหยาบคาย ผิดวิสัยปัญญาชนชาวหนังสือพิมพ์พึงกระทำ เพราะคำว่า “จิ้ง” ใช้นำหน้าสำหรับเรียกสัตว์เลื้อยคลานหรือสัตว์สี่เท้าเท่านั้น เช่น จิ้งเหลน จิ้งจอก เป็นต้น ส่วนคำว่า “เหลือง” มีนัยหมายถึงโจทก์ซึ่งเป็นพระภิกษุนุ่งห่มผ้าเหลือง ทั้งนี้เป็นการส่อสำแดงเหยียดหยามโจทก์เช่นเดียวกับสัตว์ ซึ่งโจทก์เป็นผู้บริสุทธิ์เยี่ยงสมณะผู้บริสุทธิ์ทั้งหลาย คำว่า “จงทำดี” ก็ส่อให้เห็นเป็นการเย้ยหยัน โดยจำเลยคิดเข้าใจว่าการไปทอดกฐินของโจทก์ที่วัดไทยในสิงคโปร์ เป็นความชั่วอันเป็นความคิดของคนนอกศาสนาก็ไม่ปาน และข้อความที่ว่า “ในโอกาสนี้หวังว่าจะไม่มีการประกวดยอดสีกาด้วยนะครับ” เป็นการเสียดสีเยาะเย้ยหมิ่นประมาทโจทก์อย่างรุนแรง เพราะการกระทำดังกล่าวหาเป็นวิสัยของสมณะพึงกระทำไม่ จำเลยที่ ๑ แถลงแก้คดีว่า ตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๔๘๔ มาตรา ๔๘ เมื่อมีความผิดเกิดขึ้นด้วยการโฆษณาในหนังสือพิมพ์ ผู้ประพันธ์และบรรณาธิการต้องรับผิดชอบเป็นตัวการ ถ้าไม่ได้ตัวผู้ประพันธ์ให้เอาโทษแก่ผู้พิมพ์ผู้โฆษณาเป็นตัวการด้วย กฎหมายนี้เป็นกฎหมายพิเศษ ใช้บังคับนอกเหนือหลักการสมคบกันกระทำผิดดังบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา ฉะนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่คำฟ้องของโจทก์ระบุชัดว่าเป็นผู้อำนวยการ ไม่ใช่ผู้ประพันธ์หรือบรรณาธิการ หรือผู้พิมพ์ผู้โฆษณา จึงไม่ใช่ผู้ที่จะมีความรับผิดชอบตามกฎหมาย ส่วนจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นบรรณาธิการที่ต้องรับผิดชอบตามกฎหมายนั้นแก้ว่า คำว่า “จงทำดี” ในฟ้องของโจทก์กล่าวว่าเป็นการเย้ยหยัน แต่การเย้ยหยันก็ดี การกล่าวเสียดสีก็ดี การกล่าวเหยียดหยามก็ดี ไม่เป็นการหมิ่นประมาท เพราะตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๒๖ การหมิ่นประมาทจะต้องเป็นการกล่าวให้เขาเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือเกลียดชัง สำหรับคำว่า “จิ้งเหลือง” ซึ่งโจทก์ฟ้องมาเป็นข้อหมิ่นประมาท เป็นการเหยียดหยามโจทก์เช่นเดียวกับสัตว์นั้น ในคำพิพากษาฎีกาที่ ๕๙๐/๒๔๗๓ จำเลยว่าโจทก์เป็นผีปอบกินคนที่คบหาสมาคมด้วย ในคำพิพากษาฎีกาที่ ๓๒๔/๒๔๙๐ จำเลยด่าโจทก์ว่าไอ้ครูชาติหมา ในคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๒๑/๒๔๙๔ จำเลยด่าโจทก์ว่าเป็นเหี้ย ในคดีเหล่านี้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าข้อความไม่เป็นหมิ่นประมาท เพราะไม่มีใครจะเชื่อเอาเป็นจริงได้ว่าคนจะเป็นผีปอบ เป็นสุนัข เป็นเหี้ย ตามแนวบรรทัดฐานคำพิพากษาฎีกาที่ว่านี้จึงเห็นได้ว่า ข้อความหมิ่นประมาทจะต้องกล่าวพาดพิงถึงบุคคลในสิ่งที่จะเป็นไปได้ ถ้ากล่าวพาดพิงในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เช่นกล่าวว่ามนุษย์เป็นเหี้ย คนทั้งหลายไม่เชื่อว่าเป็นจริง และไม่ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาเสียชื่อเสียงหรือถูกดูหมิ่นเกลียดชัง อย่างมากจะเป็นได้ก็แต่ความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องระบุความผิดว่าหมิ่นประมาท จึงไม่อาจเอาผิดแก่จำเลยได้ ส่วนข้อความที่ว่า “ในโอกาสนี้หวังว่าจะไม่มีการประกวดยอดสีกาด้วยนะครับ” ในคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๗๓๔/๒๕๐๓ บ้านของมารดาจำเลยถูกขว้าง จำเลยไม่เห็นคนขว้าง แต่กล่าวต่อหน้าบุคคลหลายคนว่า “ไม่มีใครนอกจากไอ้แก้ว ไอ้ชาติหมา ไอ้ฉิบหาย” ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อความที่จำเลยกล่าวนั้นเป็นเพียงคาดคะเนพฤติการณ์ ไม่ได้กล่าวยืนยันข้อเท็จจริง จึงไม่มีเจตนาใส่ความโจทก์ให้เสียชื่อเสียง ตามบรรทัดฐานคำพิพากษาฎีกาที่ว่านี้ จึงเห็นได้ว่า ข้อความจะเป็นหมิ่นประมาทได้ ก็ต่อเมื่อยืนยันข้อเท็จจริงอันเป็นที่เสียหายแก่โจทก์ ถ้ากล่าวถึงสิ่งที่จะมีขึ้นในอนาคต หรือเป็นเพียงคาดคะเนเหตุการณ์ที่อาจจะมีขึ้นหรือไม่มีขึ้นก็ได้ หรือกล่าวแต่เพียงแสดงความหวังว่า สิ่งนั้นจะมีขึ้นหรือไม่มีเกิดขึ้น โดยไม่มีการยืนยันข้อเท็จจริง จะถือว่ามีเจตนาหมิ่นประมาทไม่ได้ ข้อความที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐลง อย่างมากก็เป็นแต่เพียงการแสดงความหวังว่า จะไม่มีการประกวดยอดสีกาด้วย เมื่อคนทั้งหลายได้อ่าน ก็ไม่มีใครเข้าใจไปว่าโจทก์จะจัดให้มีการประกวดยอดสีกาได้ เท่าที่จะพาดพิงไปถึงโจทก์ได้ อย่างมากก็เป็นแค่เจตนาติชมตามวิสัยประชาชนที่เป็นพุทธศาสนิก ผู้หวังดำรงไว้ซึ่งพระศาสนา ไม่ปรารถนาจะให้พระภิกษุในพระพุทธศาสนาปฏิบัติในทางที่มิชอบด้วยพระธรรมวินัย เมื่อเห็นพระภิกษุประพฤติตนไม่เรียบร้อย ไปจัดทัศนาจรนำเที่ยวผิดสมณวิสัย จึงติไปตามวิสัยของประชาชนผู้เป็นพุทธศาสนิกจะพึงกระทำ ศาลแขวงพระนครเหนือได้พิพากษาเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๐๘ ศาลพิเคราะห์เห็นว่า หากจำเลยไม่ตั้งหัวข้อเรื่องโดยใช้ถ้อยคำว่า “บริการจิ้งเหลือง” ให้เป็นที่สะดุดความรู้สึกแล้ว ก็คงไม่เป็นกรณีที่จะว่ากล่าวฟ้องร้องกัน สาระสำคัญของมูลคดีจึงเน้นหนักที่จำเลยตั้งหัวข้อเรื่องว่า “บริการจิ้งเหลือง” หากตัดข้อความหัวเรื่องตอนนี้ออกแล้ว ก็ไม่มีมูลอันใดที่จะกล่าวหาจำเลยได้ ข้อความตอนอื่นๆถึงแม้จะแยกอ่านหรืออ่านรวมกันอย่างไร ก็ไม่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจไปได้ว่า โจทก์จัดทอดกฐินบังหน้าเพื่อหลอกลวงประชาชน ดังนั้นการที่โจทก์ตีความไปว่าจำเลยมีเจตนาจะหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์จนถึงกับว่าเป็นสุนัขจิ้งจอก ซึ่งเป็นสัตว์ฉลาดแกมโกง จึงเป็นความรู้สึกที่ไกลเกินเหตุ ถึงแม้จะเอาคำว่า “บริการจิ้งเหลือง”มาพิเคราะห์ประกอบด้วย ก็ยังไม่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจหรือรู้สึกไปได้ว่า จำเลยมีเจตนาจะหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ คำว่า “จงทำดี จงทำดี ในโอกาสนี้หวังว่าจะไม่มีการประกวดยอดสีกาด้วยนะครับ” มีความหมายอยู่ในตัวว่ามิใช่เป็นการยืนยันในเหตุการณ์ เป็นเพียงพูดถึงเหตุการณ์ที่คาดหวังไว้เท่านั้น พระเถระผู้ใหญ่องค์หนึ่งซึ่งเป็นสมณเพศเช่นเดียวกับโจทก์ เบิกความว่าเมื่อได้อ่านข้อความนั้นแล้วรู้สึกว่าดี เป็นการสะกิดใจพระจะได้สังวรไว้ เพราะการที่พระภิกษุจัดการทอดกฐินเหินฟ้านั้น เป็นการอึกทึกครึกโครมสิ้นเปลืองเงินทองค่าใช้จ่ายมากไป เป็นทำนองว่าควรจะทำตามสมควรแก่อัตภาพ มิฉะนั้นจะเกิดการเสียหายดังที่โจทก์เคยจัดทอดกฐินเหิรฟ้าที่เชียงใหม่มาครั้งหนึ่ง และมีเรื่องราวถึงกับฟ้องร้องกัน อย่างไรก็ดี ถึงแม้จำเลยจะมีเจตนาดีเพื่อความบริสุทธิ์แก่พระศาสนาประการใดก็ตาม ก็ต้องอยู่ในกรอบในขอบเขตของกฎหมาย จำเลยมีทางที่จะเลือกทำได้โดยไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ตกเป็นข่าว การที่จำเลยตั้งหัวข้อโดยใช้ถ้อยคำว่า “บริการจิ้งเหลือง”กับภิกษุในพุทธศาสนานั้น ถ้อยคำย่อมเป็นการล่วงเกินโจทก์และกระทบต่อความรู้สึกของพุทธศาสนิกชนอย่างรุนแรง กล่าวคือคำว่า “จิ้ง” นายเปลื้อง ณ นคร พยานจำเลยเองก็ว่าใช้นำหน้าสัตว์เท่านั้น พระภิกษุในพุทธศาสนาก็ห่มเหลือง ก็เท่ากับจำเลยเอาพระภิกษุไปเปรียบเทียบกับสัตว์เลื้อยคลานนั่นเอง จึงเป็นการกล่าวต่อโจทก์โดยตรง ไม่มีฟังเป็นอย่างอื่นได้ ที่จำเลยกล่าวแก้ว่า จิ้งเหลนหมายถึงเด็กหนุ่มพวกหนึ่งที่นุ่งกางเกงขาลีบๆ ท่าทางปราดเปรียว ใครเรียกจิ้งเหลนเด็กพวกนี้ก็พอใจนั้น ก็มิใช่ถ้อยคำที่เป็นมงคลที่จะเรียกขานกันได้โดยทั่วไป หากเอาไปใช้ไม่ถูกกาลเทศะแล้ว อาจเกิดการประทุษร้ายกันขึ้นได้ ตามคำฟ้องของโจทก์ ระบุขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๒๖,๓๒๘ ฐานหมิ่นประมาทใส่ความ แต่ดังที่วินิจฉัยมา การกระทำของจำเลยไม่เป็นการหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ ศาลจะปรับบทลงโทษจำเลยเป็นความผิดตามมาตราอื่นในลักษณะเป็นการดูหมิ่น ตามมาตรา ๓๙๓ โดยโจทก์ไม่ได้ขอมา ได้หรือไม่ ศาลเห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีขึ้นมาก็โดยประสงค์จะให้ลงโทษจำเลย ตามคำบรรยายฟ้องก็มีองค์ประกอบพอที่จะให้เข้าใจได้ว่าเป็นการดูหมิ่นโจทก์ด้วย กรณีที่เป็นเรื่องที่มีข้อเท็จจริงคาบเกี่ยวกัน อันเป็นความผิดกฎหมายได้หลายบท โดยการตีความหมายของถ้อยคำที่หมิ่นประมาทกัน มิใช่เรื่องที่โจทก์สละสิทธิ์มิให้ลงโทษจำเลยตามมาตราอื่นที่มิได้อ้างมา ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๙๒ วรรค ๔ เป็นเรื่องที่ผู้ดูหมิ่นจะต้องกล่าวต่อผู้ดูหมิ่นโดยตรง แต่เมื่อจำเลยเอาไปโฆษณา จึงต้องอยู่ในฐานะเป็นตัวการด้วย ตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๔๘๐ มาตรา ๔๘ วรรค ๒ บัญญัติว่า “ในกรณีแห่งหนังสือพิมพ์ ผู้ประพันธ์และบรรณาธิการต้องรับผิดเป็นตัวการ และถ้าไม่ได้ตัวผู้ประพันธ์ ก็ให้เอาโทษแก่ผู้พิมพ์เป็นตัวการด้วย” สำหรับจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการ จึงไม่ต้องรับผิดด้วย จำเลยแถลงตัดฟ้องประการหนึ่งว่า โจทก์เป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา จะฟ้องบุคคลเป็นคดีอาญาไม่ได้ เทียบกับกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่มีอะไรห้ามมิให้พระภิกษุทำการสมรสกับสีกา แต่ก็เห็นได้ว่าพระภิกษุจะทำการสมรสกับสีกาไม่ได้ เพราะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การจึงตกเป็นโมฆะตามาตรา ๑๑ กรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน ได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ไม่มีกฎหมายใดที่บัญญัติห้ามมิให้พระภิกษุฟ้องความในศาลหลวงแต่ประการใด และพระภิกษุก็อาจถูกฟ้องในศาลหลวงได้เช่นเดียวกัน ก็เมื่อพระภิกษุอาจถูกฟ้องได้ เหตุใดเมื่อพระภิกษุถูกละเมิดจึงมีข้อห้ามปิดปากมิให้ฟ้องร้องได้บ้าง พระภิกษุที่ทำการสมรสกับสีกานั้น เป็นพวกอลัชชี ไม่ใช่พระภิกษุแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมีข้อห้ามไว้ ข้อตัดฟ้องของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น ดังได้วินิจฉัยมา จึงพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานโฆษณาดูหมิ่นตามกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๓ วางโทษปรับ ๓๐๐ บาท ข้อหาอื่นให้ยกเสีย ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้ยกฟ้องพ้นข้อหาไป จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์มุ่งประสงค์จะให้ศาลลงโทษจำเลยในความผิดหมิ่นประมาทตามมาตรา ๓๒๖,๓๒๘ ส่วนความผิดดูหมิ่นตามมาตรา ๓๙๓ โจทก์หาได้ขอมาไม่ แม้ข้อกฎหมายจะฟังได้ว่าเป็นการดูหมิ่น ศาลก็จะลงโทษจำเลยในข้อกฎหมายนั้นหาได้ไม่ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยนั้น ไม่ต้องด้วยศาลอุทธรณ์ จึงแก้คำพิพากษาชั้นต้น ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๒ เสีย โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนแล้ว ศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยว่า คำโฆษณาของจำเลยที่ ๒ ดังกล่าว เป็นข้อความที่ดูหมิ่นโจทก์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๙๓ มาถูกต้องแล้ว มีปัญหาขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเพียงข้อเดียวว่า เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยฐานโฆษณาดูหมิ่นหรือไม่เท่านั้น ศาลฎีกาได้พิเคราะห์คำฟ้องของโจทก์และพยานหลักฐานโจทก์จำเลยแล้ว เห็นว่าข้อความหมิ่นประมาทนั้นอาจเป็นข้อความตามข้อเท็จจริงใดๆ หรือความคิดเห็นโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ส่วนคำดูหมิ่นไม่เป็นการกล่าวข้อเท็จจริงใดๆ แต่เป็นคำกล่าวอันทำให้เป็นที่ดูถูกดูหมิ่น เหยียดหยาม ด่าแช่งค่อนขอด ฯลฯ ตามฟ้องของโจทก์ได้ระบุว่า คำโฆษณาของจำเลยหยาบคาย ผิดวิสัยปัญญาชนชาวหนังสือพิมพ์พึงกระทำ เพราะคำว่า “จิ้ง” นั้นใช้นำหน้าสำหรับเรียกสัตว์เลื้อยคลาน หรือสัตว์สี่เท้าเท่านั้น คำว่า “เหลือง” ก็มีนัยถึงโจทก์ซึ่งเป็นพระภิกษุนุ่งห่มผ้าเหลือง ทั้งนี้เป็นการส่อสำแดงเหยียดหยามโจทก์เช่นเดียวกับสัตว์ คือหมายความว่า จำเลยไม่ได้กล่าวข้อเท็จจริงใดๆใส่ความหมิ่นประมาทโจทก์ แต่กล่าวถ้อยคำดูหมิ่นเหยียดหยามค่อนขอดโจทก์เท่านั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานโฆษณาดูหมิ่นตามมาตรา ๓๙๓ การที่โจทก์อ้างความผิดฐานหมิ่นประมาท และขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา ๓๒๖,๓๒๘ อันเป็นบทมาตราที่ผิด เมื่อข้อเท็จจริงได้ฟังดังฟ้องโจทก์ ศาลย่อมลงโทษจำเลยในข้อเท็จจริงนั้น และตามฐานความผิดที่ถูกต้อง คือความผิดฐานโฆษณาดูหมิ่นตามมาตรา ๓๙๓ ดังกล่าวได้ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น จึงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ในที่สุด “คดีจิ้งเหลือง”ที่เกรียวกราว ทำให้แฟนติดตามข่าวในหนังสือพิมพ์สยามรัฐเพิ่มขึ้นอีกมาก ก็จบลงด้วยการเสียค่าปรับไป ๓๐๐ บาท

 

 
กำลังแสดงหน้าที่ 1 จากทั้งหมด 0 หน้า [หน้าถัดไปคือหน้าที่ 2] 1
 

 
เงื่อนไขแสดงความคิดเห็น
1. ทุกท่านมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเสรี โดยไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่กล่าวพาดพิง และไม่สร้างความแตกแยก
2. ผู้ดูแลระบบขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใด ๆ ต่อเจ้าของความคิดเห็นนั้น
3. ความคิดเห็นเหล่านี้ ไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมาย และไม่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับคณะผู้จัดทำเว็บไซต์

ชื่อ :

อีเมล์ :

ความคิดเห็นของคุณ :
                                  

              * ใส่รหัสจากภาพที่เห็นลงในช่องด้านล่าง และใส่คำตอบจากคำถาม เพื่อยืนยันการส่งความเห็น
  และสำลีสีอะไร
    

          ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการแสดงความคิดเห็นโดยสาธารณชน ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าชื่อผู้เขียนที่้เห็นคือชื่อจริง และข้อความที่เห็นเป็นความจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ boyoty999@google.com  เพื่อให้ผู้ดูแลระบบทราบและทำการลบข้อความนั้นออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้