บรรจุเป็นวาระอาเซียน
นำเข้าเมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2559 โดย จุฬา ศรีบุตตะ
อ่าน [58568]  

รายงานพิเศษ > บทวิเคราะห์/สกู๊ปพิเศษ : 2 ชั่วโมงที่ผ่านมา ยาบ้า50สต.-'รัฐ'ปรับแผนสู้'ยาเสพติด' ยาบ้า50สต.-'รัฐ'ปรับแผนสู้'ยาเสพติด' : ปิยะนุช ทำนุเกษตรไชย สำนักข่าวเนชั่น .....

ยาบ้า50, รัฐ, ปรับ, แผน, สู้, ยาเสพติด, ยาบ้า, รัฐมนตรียุติธรรม, กระท่อม, กัญชาชน, กัญชง, บิ๊กต๊อก

                        ภายใต้เสียงสนับสนุนและก่นด่าถึงแนวคิดในการปรับลดระดับ “ยาบ้า” จากวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 1 มาเป็นประเภท 2 ทำให้ “รัฐมนตรียุติธรรม” ต้องออกมาชี้แจงหลายครั้งว่า รัฐบาลไม่ได้ยอมยกธงขาว ศิโรราบให้แก่ปัญหายาเสพติด การปราบยังเดินหน้าต่อไป โดยเป้าหมายที่ต้องทำลายล้างเป็น 5 กลุ่ม 60 เครือข่ายใหญ่ในสามเหลี่ยมทองคำ ไม่ใช่การรบสะเปะสะปะ สำหรับผู้เสพต้องคัดกรองออกไปรักษา หรือทำให้ผู้เสพคือผู้ป่วยจริงๆ ไม่ใช่เป็นเพียงตัวหนังสือ

                        สมรภูมิรบ คือ แหล่งผลิตในสามเหลี่ยมทองคำ เพราะบทเรียนที่ผ่านมาพิสูจน์ชัดแล้วว่า การไล่ฆ่าไทยด้วยกัน จนตายเกลื่อนไป 2,500 ศพ ยิ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าทางการตลาดให้ยาบ้า มีกำไรมหาศาลเย้ายวนใจนักค้าหน้าใหม่เข้ามาเสี่ยงดวงหวังรวยแบบข้ามคืนกับการลักลอบขนยาบ้า ดังนั้น ข้าศึกที่ต้องกำจัดทิ้งในสงครามยาเสพติด คือตัวการใหญ่ที่แอบอิงอยู่กับกองกำลังชนกลุ่มน้อย ไม่ใช่แรงงานยาเสพติดอีกต่อไป ซึ่งแนวรบนี้ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา เจ้ากระทรวงตาชั่ง เดินหน้าผนึกความร่วมมือกับกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง จากผลปฏิบัติการปราบไปแล้ว 1 กลุ่ม 24 เครือข่าย 

                              นับจากนี้ 10 ปี ปัญหายาเสพติดจะถูกบรรจุเป็นวาระอาเซียน ดึงความสนใจจากกลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศผู้มั่งคั่ง ให้ร่วมสนับสนุนการปราบปรามยาเสพติด อย่าปล่อยให้เป็นภาระของ “เมียนมาร์” และลาว โดยลำพัง เพราะสามเหลี่ยมทองคำเป็นแหล่งผลิตยาเสพติดมากถึง 1 ใน 3 ของโลก โดย 90% เป็นการผลิต “เมทแอมเฟตามีน” ซึ่งสารเคมีตั้งต้นมีที่มาจากประเทศร่ำรวย หรือประเทศอุตสาหกรรม ดังนั้นต้องรณรงค์ทุกประเทศตระหนักถึงปัญหา ไม่ใช่เพียงการไล่จับยาเสพติดหลังการผลิต

 

 

ส่วน งานป้องกันและปราบปรามภายในประเทศ ที่เคยบริหารจากส่วนกลาง มีป.ป.ส.เป็นหน่วยสนับสนุนงบประมาณ ทำให้เข้าไม่ถึงสภาพปัญหาที่แท้จริงใน 81,905 ชุมชน ดังนั้นตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้ หรือเริ่มต้นปีงบประมาณ 2560 จังหวัดและอำเภอจะเป็นกลไกขับเคลื่อน ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ จะมีทั้งอำนาจและงบประมาณในมือ พื้นที่ไหนแก้ปัญหายาเสพติดไม่ได้ เจอมาตรา 44 ย้ายตกเก้าอี้

ในอนาคตสำหรับผู้เสพต้องเข้ารับการรักษาอาการป่วยติดยา ลักษณะอาจใกล้เคียงกับในอดีตที่ผู้ติดเฮโรอีนที่เคยเดินเข้าสุขศาลาเพื่อขอรับ “เมทาโดน” ทดแทน “เฮโรอีน” จึงเป็นไปได้ที่องค์การเภสัชกรรมอาจต้องผลิตแอมเฟตามีน ที่ต้นทุนเม็ดละไม่ถึงสลึง ให้แพทย์สั่งจ่ายเพื่อบำบัดอาการป่วย แต่จะเดินไปถึงจุดนั้นได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับมาตรการควบคุมและบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งแผนการสั่งผลิตแอมเฟตามีนถูกงัดออกมาเพื่อทำลายตลาดยาบ้า เพราะเมื่อใดที่แอมเฟตามีนถูกสั่งจ่ายสำหรับรักษาผู้ป่วยติดยา มีการควบคุมตัวยาและโดสการใช้ ในราคาเม็ดละ 25-50 สตางค์ เมื่อไม่มีส่วนต่างกำไรมหาศาลเป็นเครื่องล่อใจ วงการยาบ้าคงต้องพับฐานการผลิต เปลี่ยนอาชีพไปเอง 

                        ไม่เพียงการปรับลดสถานะ “ยาบ้า” เท่านั้น รัฐบาลนี้ยังเดินหน้าปลดกระท่อม พืชเสพติดที่เสพกันเป็นวิถีชาวบ้าน พ้นจากบัญชียาเสพติดด้วย โดย “ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ” ปลัดกระทรวงยุติธรรม มองว่า ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะดำเนินการคือภายใน 1 ปีนี้ เพราะประเด็นดังกล่าวกำลังถูกถกเถียงเป็นกว้างขวาง มีการหยิบยกข้อดีขึ้นมาสนับสนุนและนำผลกระทบในแง่ลบขึ้นมาคัดค้าน โดยทางการแพทย์พบว่าฤทธิ์ของการกระตุ้นประสาทของแอมเฟตามีนน้อยกว่าเครื่องดื่มชูกำลังชนิดขวด

                      ผู้มีปัญหาโรคเครียด แพทย์ก็สามารถจ่ายแอมเฟตามีนให้ใช้ได้เป็นครั้งคราว สถานะของแอมเฟตามีน หรือเมทแอมเฟตามีน ก็คือ ยา โดยมีสถานะเป็นยามายาวนานก่อนที่จะถูกเปลี่ยนเป็น “ยาบ้า” มา 19 ปี 

                       สิ่งที่ต้องทำ คือ ควบคุมปริมาณการใช้ การปรุงยา เพราะปัญหาเกิดจากการใช้ยาเกินขนาดและใช้ยาผิดประเภท การควบคุมต้องควบคุมแบบยา ผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาไม่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้เสพ แต่สามารถเข้าพบแพทย์ขอรับยารักษาอาการได้เหมือนคนเป็นไข้หรือท้องเสีย แต่ใครที่พยายามนำยาไปใช้เพื่อเสพติด เพิ่มขนาดหรือปรับส่วนผสมให้ออกฤทธิ์หลอนประสาท เสพให้มัน ยังผิดกฎหมาย ต้องเข้าคุกตามปกติ

                           เช่นเดียวกับ “กระท่อม” ที่มีการเสนอให้ปลดพ้นบัญชียาเสพติดตั้งแต่สมัยที่ ชัยเกษม นิติสิริ เป็นรัฐมนตรียุติธรรม มาถึงรัฐบาลนี้มีความชัดเจนว่า ไม่ปล่อยเสรี การเสพแบบวิถีชีวิตจะอนุญาตเฉพาะใบกระท่อมเท่านั้น แต่ยังจำเป็นต้องควบคุมสารสกัดจากใบกระท่อม ไม่ว่าจะเป็นการนำไปต้มหรือผสมเป็น 4 คูณ 100 โดยอาจจำกัดวงให้แคบว่า การเสพใบกระท่อมแบบวิถีชีวิตชาวบ้านไม่ผิดกฎหมาย ปลูกได้บ้านละ 1-2 ต้น ในพื้นที่ไร่นาที่ต้องใช้แรงงานหนัก ทำงานตากแดดตลอดทั้งวัน ปิดทางไม่ให้ใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย แอบปลูกกันในย่านมีนบุรีบ้านละ 2 ต้น รวมให้ได้ 100 หลังคาเรือน แล้วตระเวนเก็บรวบรวมใบกระท่อมเป็นกระสอบเพื่อนำไปแปรรูปแบบนี้ผิดกฎหมาย ติดคุกเช่นกัน

                           สำหรับข้อเรียกร้องของกลุ่ม “กัญชาชน” ให้ปลดกัญชาออกจากยาเสพติดเพื่อเสพได้ภายใต้การควบคุม พร้อมยกอ้างเหตุผลทางการแพทย์ว่ากัญชาถูกนำมาใช้เป็นยารักษามะเร็งนั้น ชาญเชาวน์ บอกปัดว่า ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม ขอทดลองนำร่องจาก “กัญชง” ก่อน ปัจจุบันมีการส่งเสริมให้ปลูกกัญชงเพื่อเป็นอุตสาหกรรมการเกษตร ภายใต้โครงการหลวงในพระราชดำริ เพื่อนำเส้นใยไปถักทอเป็นผลิตภัณฑ์นานาชนิด ใช้กฎหมายวัตถุออกฤทธิ์เป็นกลไกในการควบคุม จุดเน้นขอกัญชงคือ ส่งเสริมให้ปลูกเพื่อใช้ในอุตสาหกรรม แต่ไม่ให้นำไปเสพหากพิสูจน์ให้เห็นได้ว่ามีมาตรการควบคุมดี บังคับใช้กฎหมายได้จริง จะขยับไปถึงกัญชา

                              ในจุดนี้อยู่ในช่วงเริ่มต้น ไม่มีก้าวกระโดด แต่ต้องค่อยๆ ปรับไปทีละขั้นตอน เพราะเละเทะยาวนานมา 20 ปี การกลับไปสู่จุดเริ่มต้นอีกครั้งต้องเริ่มช้าๆ ค่อยๆ ทำความเข้าใจ ไม่ใช่เรื่องที่ทำกันได้ภายในข้ามคืน โดยก่อนที่จะปลดหรือปรับเปลี่ยนบัญชียาเสพติด หลักฐานทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ ต้องชัดเจนเพียงพอ ถึงการออกฤทธิ์ของพืชเสพติดในชนิดต่างๆ ว่ามีผลต่อสมองอย่างไร โดยต้องแยกให้ชัดลงไปในแต่ละสัดส่วน เช่น ดอก ใบ กิ่งก้าน ลำต้น และราก เพื่อให้มีเกณฑ์ในทางวิทยาศาสตร์ว่า ต้องควบคุมการใช้และปริมาณอย่างไร ไม่ใช่เพียงแค่พูดกันลอยๆ

                             ภารกิจหนักอึ้ง ทำให้ ศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาฯ ป.ป.ส.คนล่าสุด หน้าดำคร่ำเคร่งทำงานเร่งตอบสนองนโยบายตัวเป็นเกลียว โดยเฉพาะการสนับสนุนการป้องกันในกว่า 8 หมื่นชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการคัดกรองผู้เสพออกมาบำบัดรักษาให้หายขาด ตลอดจนการเฝ้าติดตามไม่ให้กลับไปเสพซ้ำ

                            คำสั่งย้าย ณรงค์ รัตนานุกูล พ้นเก้าอี้เลขาฯ ป.ป.ส. ทั้งที่เหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนก็จะครบเกษียณ เป็นตัวอย่างให้เห็นแล้วว่า “บิ๊กต๊อก” เอาจริง ผลงานผ่านเกณฑ์เท่านั้น จึงมีสิทธิ์ได้ไปต่อ

 ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับยาเสพติด 

                          ตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลทุ่มงบประมาณในด้านยาเสพติดทั้งการป้องกันปราบปรามและบำบัดรักษาถึง 1 หมื่นล้านบาท แต่ปัญหายาเสพติดกลับรุนแรงขึ้นทุกปี ขณะที่กรมราชทัณฑ์ต้องใช้งบประมาณอีก 12,141 ล้านบาท ในการดูแลผู้ต้องขังทั่วประเทศจำนวน 325,361 คน แบ่งเป็นนักโทษคดียาเสพติด 230,074 คน และนักโทษคดีอื่นๆ 95,287 คน 

               นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาของยูเอ็นโอดีซี พบว่า ในปี 2009-2014 มีรายงานการจับกุมยาเสพติดเพิ่มขึ้น 100% โดยสถิติผู้ใช้สารเสพติดประเภทเมทแอมเฟตามีนและแอมเฟตามีนสูงถึง 33.9 ล้านคนสหรัฐอเมริกา เป็นชาติแรกที่ชักชวนนานาประเทศดำเนินการประกาศสงครามกับยาเสพติด แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ และก็เป็นชาติแรกที่มีการถอนตัวออกจากนโยบายดังกล่าว 

                       ขณะที่โปรตุเกสเป็นประเทศที่เลือกใช้การสาธารณสุขเข้ามาบำบัดรักษาควบคู่ไปกับการปราบปราม ซึ่งได้ผลในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างน่าพอใจ

 

 
กำลังแสดงหน้าที่ 1 จากทั้งหมด 0 หน้า [หน้าถัดไปคือหน้าที่ 2] 1
 

 
เงื่อนไขแสดงความคิดเห็น
1. ทุกท่านมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเสรี โดยไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่กล่าวพาดพิง และไม่สร้างความแตกแยก
2. ผู้ดูแลระบบขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใด ๆ ต่อเจ้าของความคิดเห็นนั้น
3. ความคิดเห็นเหล่านี้ ไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมาย และไม่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับคณะผู้จัดทำเว็บไซต์

ชื่อ :

อีเมล์ :

ความคิดเห็นของคุณ :
                                  

              * ใส่รหัสจากภาพที่เห็นลงในช่องด้านล่าง และใส่คำตอบจากคำถาม เพื่อยืนยันการส่งความเห็น
  และสำลีสีอะไร
    

          ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการแสดงความคิดเห็นโดยสาธารณชน ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าชื่อผู้เขียนที่้เห็นคือชื่อจริง และข้อความที่เห็นเป็นความจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ boyoty999@google.com  เพื่อให้ผู้ดูแลระบบทราบและทำการลบข้อความนั้นออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้