หลังเลือกตั้ง...???
นำเข้าเมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2559 โดย จุฬา ศรีบุตตะ
อ่าน [58519]  

ถ้าหลังเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นนายกรัฐมนตรีไปอีก 8 ปี ! .....

 

 

        ณ บ้านพระอาทิตย์
       โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

 
ถ้าหลังเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นนายกรัฐมนตรีไปอีก 8 ปี !

                ภายหลังจากการลงประชามติพร้อมคำถามพ่วง เห็นได้อย่างชัดเจนว่าวิวัฒนาการลงประชามติครั้งนี้ประชาชนจำนวนมากสนใจในเรื่องการฝักใฝ่เชื่อฝ่ายขั้วอำนาจใด โดยเฉพาะการประกาศการขยับตัวในโค้งสุดท้ายของ ทักษิณ ชินวัตร ทำให้ฝ่ายตรงข้ามทักษิณตัดสินใจง่ายขึ้นในการรวมตัวกันในการลงประชามติรับรัฐธรรมนูญพร้อมคำถามพ่วง
       
       และท้ายสุดของโค้งสุดท้ายคือการประกาศรับรัฐธรรมนูญของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่นอกจากจะทำให้ทหารเป็นเอกภาพแล้ว ฝ่ายที่เดิมไม่รับรัฐธรรมนูญเพราะอยากให้ทหารอยู่ในอำนาจต่อก็เปลี่ยนใจอย่างเป็นเอกภาพรับรัฐธรรมนูญพร้อมคำถามพ่วงมากขึ้น
       
       ยังไม่นับ มวลชนของ ส.ส. เสื้อแดงจำนวนไม่น้อยเลือกไปลงรับประชามติพร้อมคำถามพ่วง เพราะ "อยากมีการเลือกตั้ง" เพื่อสร้างดุลอำนาจใหม่ที่เสียเปรียบทหารน้อยกว่าปัจจุบัน และรวมถึงการไม่ระดมสรรพกำลังอย่างเต็มที่ของพรรคเพื่อไทยเพราะยังไม่ใช่ฤดูกาลเลือกตั้ง
       
       จากสถานการณ์"อำนาจทหาร"ปกครองประเทศที่เข้มแข็งแต่ถูกแรงบีบจากต่างชาติ กำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ "อำนาจผสม"ที่อาจอ่อนแอลงแต่มีความชอบธรรมมากขึ้นเพราะมาจากประชามติของประชาชนทั้งประเทศ ทำให้ต้องจับตาต่อไปว่า "สมการอำนาจผสม" ที่จะเกิดขึ้นต่อไปนั้นเป็นอย่างไร?
       
       โดยเฉพาะผลประชามติในคำถามพ่วง คือใน 5 ปีแรกนั้นจะต้องมีจำนวน "ครึ่งหนึ่งของ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) รวมกัน" จึงจะเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งเมื่อ ส.ส.มีอยู่ 500 คน ส.ว.มีอยู่ 250 คน รวมกันได้ 750 คน นายกรัฐมนตรีจะต้องได้เสียงครึ่งหนึ่งจาก 2 สภา จะต้องมีเสียงที่ยกมือให้อย่างน้อย 375 คนขึ้นไป
       
       และเนื่องจากรัฐบาลมีวาระคราวละ 4 ปี แต่การให้ ส.ว.ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีได้ถึง 5 ปี แปลว่า ส.ว.ที่สิทธิ์จะยังมีสิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรีเหลื่อมเวลาออกไปหลังรัฐบาลชุดแรกหมดวาระลงไปอีก 1 ปีได้ด้วย ดังนั้น"สมการอำนาจผสม" ที่จะเกิดขึ้นต่อไปโดยอาศัยเสียง ส.ว. นั้นจะทำให้ผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีในโคงสร้างนี้อย่างน้อย 2 สมัยหน้า หรือมีอายุวาระสูงสุดได้ถึง 8 ปี
       
       ภายใต้โครงสร้างดังกล่าว ปัจจุบันแบ่งออก 3 ขั้วอำนาจสำคัญที่จะเลือกนายกรัฐมนตรี
       
       1. พรรคทหาร ซึ่งมี ส.ว. 250 คน จากจำนวนสมาชิก ส.ส.และ ส.ว. 750 ที่นั่ง หรือประมาณ 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ส. และ ส.ว. เป็นก๊กที่ 1
       
       2. พรรคเพื่อไทย ซึ่งสมมุติคำนวณจากผลการเลือกตั้งในปี 2554 แล้วใช้การเลือกตั้งระบบใหม่ ก็อาจจะได้ ส.ส. 243 คน คิดเป็นประมาณเกือบ 1 ใน 3 เป็นก๊กที่ 2
       
       3. พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งสมมุติคำนวณจากผลการเลือกตั้งในปี 2554 แล้วใช้การเลือกตั้งระบบใหม่ ก็อาจจะได้ ส.ส. 175 คน เป็นก๊กที่ 3
       
       ส่วนพรรคขนาดกลางและขนาดย่อมรวมกันประมาณ 82 คน แม้จะเรียกได้ว่าเป็นก๊กที่ 4 แต่ก็จะเป็นเพียงเสริมเติมเต็มเข้าร่วมกับทุกขั้วอำนาจที่จับมือจัดตั้งรัฐบาลได้เท่านั้น ไม่ใช่ก๊กชี้ขาดเพราะรวมตัวกับก๊กใดก๊กหนึ่งก็ยังเสียงไม่พอครึ่งหนึ่งของ 2 สภาที่จะเลือกนายกรัฐมนตรีอยู่ดี
       
       ดังนั้นการจัดตั้งรัฐบาลจึงขึ้นอยู่กับ 3 ก๊กสำคัญ คือ ส.ว.(พรรคทหาร) ประชาธิปัตย์ และเพื่อไทย ว่าใครจะจับมือกับใครได้ก่อนในการกำหนดนายกรัฐมนตรีสมัยหน้า
       
       1. ถ้าพรรคทหารอาศัย ส.ว. 250 คน จับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ 175 คน ก็จะได้จำนวน 425 คน มากกว่าครึ่งหนึ่งคือ 375 ที่นั่ง ก็จะรวมกันเลือกนายกรัฐมนตรีได้ทันที ซึ่งเป็นไปได้มากที่สุดเพราะเป็น "หุ้นส่วนอำนาจเดิม"
       
       2. ถ้าแต่พรรคเพื่อไทย 243 คน จับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ 175 คน ก็จะได้จำนวน 418 คน จะมากกว่าครึ่งหนึ่งคือ 375 ที่นั่ง ก็จะเลือกนายกรัฐมนตรีได้เช่นกัน
       
       ซึ่งจะเห็นได้ว่าพรรคเพื่อไทยได้ประกาศแล้วว่าพร้อมร่วมมือกับทุกพรรคการเมืองรวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ในการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อหยุดอำนาจจากทหาร
       
       3. ถ้าพรรคทหารอาศัย ส.ว. 250 คน จับมือกับพรรคเพื่อไทย 243 คน ก็จะได้จำนวน 493 คน มากกว่าครึ่งหนึ่งคือ 375 ที่นั่ง ก็จะรวมกันเลือกนายกรัฐมนตรีได้เช่นกัน (แม้จะเกิดขึ้นได้ยากสุดตามภาพลักษณ์ที่เห็นเพราะฝ่ายหนึ่งรัฐประหารมาอีกฝ่ายถูกรัฐประหาร)
       
       จากตัวเลขข้างต้น จะเห็นได้ว่าไม่มีก๊กไหนสามารถสถานปนานายกรัฐมนตรีได้ด้วยก๊กของตัวเองเพียงลำพัง แต่จะต้องไปผสมรวมกับอีกก๊กหนึ่ง เป็น 2 ใน 3 ก๊กหลักเป็นอย่างน้อย จึงจะสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้
       
       ในบรรดาทางเลือกข้างต้นโอกาสที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ "หุ้นส่วนอำนาจเดิม" ที่ทหารจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาล เพราะไม่เสียความรู้สึกต่อฐานเสียงมวลชนเดิม เมื่อเทียบกับทางเลือกอื่น
       
       เหลือเพียงแต่ว่าจะตกลงกันได้หรือไม่ว่าให้พรรคทหารร่วมมือกับพรรคประชาธิปัตย์เลือกนายกรัฐมนตรีจะมาจากพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง หรือจะเลือกนายกรัฐมนตรีคนอื่นตามที่พรรคทหารต้องการ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าทหารจะยอมรับนายกรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์ได้ไหม? หรือพรรคประชาธิปัตย์จะยอมรับนายกรัฐมนตรีจาก ส.ว.พรรคทหารได้หรือไม่?
       
       ถ้าพรรคทหารอยากได้ "นายกรัฐมนตรีคนนอก"ตามที่พรรคทหารต้องการ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนปัจจุบันจะยอมรับได้หรือไม่ ที่พรรคประชาธิปัตย์จะไปสนับสนุนคนนอกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี?
       
       ในขณะที่ทหารเคยอุ้มพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลในอดีตนั้น เมื่อในขณะนี้มี ส.ว. ถึง 1 ใน 3 ของรัฐสภาเป็นของตัวเองแล้ว จะยอมรับการอยู่ภายใต้อำนาจนายกรัฐมนตรีซึ่งมาจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่?
       
       เพราะต้องไม่ลืมว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่น่าจะใช่พรรคชนะเลือกตั้งอันดับ 1 อยู่แล้ว ดังนั้นต่อให้สมมุติว่าพรรคประชาธิปัตย์จับมือกับพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคการเมืองที่มีโอกาสชนะเลือกตั้งอันดับ 1 ก็ไม่น่าจะยอมให้พรรคประชาธิปัตย์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้เช่นเดียวกัน ถึงเวลานั้นพรรคประชาธิปัตย์จะเลือกสนับสนุนนายกรัฐมนตรีตามความต้องการของทหาร หรือตามความต้องการของพรรคเพื่อไทย?
       
       ถ้าพรรคเพื่อไทยจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ได้ ก็คงอาศัยเหตุผลในการต่อต้านอำนาจจากทหารที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เพื่อเชิดชูประชาธิปไตยเต็มใบ แม้ทางเลือกนี้ทั้ง 2 พรรคจะเสียมวลชนของตัวเองไป แต่พรรคประชาธิปัตย์จะเสียหายมากกว่าเมื่อเทียบกับพรรคเพื่อไทย เพราะที่ผ่านมาผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์นั้นสนับสนุนทหารด้วยจำนวนมาก (ดูจากผลประชามติครั้งนี้ที่สวนทางกับพรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่ฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์เอง)
       
       และด้วยเหตุผลนี้ใช่หรือไม่ พรรคประชาธิปัตย์จึงยังไม่ตอบรับข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยที่จะร่วมมือกับทุกพรรคการเมืองรวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ในการจัดตั้งรัฐบาลในขณะนี้ เพราะกลัวว่าจะเสียฐานมวลชนของตัวเองก่อนการเลือกตั้ง ในขณะเดียวกันก็ไม่ปฏิเสธตอนนี้เช่นกันเพื่อรักษาอำนาจต่อรองกับทหารหลังเลือกตั้งแล้ว
       
       แต่ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ยอมเปลี่ยนแปลงตัวหัวหน้าพรรค ที่พรรคทหารยินดีที่จะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีได้ด้วยก็จะลงตัวที่สุดในฐานะ"หุ้นส่วนอำนาจเดิม" เพราะเท่ากับเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งและมาจากพรรคประชาธิปัตย์ และกองทัพรับได้อีกด้วย
       
       เพราะคำถามตามมาคือ หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆเกิดขึ้น พรรคประชาธิปัตย์ยังจะได้เสียงตามทฤษฎีถึง 175 เสียง อยู่จริงหรือ?
       
       คำตอบคือ การลงประชามตินั้นน่าจะเป็นคนละเรื่องกับการเลือกตั้งทั่วไป เพราะถ้ามีการเลือกตั้งทั่วไปคนที่กลัวหรือเกลียดพรรคเพื่อไทยก็จะหันไปเลือกพรรคประชาธิปัตย์เป็นยุทธศาสตร์อยู่ดี (แม้อาจไม่ชอบพรรคประชาธิปัตย์เท่าไหร่นักก็ตาม)
       
      

 

 
กำลังแสดงหน้าที่ 1 จากทั้งหมด 0 หน้า [หน้าถัดไปคือหน้าที่ 2] 1
 

 
เงื่อนไขแสดงความคิดเห็น
1. ทุกท่านมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเสรี โดยไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่กล่าวพาดพิง และไม่สร้างความแตกแยก
2. ผู้ดูแลระบบขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใด ๆ ต่อเจ้าของความคิดเห็นนั้น
3. ความคิดเห็นเหล่านี้ ไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมาย และไม่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับคณะผู้จัดทำเว็บไซต์

ชื่อ :

อีเมล์ :

ความคิดเห็นของคุณ :
                                  

              * ใส่รหัสจากภาพที่เห็นลงในช่องด้านล่าง และใส่คำตอบจากคำถาม เพื่อยืนยันการส่งความเห็น
  และสำลีสีอะไร
    

          ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการแสดงความคิดเห็นโดยสาธารณชน ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าชื่อผู้เขียนที่้เห็นคือชื่อจริง และข้อความที่เห็นเป็นความจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ boyoty999@google.com  เพื่อให้ผู้ดูแลระบบทราบและทำการลบข้อความนั้นออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้