“น้ำมันพืช” หรือ “น้ำมันหมู”
นำเข้าเมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2559 โดย จุฬา ศรีบุตตะ
อ่าน [58828]  

สธ.แจงบริโภค “น้ำมันพืช” หรือ “น้ำมันหมู” ปลอดภัยกว่ากัน ! .....

 

 

สธ.แจงบริโภค “น้ำมันพืช” หรือ “น้ำมันหมู” ปลอดภัยกว่ากัน !
       

 
        นักวิชาการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แจงสงครามการตลาดของบริษัทผู้ผลิตน้ำมันเพื่อการบริโภค ระหว่างน้ำมันพืชกับน้ำมันหมู ข้อเท็จจริงน้ำมันประเภทไหนอันตรายต่อสุขภาพ ขึ้นอยู่กับรูปแบบการนำไปใช้ในการปรุงอาหารประเภทผัดหรือทอด ที่อุณภูมิ “จุดเกิดควัน” ต่างกัน หากยึดตามหลักโภชนาการบริโภคแบบพอดีและถูกประเภท จะปลอดภัย ชี้ยุคนี้มีปัจจัยด้านการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้องทำให้กระแสความนิยมของน้ำมันทั้ง 2 ประเภท วนกลับไปมา ดังนั้นผู้บริโภคจะต้องเป็นผู้ตัดสินและเลือกของดีที่มีความปลอดภัยเอง !
       
       น้ำมันเพื่อการบริโภคที่นำมาประกอบอาหารทั้งทอดหรือผัด ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพที่มีทั้ง “คุณ” และ “โทษ” ดังนั้นการเลือกใช้ประเภทน้ำมันเพื่อการบริโภคที่ถูกต้องนั้น ถือเป็นสิ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคร้าย
       
       เช่นเดียวกับกระแสการโต้แย้งกันของกลุ่มคนรักสุขภาพ ที่ปรากฏในโซเชียลมีเดีย รวมถึงเป็นข่าวตามหน้าสื่อ ซึ่งยังไม่สามารถหาข้อเท็จจริงและบทสรุปที่ลงตัวได้ ถึงการเลือกน้ำมันหมูหรือน้ำมันพืชบรรจุขวดผ่านกรรมวิธี
       
       ขณะที่ทางด้าน “กลุ่มที่สนับสนุนน้ำมันหมู” เห็นว่าน้ำมันพืชผ่านกรรมวิธี ทั้งกลั่น (Refined) ฟอกสี (Bleached) และแต่งกลิ่น (Deodozied) และเมื่อนำมาปรุงอาหารจะเกิดการแตกตัวเป็นสารอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
       
       นอกจากนั้นยังหาข้อดีของน้ำมันหมูมาเปรียบเทียบให้เห็นถึงสภาพฝาผนังของห้องครัวหลังการปรุงอาหาร ด้วยน้ำมันหมูแล้วทำความสะอาดครัวง่าย ส่วนน้ำมันพืชทำความสะอาดยากกว่า และมักมีคราบเหนียวๆติดอยู่ ดังนั้นหากคนที่บริโภคอาหารที่ปรุงด้วยน้ำมันพืชนั้น ก็จะส่งผลให้มีคราบเหนียวเกาะอยู่ในร่างกายของคนด้วยเช่นกัน
       
       ส่วนกลุ่มที่มีความเชื่อว่า “น้ำมันพืช” ดีต่อสุขภาพ เพราะจากคุณลักษณะ “ไขมันพืชเป็นไขมันไม่อิ่มตัว” มีคอเลสเตอรอลน้อยกว่าไขมันสัตว์ ดังนั้นการตั้งข้อสังเกตที่ว่า เมื่อน้ำมันพืชเข้าไปอยู่ในร่างกายที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส จะกลายเป็นกาวเหนียว เกาะติดลำไส้ ไม่สามารถล้างออกได้ และเป็นสาเหตุของโรคไขมันอุดตันนั้นเป็นเรื่องที่ไม่มีหลักฐานสามารถยืนยันได้

 
สธ.แจงบริโภค “น้ำมันพืช” หรือ “น้ำมันหมู” ปลอดภัยกว่ากัน !
       

 
        ในด้านความหมาะสมในการนำน้ำมันปรุงอาหารแต่ละประเภทนั้น นักโภชนาการชี้ว่า “กลุ่มน้ำมันพืช” พวกถั่วเหลือง รำข้าว เหมาะสำหรับใช้ครั้งเดียว ประกอบอาหารประเภท “ผัด” เพราะมีจุดเดือดต่ำกว่า ไม่เหมาะสำหรับการนำมาประกอบอาหารประเภท “ทอด” ที่อุณหภูมิสูง ส่วนน้ำมันที่มีจุดเดือดสูงกว่า เหมาะกับการนำมาใช้กับอาหารประเภททอด อุณหภูมิสูง คือ “น้ำมันปาล์ม” เช่นเดียวกับ “น้ำมันหมู” มีไขมันอิ่มตัวสูงกว่าน้ำมันพืช และมีจุดเดือดที่สูงกว่า จึงเหมาะกับการทอดอาหาร
       
       วงจร “น้ำมันหมู” มาสู่ยุค “น้ำมันพืช” กำลังหมุนทวนกลับไป
       
       นอกจากนั้น ยังกล่าวถึงที่มาของการใช้น้ำมันพืชว่า การใช้น้ำมันหมูหรือน้ำมันมะพร้าวนั้นมีมานานแล้วตั้งแต่อดีต แต่สิ่งที่สร้างจุดเปลี่ยนทำให้คนในยุคปัจจุบันนี้เปลี่ยนมาใช้น้ำมันพืช
       
       นั่นเพราะเมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมานั้น ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมน้ำมันพืชจากชาติตะวันตกเป็นผู้ทุ่มงบการตลาด โน้มน้าวสร้างพฤติกรรมใหม่ โดยหากเปลี่ยนมาใช้น้ำมันพืช น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันงา ก็จะปลอดภัยจากโรคร้ายต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดตีบตัน โรคไทรอยด์ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ รวมทั้งโรคมะเร็ง ซึ่งล้วนมีสาเหตุมาจากคอเลสเตอรอลสูงจากไขมันที่เกินความจำเป็นทั้งสิ้น

 
สธ.แจงบริโภค “น้ำมันพืช” หรือ “น้ำมันหมู” ปลอดภัยกว่ากัน !
"มันหมู" เพื่อสร้างตลาดการบริโภคน้ำมันหมูของค่ายอาหารยักษ์ใหญ่
       

 
        อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในวันนี้ วงจรกำลังทวนกลับจาก “น้ำมันพืช” มาสู่ยุค “น้ำมันหมู” อีกครั้ง บริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านอาหาร ซีพี เปิดตลาดเข้ามาแข่งขันในตลาดน้ำมันเพื่อการบริโภค โดยจากเดิมที่มีผู้เล่นในตลาดอยู่แล้ว คือ “มันหมูแบบแพ็กของบริษัทเบทาโกร” ทำตลาดอยู่ก่อน เมื่อปีที่ผ่านมา “มันหมูอนามัย ตราซีพี” ในอุณหภูมิแช่แข็ง -18°C ที่ชูจุดขายด้านความสะดวกสบายในการปรุง ด้วยรูปแบบอัดเส้น แบ่งใช้ ก็เข้ามาเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค
       
       ซึ่งหลังจากเปิดตัวก็มีการทำตลาดในรูปแบบการให้ความรู้ ที่น่าสนใจคือ มีนักโภชนาการมาให้ความรู้เกี่ยวกับ “น้ำมันหมู” นอกจากนั้นยังมีบทความ และบล็อกต่างๆ ที่เขียนเรื่องราวความรู้ด้านดีๆ ของน้ำมันหมู เกิดขึ้นอีกมากมาย
       
       ดูเหมือนว่า “ผู้ผลิตน้ำมันเพื่อประกอบอาหาร” เป็นผู้กุมชะตาชีวิตของผู้บริโภค ด้วยกลยุทธ์การตลาด โดยมีการหยิบเรื่องการมีสุขภาพที่ดี ให้ข้อมูลข้อเท็จจริงในแง่มุมต่างๆ เห็นได้จากในยุคก่อนที่ “ผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตน้ำมันประกอบอาหาร” เป็นผู้สร้างตลาด ใช้งบทุ่มโฆษณามากสร้างกระแสให้ น้ำมันหมู กลายเป็นตัวร้ายทำลายสุขภาพคน

 
สธ.แจงบริโภค “น้ำมันพืช” หรือ “น้ำมันหมู” ปลอดภัยกว่ากัน !
ข้อดีของน้ำมันหมู (โฆษณา)
       

 
        เมื่อมาถึงในยุคนี้พฤติกรรมของผู้บริโภคน่าจะเป็นผู้สร้างตลาดที่แท้จริง สามารถปลุกตลาดให้สินค้าที่ดีต่อสุขภาพขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
       
       โดยศึกษาจากข้อเท็จจริงระหว่างการบริโภค “น้ำมันพืช” กับ “น้ำมันหมู” ว่าประเภทไหนเป็นอันตรายกว่ากัน ซึ่งจากการศึกษาของนักวิชาการสุขภาพและผู้เชี่ยวชาญทางด้านโภชนาการหลายสำนัก กล่าวไว้ว่า ปัจจัยที่จะทำให้ผู้บริโภคอาหารเป็นหรือไม่เป็นโรคร้าย มีความจริงยิ่งกว่าคือ น้ำมันทุกชนิดทำร้ายสุขภาพได้ทั้งนั้น หากกินมากเกินไปหรือใช้น้ำมันปรุงอาหารไม่ถูกประเภท
       
       กระทรวงสาธารณสุขให้ข้อมูลทางวิชาการ
       
       นางนันทยา จงใจเทศ หัวหน้ากลุ่มวิจัยอาหารเพื่อโภชนาการ สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กล่าวว่า ในเชิงวิชาการ ไม่สามารถจะฟันธงสรุปได้ว่า น้ำมันเพื่อการบริโภค ระหว่าง “น้ำมันพืช” กับ “น้ำมันหมู” ประเภทไหนดี ไม่ดีกว่ากัน เพราะแต่ละประเภทมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน และในฐานะนักโภชนาการ จะขอให้ข้อมูลในด้านคุณสมบัติและการนำไปใช้ เพื่อให้ผู้บริโภคเป็นผู้ตัดสินเองว่าประเภทไหนเหมาะกับร่างกายของตน
       
       น้ำมันเพื่อการบริโภค ทั้งน้ำมันพืช หรือน้ำมันหมู คือ ไขมัน ซึ่งมีอยู่ในอาหารทุกประเภท เช่นมีในถั่วเมล็ดแห้ง ในเนื้อสัตว์ เป็นต้น และเมื่อพูดถึงไขมัน ก็ต้องเจาะลึกลงไปในรายละเอียดข้างใน ที่เรียกว่า “กรดไขมัน” ซึ่งจะเป็นตัวบ่งบอกถึงความแตกต่างของกรดไขมัน 3 ประเภทใหญ่ๆ

 
สธ.แจงบริโภค “น้ำมันพืช” หรือ “น้ำมันหมู” ปลอดภัยกว่ากัน !
เปรียบเทียบปริมาณกรดไขมันและคอเลสเตอรอลใน "น้ำมันสัตว์" และ "น้ำมันพืช"
       

 
        ประเภทแรก คือ กรดไขมันอิ่มตัว (SFA) มีผลกับร่างกาย คือถ้ารับประทานมากไป จะสามารถเปลี่ยนเป็นคอเลสเตอรอลได้ จึงมีการพูดว่าอย่าบริโภคน้ำมันหมู น้ำมันปาล์ม หรือน้ำมันมะพร้าวมากเพราะมีกรดไขมันอิ่มตัวสูงสุดถึงประมาณร้อยละ 80 ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพ ทำให้มีคอเลสเตอรอลสูง
       
       ประเภทที่สอง กรดไขมันไม่อิ่มตัวหนึ่งตำแหน่ง (MUFA)เช่น “น้ำมันรำข้าว” มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวหนึ่งตำแหน่งสูงนั้น ในบางกรณีมีผลทางบวกกับผู้ที่มีปัญหาคอเลสเตอรอลในเลือดสูง เพราะกรดไขมันจะมีบทบาทที่เรียกว่าช่วยลดตัวร้ายได้ ขณะที่น้ำมันถั่วเหลืองที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งก็มีส่วนช่วยในการลดคอเลสเตอรอลเช่นกัน แต่เป็นการลดทั้งหมด คือทั้งตัวไขมันดีและไม่ดี
       
       ประเภทที่สาม คือ กรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (PUFA) เช่น “ถั่วเหลือง” มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งมาก
       
       ขณะเดียวกัน น้ำมันพืชเองก็ต้องแบ่งว่าเป็นพืชชนิดใด เช่นพืชจากธรรมชาติอย่าง “มะพร้าว มีกรดไขมันอิ่มตัว” สูงสุดถึงประมาณร้อยละ 80 “ถั่วเหลืองมีกรดไขมันไม่อิ่มตัว” หลายตำแหน่งมาก หรือ “ปาล์ม” มีจุดเด่นตรงที่มีกรดไขมันอิ่มตัวค่อนข้างมาก
       
       ในส่วนของ “น้ำมันหมูก็จะมีทั้งกรดไขมันอิ่มตัว และไขมันไม่อิ่มตัว” หนึ่งตำแหน่งมาก โดยแต่ละประเภทของกรดไขมันก็มีผลดีต่อร่างกายต่างกันไป
       
       ดังนั้นจากความแตกต่างของน้ำมันเพื่อการบริโภคแต่ละประเภทนั้น ก็จะมีข้อดีที่แตกต่างกันไป และในด้านโภชนาการมีการพิจารณาสภาพแวดล้อมในหลายด้าน ตั้งแต่การนำไปใช้เพื่อปรุงอาหารประเภทอะไรทอดหรือผัด และผู้ที่บริโภคมีประวัติของโรคที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคไขมันหรือไม่ สำหรับคนทั่วไปที่ไม่มีปัญหาเรื่องไขมันในเลือดสูงก็สามารถใช้น้ำมันตามปกติได้ ไม่จำเป็นต้องจำกัดประเภทการใช้
       
       เลือกน้ำมันตามวิธีการใช้
       
       การเลือกใช้น้ำมันให้เหมาะสมนั้น กลุ่มน้ำมันพืชอย่าง น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง หรือน้ำมันหมูนั้น เหมาะกับการปรุงอาหารรูปแแบบที่ “ไม่ใช้ความร้อนมาก” เช่น น้ำสลัด หรืออาหารประเภท “ผัด” ที่ไม่ใช้ความร้อนมากนัก สามารถใช้ได้ทั้งหมด
       
       แต่สำหรับอาหารประเภทที่ต้องผัดเป็นเวลานาน หรืออาหารทอดที่ใช้น้ำมันในปริมาณมาก ควรใช้น้ำมันที่มีกรดไขมันอิ่มตัว เช่น น้ำมันปาล์ม และน้ำมันรำข้าว เพราะต้องคำนึงในเรื่องของ “จุดเกิดควัน” จึงต้องเลือกตามชนิดที่เหมาะสม
       
       ทั้งนี้จากกระแสที่แชร์ออกมาในโซเชียลมีเดียที่ว่า “น้ำมันหมู” เหมาะสมกับอาหารประเภท “ทอด” เพราะมีจุดเกิดควันสูง แต่อันที่จริงแล้วจากข้อมูลทางวิชาการชี้ให้เห็นว่าน้ำมันหมู “ไม่ได้มีจุดเกิดควันสูงมาก” เพราะน้ำมันที่จุดเกิดควันสูง คือ น้ำมันรำข้าว ที่สูงถึง 250 องศาเซลเซียส ขณะที่น้ำมันที่มีจุดเกิดควันต่ำจะไหม้ได้เร็ว ซึ่งจะก่อสารพิษต่อร่างกายได้ ดังนั้นการปรุงอาหารประเภทที่ใช้ไฟแรงเป็นระยะเวลานานจึงต้องคำนึงถึงจุดนี้ด้วย เช่น น้ำมันหมูไม่แนะนำให้ทอดในไฟแรงๆ ใช้ในการผัดจะเหมาะสมกว่า
       
       สร้างความสมดุล “ผัดผัก” โดยใช้น้ำมันหมู
       
       ความนิยมในการนำน้ำมันหมูมาใช้ทำอาหารที่มีมาได้ระยะหนึ่งแล้ว แต่ก็มีประเด็น คนบางกลุ่มที่มีความวิตกกังวลกันมากถึงปริมาณคอเลสเตอรอลในน้ำมันหมู
       
       ผลทดสอบจากห้องแล็บ สำนักโภชนการ กรมอนามัย แสดงให้เห็นว่าน้ำมันหมู 1 ช้อนโต๊ะมีปริมาณคอเลสเตอรอลไม่เกิน 20 มิลลิกรัม และเมื่อนำมาเปรียบเทียบไข่ไก่ 1 ฟอง มีปริมาณคอเลสเตอรอลประมาณ 200 มิลลิกรัม ซึ่งต่างกันอย่างชัดเจน จึงไม่ควรกังวลมากนัก ในกรณีที่ไม่ได้มีปัญหาสุขภาพรุนแรง คนทั่วไปสามารถรับประทานได้
       
       นอกจากนี้ ถ้าดูตามปริมาณของกรดไขมัน น้ำมันหมูก็ไม่ได้มีปริมาณของกรดไขมันอิ่มตัว ซึ่งเป็นไขมันที่ไม่ดีมากนัก แต่ก็มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวหนึ่งตำแหน่งผสมอยู่ด้วย ซึ่งมีมากเป็นอันดับ 3 จากอันดับแรกคือน้ำมันมะกอก และอันดับที่สองคือน้ำมันรำข้าว
       
       อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ควรบริโภคน้ำมันหมูในปริมาณที่มากเกินไปนัก เนื่องจากน้ำมันหมูกับเนื้อสัตว์ต่างๆ มีกรดไขมันที่เหมือนกัน เมื่อรับประทานเนื้อหมูก็ไม่ควรจะใช้น้ำมันหมูปรุง แต่ถ้าเป็นการปรุงอาหารประเภทผัดผักอย่างเดียวไม่มีเนื้อสัตว์ ก็สามารถใช้น้ำมันหมูได้ เพื่อให้เกิดความสมดุล

 
สธ.แจงบริโภค “น้ำมันพืช” หรือ “น้ำมันหมู” ปลอดภัยกว่ากัน !
นางนันทยา จงใจเทศ หัวหน้ากลุ่มวิจัยอาหารเพื่อโภชนาการ สำนักโภชนาการ กรมอนามัย
       

 
        “ในครัวของเราอาจต้องมีน้ำมันอยู่อย่างน้อยสองขวด ประเภทแรกจะเป็นน้ำมันปาล์ม เพื่อใช้ในการทอด หรือการปรุงที่ใช้ไฟแรงๆ ความร้อนสูง อีกประเภทเป็นน้ำมันหมู หรือน้ำมันรำข้าวเพื่อใช้ในการผัดหรือการปรุงอาหารที่ไม่ใช้ความร้อนมาก และอย่างน้อยการใช้น้ำมันสลับกันก็จะได้กรดไขมันที่น้ำมันบางประเภทไม่มี แต่บางประเภทมีมาก เพื่อให้เฉลี่ยกันไป จึงไม่แนะนำให้ใช้ประเภทใดเพียงอย่างเดียว ”
       
       โรคที่มาจากการบริโภคไขมันไม่ถูกประเภท
       
       นางนันทยา กล่าวอีกว่า ในข้อเท็จจริงนั้น น้ำมันก็คือไขมันกว่าร้อยละ 90 ดังนั้นการบริโภคน้ำมันมากก็เท่ากับนำไขมันเข้าไปในร่างกายเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรคได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพื้นฐานร่างกายของแต่ละคน
       
       สำหรับคนที่กินอาหารประเภทที่มีไขมันมาก หากมีพื้นฐานของโรคไขมันในเส้นเลือด หรือโรคเบาหวานก็จะเป็นความเสี่ยงและควรจำกัดปริมาณไขมัน ซึ่งไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าเป็นน้ำมันประเภทใด แต่ควรใช้ความระมัดระวังในการบริโภคน้ำมันประเภทที่มีกรด “ไขมันอิ่มตัวสูง” เพราะหากรับประทานมากก็จะไปสร้างเป็นคอเลสเตอรอล หรือกรณีคนที่มีรูปร่างอ้วน การบริโภคกรดไขมันประเภทนี้ก็จะมีแนวโน้มการเก็บสะสมเป็นไขมันเพิ่มเติมได้ง่ายกว่าคนที่มีรูปร่างผอม
       
       แต่กรณีคนทั่วไปก็สามารถบริโภคไขมันตามหลักโภชนาการที่ถูกต้อง โดยการบริโภคไขมันต่อวันต้องไม่เกิน 6 ช้อนชา หรือประมาณ 3 ช้อนโต๊ะเท่านั้น
       
       นางนันทยา ย้ำว่า ในฐานะนักโภชนาการอยากแนะนำประชาชนว่า ไม่ควรใช้น้ำมันเพียงประเภทเดียว แต่ควรมีการใช้ผสมผสาน เพื่อทดแทนให้ความสมดุลกับร่างกายในการรับประทาน เช่น หากบริโภคน้ำมันหมู ก็ควรลดปริมาณอาหารที่เป็นผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ เช่น เบคอน กุนเชียง เพื่อลดการได้รับกรดไขมันอิ่มตัวมากเกินไป ควรรับประทานผักผลไม้ให้ได้ 3-5 ส่วนต่อวัน หรือหลักการง่ายๆ ตามวิธีการดั้งเดิมที่ยังใช้ได้อยู่คือ รับประทานอาหารหลักให้ครบห้าหมู่ทุกวันนั่นเอง การรับประทานอาหารซ้ำๆ ก็ไม่ควรกระทำ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง
       
       “ข้อเท็จจริงชีวิตคนเมืองที่เร่งรีบแข่งขันกับเวลา และเวลาในการเข้าครัวปรุงอาหารเองก็น้อยกว่ารับประทานอาหารนอกบ้าน ซึ่งร้านค้านิยมใช้น้ำมันปาล์ม ดังนั้นหากจะเลือกประเภทของน้ำมันให้สมดุลก็ควรเลี่ยงไปใช้น้ำมันประเภทอื่นๆ เช่น น้ำมันรำข้าว หรือน้ำมันถั่วเหลือง”

 
สธ.แจงบริโภค “น้ำมันพืช” หรือ “น้ำมันหมู” ปลอดภัยกว่ากัน !
       

 
        การเลือกน้ำมันปรุงอาหาร
       

       อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากศูนย์วิทยาบริการ สำนักคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ไขมันทำให้อ้วน และเพิ่มคอเลสเตอรอลในเลือด ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อร่างกาย ซึ่งทุกคนสามารถเลี่ยงผลเสียของไขมันได้ด้วยการเลือกใช้น้ำมันอย่างฉลาด ควรเลือกน้ำมันพืชชนิดที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวโมเลกุลเดี่ยวในปริมาณสูง และมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวแบบหลายโมเลกุลปานกลาง และมีกรดไขมันอิ่มตัวต่ำ ซึ่ง “น้ำมันพืช” ก็จะเหม็นหืนน้อยกว่าน้ำมันจากสัตว์ เพราะในน้ำมันพืชมีวิตามินอี ที่เป็นตัวต้านการทำปฏิกิริยาระหว่างออกซิเจนและคาร์บอนของโมเลกุลในน้ำมันพืช
       
       ส่วนประเภทไขมันอิ่มตัว (Saturated fat) ตามความเห็นทางการแพทย์ ถือว่าเป็น “ไขมันชนิดที่ไม่พึงประสงค์ที่สุด” เพราะเป็นตัวการในการเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ที่เป็นต้นเหตุของโรคความดันโลหิตสูง หัวใจและสมองขาดเลือด เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ฯลฯ
       
       
       
       โภชนากรแนะนำว่าสำหรับผู้ใหญ่แล้วไม่ควรรับไขมันอิ่มตัวเกิน 10% ของปริมาณแคลอรีทั้งหมดต่อวัน ไขมันอิ่มตัวจะมีจุดหลอมเหลวสูงกว่าไขมันไม่อิ่มตัว ซึ่งไขมันชนิดนี้จะมีอยู่ในอาหารจำพวกที่เราเห็นเป็นชั้นสีขาวติดอยู่ในเนื้อสัตว์ หรือหนังสัตว์ปีก ไข่แดง น้ำมันหมู เนย นม ผลิตภัณฑ์จากนม รวมถึงน้ำมันที่ได้จากพืชบางชนิดก็เป็นแหล่งไขมันอิ่มตัวด้วย เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว
       
       ประเภทไขมันไม่อิ่มตัวแบบหลายโมเลกุล และไขมันไม่อิ่มตัวแบบโมเลกุลเดี่ยว (Polyunsaturated and Monounsaturated fats) ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่า หากกินไขมันสองชนิดนี้แทนไขมันอิ่มตัว และจำกัดในปริมาณที่พอเหมาะพอควร จะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดลงได้ ไขมันไม่อิ่มตัวแบบโมเลกุลเดี่ยวผ่านการทดลองแล้วว่ามีส่วนป้องกันการเกิดโรคหัวใจ โดยช่วยรักษาระดับของไลโปโปรตีน (HDL) ที่เป็นคอเลสเตอรอลที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเอาไว้
       
       อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไขมันไม่อิ่มตัวทั้งสองชนิดจะดีต่อสุขภาพของเรามากกว่าไขมันอิ่มตัว ปริมาณที่เหมาะสมคือไม่เกิน 10% ของปริมาณแคลอรีทั้งหมดที่ร่างกายได้รับในแต่ละวัน แต่หากได้รับเกินปริมาณที่กำหนดนี้ จะไม่ต่างอะไรกับการกินอาหารที่มีไขมันสูง คือเพิ่มความเสี่ยงที่จะมีน้ำหนักตัวเกิน เป็นโรคอ้วน ก่อให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ปัญหาหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงโรคมะเร็ง
       
       สำหรับการกินอย่างไรให้มีสุขภาพดีนั้น คือ ไม่ควรกินไขมันทั้งหมดเกิน 30% ของปริมาณแคลอรีที่ร่างกายได้รับในแต่ละวัน หมายถึงไขมันทุกชนิดรวมกัน คือ ไขมันอิ่มตัว ไขมันไม่อิ่มตัวแบบโมเลกุลเดี่ยวและไขมันไม่อิ่มตัวแบบหลายโมเลกุลชนิดควรกินไม่เกิน 10% นั่นเอง ซึ่งน้ำมันจากพืชที่มีไขมันไม่อิ่มตัวแบบหลายโมเลกุลในปริมาณสูง ได้แก่ น้ำมันข้าวโพด ถั่วเหลือง ดอกทานตะวัน และดอกคำฝอย ส่วนน้ำมันมะกอก ถั่วลิสง และคาโนลาจะเป็นแหล่งไขมันไม่อิ่มตัวแบบโมเลกุลเดี่ยวสูงสุด น้ำมันพืชทุกชนิดมีส่วนประกอบของไขมันอิ่มตัว ไขมันไม่อิ่มตัวแบบโมเลกุลเดี่ยว และไขมันไม่อิ่มตัวแบบหลายโมเลกุลในสัดส่วนที่แตกต่างกัน

 

 

 
กำลังแสดงหน้าที่ 1 จากทั้งหมด 0 หน้า [หน้าถัดไปคือหน้าที่ 2] 1
 

 
เงื่อนไขแสดงความคิดเห็น
1. ทุกท่านมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเสรี โดยไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่กล่าวพาดพิง และไม่สร้างความแตกแยก
2. ผู้ดูแลระบบขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใด ๆ ต่อเจ้าของความคิดเห็นนั้น
3. ความคิดเห็นเหล่านี้ ไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมาย และไม่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับคณะผู้จัดทำเว็บไซต์

ชื่อ :

อีเมล์ :

ความคิดเห็นของคุณ :
                                  

              * ใส่รหัสจากภาพที่เห็นลงในช่องด้านล่าง และใส่คำตอบจากคำถาม เพื่อยืนยันการส่งความเห็น
  และสำลีสีอะไร
    

          ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการแสดงความคิดเห็นโดยสาธารณชน ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าชื่อผู้เขียนที่้เห็นคือชื่อจริง และข้อความที่เห็นเป็นความจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ boyoty999@google.com  เพื่อให้ผู้ดูแลระบบทราบและทำการลบข้อความนั้นออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้