“ด้านมืด”
นำเข้าเมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2560 โดย จุฬา ศรีบุตตะ
อ่าน [58560]  

.....

 

 

“ด้านมืด” ของถ่านหิน : มัจจุราชจากโลกพลังงาน

 

        นับเป็นประเด็นร้อนต่อเนื่องมาหลายปี สำหรับกรณีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่จังหวัดกระบี่ กระทั่งล่าสุด มีการชุมนุมต่อต้านที่หน้าทำเนียบรัฐบาลโดยชาวบ้านและประชาชนที่ไม่เห็นด้วย

       

       “ถ่านหิน” คืออะไร? ทำไมชาวบ้านจึงเลือกที่จะเป็น “คนไม่เอาถ่าน”? และมัน “อันตราย” มากน้อยเพียงใด? เรามาทำความรู้จักกับ(พิษภัยของ)พลังงานชนิดนี้กันหน่อยดีไหม? 

 

 “ด้านมืด” ของถ่านหิน : มัจจุราชจากโลกพลังงาน

 

        ถ่านหิน “ลิกไนต์”

       หนึ่งในตัวการใหญ่ทำลายอากาศโลก

       

       ถ่านหิน (coal) เป็นเชื้อเพลิงธรรมชาติ เกิดจากการสะสมตัวตามธรรมชาติของซากพืชในแอ่งตะกอนน้ำตื้น ถ่านหินเป็นหินตะกอนชนิดหนึ่งซึ่งสามารถติดไฟได้ มีส่วนประกอบที่สำคัญคือ สารประกอบของคาร์บอน ซึ่งจะมีอยู่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 โดยประมาณ ถ่านหินมีกำเนิดมาจากการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของพืชพันธุ์ไม้ต่างๆ ที่สลายตัวและสะสมอยู่ในลุ่มน้ำหรือแอ่งน้ำต่างๆ นับเป็นเวลาหลายร้อยล้านปี เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของผิวโลก เช่น เกิดแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด หรือมีการทับถมของตะกอนมากขึ้น ทำให้แหล่งสะสมตัวนั้นได้รับความกดดันและความร้อนที่มีอยู่ภายในโลกเพิ่มขึ้น ซากพืชเหล่านั้นก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นถ่านหินชนิดต่างๆ

       

       โดยถ่านหินชนิดที่เรากำลังพูดถึงและเป็นประเด็นก็คือ ถ่านหินลิกไนต์

       “ลิกไนต์” เป็นหินที่มีซากพืชสลายตัวหมด ไม่เห็นโครงสร้างของพืช ลักษณะเนื้อเหนียวและผิวด้าน มีสีเข้ม มีปริมาณออกซิเจนและความชื้นต่ำ มีปริมาณคาร์บอนสูงถึง 55 - 60% เมื่อติดไฟ จะมีควันและเถ้าถ่านมาก ลิกไนต์ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับให้ความร้อน ใช้เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และใช้บ่มใบยา

       

       ในช่วง 10 - 20 ปีที่ผ่านมา กระแสความคิดอย่างหนึ่งซึ่งได้รับการตอบรับจากชนชาวโลกทั้งหมด คือการตื่นตัวเกี่ยวกับเรื่องโลกร้อนและสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกไปในอากาศ เกิดเป็นก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นมลพิษ

       

       ถึงแม้ว่ากิจกรรมหลายๆ อย่างของมนุษย์จะเป็นจุดเนิดของการก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก แต่ก็เป็นที่รู้กันว่า “ภาคพลังงาน” นั้นมีส่วนอย่างสำคัญในการก่อก๊าซชนิดนี้เป็นจำนวนมากถึง 2 ใน 3 ส่วน และการเผาไหม้ถ่านหินก็เป็นตัวการใหญ่ที่สุดในการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อันเป็นที่มาของก๊าซเรือนกระจก

       

       ด้วยเหตุนี้ “อัล กอร์” อดีตรองประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาผู้รณรงค์เรื่องโลกร้อน และเป็นผู้ทำสารคดีบันลือโลก เรื่อง An Uncovenient Truth ถึงกับกล่าวว่า เขาเข้าใจแล้วว่าทำไม คนหนุ่มสาวจำนวนมากถึงลุกขึ้นมาต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะเล็งเห็นอันตรายที่จะเกิดกับโลกทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

       

       จากเหมืองขึ้นสู่ท้องฟ้า จากการขุดเจาะไปจนถึงการเผาไหม้ ก่อให้เกิดมลพิษในทุกขั้นตอนการผลิต โรงไฟฟ้าถ่านหินปลดปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศ โดยมลพิษหลักนั้นได้แก่ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ ฝุ่น และปรอท ซึ่งไม่มีเทคโนโลยีใดที่จะใช้ดักจับปรอทที่ปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินได้

       

       นอกจากนี้ยังมีสารโลหะหนักต่างๆ เช่น อาร์เซนิก แบรีเลี่ยม แคดเมี่ยม โครเมี่ยม ตะกั่ว แมงกานีส นิกเกิล เรเดี่ยม เซลีเนี่ยมและโลหะชนิดอื่นๆ ซึ่งเป็นส่วนประกอบอยู่ในผงฝุ่นที่ออกมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน สารพิษที่เกิดจากโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นจะวนเวียนอยู่ในห่วงโซ่อาหารของสิ่งแวดล้อม เช่น เมื่อคนในชุมชนบริโภคปลาที่อยู่ในแหล่งน้ำปนเปื้อนสารพิษเข้าไป คนก็จะได้รับสารพิษนั้นเข้าสู่ร่างกาย 

 

 “ด้านมืด” ของถ่านหิน : มัจจุราชจากโลกพลังงาน

 

        ผลกระทบด้านสุขภาพ

       อันตรายถึงชีวิต

       

       ผลจากการศึกษาวิจัยของกลุ่มแพทย์ในสหรัฐอเมริกา องค์กรแพทย์เพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม (Physicians for Social Responsibility: PSR) ได้เผยว่ามลพิษจากการเผาผลาญถ่านหินนั้นคร่าชีวิตผู้คนจำนวนมาก ในอเมริกามีอัตราการเสียชีวิตจากมลพิษถ่านหินสูงถึงหลายหมื่นคนต่อปี และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากโรคทางระบบประสาท ทางเดินหายใจ หอบหืด โรคหัวใจ และอาจเป็นสาเหตุสำคัญของมะเร็ง ด้วยมลพิษจากถ่านหินสูงถึงสี่ในห้าของสาเหตุการเสียชีวิตทั่วสหรัฐอเมริกา

       

       ย้อนกลับไปในปี พ.ศ.2495 ที่หน้าหนาวในเมืองลอนดอนมีความหนาวเย็นกว่าปกติหลายเท่าตัว ผู้คนมีการใช้ถ่านหินมากเป็นพิเศษ และในเดือนธันวาคมปีนั้น ลอนดอนก็ถูกปกคลุมไปด้วยควันดำ ทำให้พลเมืองล้มตายทุกๆ 36 วินาที มีคนเสียชีวิต 12,000 คนภายใน 5 วัน และกว่า 1 แสนคนต้องเข้ารับการรักษาโรคระบบทางเดินหายใจ

       

       องค์การอนามัยโลกประเมินไว้ว่า ผู้คนกว่า 1 ล้านคน เสียชีวิตจากมลพิษถ่านหินที่ปนเปื้อนในอากาศและน้ำเป็นประจำทุกปี และอีกหลายหลานคนต้องเจ็บป่วยจาก โรคปอดบวมจากถ่านหิน โรคหลอดลมอักเสบ โรคหอบหืดและโรคหัวใจล้มเหลว

       

       นอกจากนั้นยังมีผลการวิจัยออกมาว่า หนึ่งในสาเหตุของการเกิดมะเร็งปอด คือ “ฝุ่นผงจากถ่านหิน” โดยการสูดหายใจเอาฝุ่งผงจากถ่านหินเข้าสู่ปอดนั้น ทำให้คนงานเหมืองถ่านหินเป็นโรคปอด หรือที่เรียกว่า “ปอดสีดำ” (black lung) ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่ฝุ่นผงถ่านหินนั้นฝังตัวอยู่ในปอด ทำให้หายใจได้ลำบาก การวิจัยระบุว่าโรคนี้เกิดขึ้นกับร้อยละ 2.8 ของคนงานเหมืองถ่านหิน และร้อยละ 0.2 ของคนงานถ่านหินมีรอยแผลเป็นในปอด ซึ่งเป็นอาการที่รุนแรงที่สุดของโรคนี้ โดยในแต่ละปีนั้นมีผู้เสียชีวิตเกือบ 400 คนจากอาการปอดสีดำนี้

       

       เมื่อราวๆ ปี 2554 วิกฤตการณ์มลภาวะทางอากาศในประเทศจีน ได้กลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งทั่วโลก โดย Isabel Hilton บรรณาธิการเว็บไซต์ China Dialogue ที่เผยแพร่ข้อมูลและข้อถกเถียงเรื่องสิ่งแวดล้อมในประเทศจีนกล่าวว่า ถ่านหินเป็นสาเหตุหลักของมลภาวะทางอากาศในประเทศจีน การเผาถ่านหินในจีน “ผลิตโลหะหนักซึ่งเป็นสารพิษ รวมถึงฝุ่นละอองในระดับที่น่าตกใจ”

       

       ประเทศจีนได้กลายเป็นผู้บริโภคถ่านหินอันดับหนึ่งในโลก คิดเป็นราวครึ่งหนึ่งของถ่านหินที่ใช้ในโลก ถ่านหินเป็นแหล่งพลังงานหลักของประเทศจีน ผลกระทบจากการพึ่งพิงถ่านหินนั้นเริ่มปรากฎให้เห็นอย่างชัดเจน และมีการพูดคุยในโลกกออนไลน์หลังจากที่มีเด็กหญิงอายุ 8 ปีเป็นมะเร็งปอด ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่ามีสาเหตุจากมลภาวะในอากาศ 

 

 “ด้านมืด” ของถ่านหิน : มัจจุราชจากโลกพลังงาน

 

        ขณะที่นักวิเคราะห์ได้ทำการทดสอบสารเคมีที่เกิดจากการเผาไหม้ถ่านหินในอากาศ และพบว่ามีประชากรหลายรายได้รับผลกระทบทางสุขภาพ โดยมีการประมาณการว่า การเผาถ่านหินในประเทศจีนส่งผลต่อชีวิตประชากรกว่า 260,000 คนในปี พ.ศ.2554 ในปีเดียวกันนี้เอง ที่มลภาวะจากถ่านหินทำให้เด็ก 320,000 คน และผู้ใหญ่ 61,000 คนต้องทนทุกข์จากโรคหืด ทารก 36,000 คน เกิดมาพร้อมน้ำหนักตัวที่ต่ำกว่าเกณฑ์ นำไปสู่การเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลรวม 340,000 ครั้ง และวันลาป่วย 141 ล้านวัน

       

       จากข้อมูลทั้งหมด คงเป็นประจักษ์พยานได้เป็นอย่างดีถึงผลที่เกิดขึ้นจาก “ถ่านหิน” หรือถ้าเห็นว่าไกลเกินไป ที่บ้านเราก็มีกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน แม่เมาะ จังหวัดลำปาง โดยมีบันทึกถึงเหตุการณ์มลพิษทางอากาศจากเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ เมื่อต้นฤดูหนาวปลายปี 2535 ว่าได้ก่อผลกระทบต่อคน พืช และสัตว์เลี้ยง โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง ได้เปิดเผยจำนวนผู้ป่วยจากมลพิษเฉียบพลันในครั้งนั้นว่ามีผู้ป่วยนอก 1,222 ราย และต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 35 ราย และมีผู้ที่มารับการรักษากับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่อีก 1,120 ราย

       

       สุดท้าย คงต้องย้อนกลับไปสู่คำถามเชิงคำตักเตือนจากกลุ่มกรีนพีซ ที่สะกิดชวนให้คิดพิจารณามาโดยตลอดว่า โลกของเรากำลังป่วยเพราะอุตสาหกรรมถ่านหินที่ปล่อยขยะพิษกว่า 100 ล้านตัน ประกอบไปด้วย ขี้เถ้า ตะกอนก๊าซ สารปรอท ยูเรเนียม ธอเรียม และสารหนู ลงสู่แม่น้ำและชั้นบรรยากาศ

       

       ลองจินตนาการดูว่า ขยะพิษเป็นพันๆ คันรถถูกโยนลงไปในระบบนิเวศของโลกทุก ๆ ปี 200 คันต่อนาทีในระยะเวลาทั้งปี โลกจะเป็นอย่างไร? 

 

 
กำลังแสดงหน้าที่ 1 จากทั้งหมด 0 หน้า [หน้าถัดไปคือหน้าที่ 2] 1
 

 
เงื่อนไขแสดงความคิดเห็น
1. ทุกท่านมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเสรี โดยไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่กล่าวพาดพิง และไม่สร้างความแตกแยก
2. ผู้ดูแลระบบขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใด ๆ ต่อเจ้าของความคิดเห็นนั้น
3. ความคิดเห็นเหล่านี้ ไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมาย และไม่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับคณะผู้จัดทำเว็บไซต์

ชื่อ :

อีเมล์ :

ความคิดเห็นของคุณ :
                                  

              * ใส่รหัสจากภาพที่เห็นลงในช่องด้านล่าง และใส่คำตอบจากคำถาม เพื่อยืนยันการส่งความเห็น
  และสำลีสีอะไร
    

          ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการแสดงความคิดเห็นโดยสาธารณชน ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าชื่อผู้เขียนที่้เห็นคือชื่อจริง และข้อความที่เห็นเป็นความจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ boyoty999@google.com  เพื่อให้ผู้ดูแลระบบทราบและทำการลบข้อความนั้นออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้