วิญญาณไร้ร่าง จิตใจสูงส่ง
นำเข้าเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2559 โดย จุฬา ศรีบุตตะ
อ่าน [58545]  

ปรัชญานี้เพื่อการศึกษา สดุดี 'อาจารย์ใหญ่' วาระสุดท้าย .....


 


 

การเป็นครูถือว่าเป็นผู้เสียสละแล้ว แต่ถ้าผู้ใด...ยอมเสียสละร่างกาย เพื่อให้ได้เป็นครู ยิ่งนับว่าท่านผู้นั้นได้ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าการเสียสละครั้งใดๆ ในชีวิตของการเกิดมาเป็นมนุษย์

สัปดาห์นี้ พี่แคมปัส จะพาทุกคนไปรู้จักเบื้องลึก เบื้องหลังการเป็น "อาจารย์ใหญ่" หลังสิ้นลมหายใจของท่านผู้นั้น เมื่อท่านได้ทำตามเจตนารมณ์ขณะที่ยังมีชีวิตว่า หลังความตายมาพรากจาก ขออุทิศร่างไร้วิญญาณเพื่อการศึกษา เพื่อส่งมอบสิ่งสุดท้ายของท่านให้เป็นองค์ความรู้ กับนิสิตแพทย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ณ เบื้องหน้าพี่แคมปัส ศพอาจารย์ใหญ่จำนวน 54 ร่าง ถูกวางบนเตียงเหล็ก ในห้องเรียนอันแสนวังเวง ของชั้น 5 อาคารแพทยพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ พี่แคมปัสได้ขึ้นไปดูบรรยากาศ ก่อนที่จะมีพิธีขอขมาอาจารย์ใหญ่ของนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 2 เพราะวันนี้ถือเป็นวันที่สำคัญมาก คือ พิธีอาจาริยบูชา 2559 ที่มีพิธีทำบุญตักบาตร พิธีสงฆ์ สวดพระพุทธมนต์ ตั้งแต่ช่วงเช้า ซึ่งภายในงานนอกเหนือจากอาจารย์ นิสิต และอาจารย์ใหญ่แล้ว ยังมีบรรดาญาติของอาจารย์ใหญ่ทั้งหมดมาร่วมงานด้วย

 

พี่แคมปัสได้มีโอกาสพูดคุยกับญาติอาจารย์ใหญ่ท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นบุตรชายของอาจารย์ใหญ่ เปิดเผยกับเราได้อย่างน่าสนใจมาก และสำคัญกว่านั้น เรายังได้สัมภาษณ์ รศ.นพ.ธันวา ตันสถิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกผ่าตัด ซึ่งเป็นหัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มาเปิดเผยเรื่องราวที่หลายคนยังไม่รู้อีกมากมาย รับรองติดตามภาค 2 แล้วจะต้องอึ้ง กับเรื่องราวที่อาจารย์เล่าให้พี่แคมปัสฟัง

เริ่มต้นที่ภาคแรก ให้เป็นเรื่องราวของการบริจาคร่างเป็นอาจารย์ใหญ่ เราไปฟังจากคุณพัฒนพงศ์ ตัณฑ์สมบุญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สานงายธุรกิจข้ามประเทศ ธนาคารกสิกรไทย บุตรชายผู้สูญเสียคุณแม่วัย 84 ปีไปเมื่อ 2 ปีก่อน เปิดเผยความรู้สึกกับเราในวันที่มาร่วมทำพิธีสำคัญกับนิสิตแพทย์ปี 2 ว่า

"คุณแม่ผมท่านเสียไป 2 ปี ท่านแจ้งความประสงค์ไว้ตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่เสียชีวิต จะขอบริจาคร่างให้ทาง รพ.จุฬาฯ อันนี้เขาทำไว้ตั้งแต่ตอนเขามีชีวิตอยู่แล้วครับ เป็นความตั้งใจของเขา แล้วเขาก็มาลงความประสงค์เป็นลายลักษณ์อักษรเองด้วยเมื่อประมาณ 10 กว่าปีได้แล้วครับ"

 

ปณิธานอันยิ่งใหญ่

ต้องเล่าเรื่องนิดนึง ครอบครัวเราเนี่ย คุณพ่อคุณแม่สอนให้มีสัมมาชีพ และคุณพ่อสอนไว้เสมอว่า การมีสัมมาอาชีพที่ดีได้ ต้องมีการศึกษาดี แล้วก็มีลูก 5 คน เขาก็ปลูกฝังให้เรา 5 คนต้องมีการศึกษา แล้วลูก 5 คน ก็มุ่งมั่นการศึกษาและได้รับการศึกษาที่ดีตามสมควร ปัจจุบันทุกคนก็มีชีวิตที่ดีตามสมควร

ปรัชญาชีวิต

คุณพ่อกับคุณแม่มีความเห็นว่า การบริจาคร่างเป็นการศึกษา และเขามองว่านักศึกษาแพทย์ จะไม่สามารถเป็นนักศึกษาแพทย์ที่ดี ถ้าไม่ได้ศึกษากับเคสจริง คุณพ่อคุณแม่ก็รู้สึกว่า การบริจาคร่างกาย ก็อยู่ในแนวปรัชญาของคุณพ่อคุณแม่ ว่าการมีสัมมาชีพที่ดี หรือการเป็นคนเก่งคนดี ก็ต้องมีการศึกษา แล้วนักศึกษาแพทย์ถ้าเขาไม่มีเคสจริงให้ทำ ก็ไม่รู้ว่าถ้าเขาจบมาแล้ว คนจะเข้าใจหรือเปล่า อันนี้คือปรัชญาของเขาทั้งสอง

 

คุณพ่อบริจาคร่างที่มหิดล

คุณพ่อก็ทำครับ ทำที่มหิดล ท่านเสียไปประมาณ 15 ปีได้แล้วครับ พอก่อนที่ท่านจะเสีย ท่านก็แจ้งความจำนงไว้ว่าให้เป็นอาจารย์ใหญ่ที่มหิดล ส่วนคุณแม่เนี่ยก็มาแจ้งทำที่จุฬาฯ เพราะหลานสาวเป็นนักศึกษาแพทย์ที่จุฬา คือเขาก็ผูกพันกันและทำตามปรัชญาที่คุณพ่อมีไว้ให้ แล้วเขาก็มีความเชื่ออยู่ อันนี้ก็เป็นในแง่ปรัชญาของคุณแม่

ประโยชน์หลังความตาย

เรื่องนี้ก็เป็นแมสเสจสำหรับท่านที่คิดเรื่องนี้ คือการที่คุณพ่อคุณแม่ของใครก็ตาม สามารถตัดสินใจได้ว่าเมื่อไหร่ที่เราลาโลกไปแล้ว จะขออุทิศร่างกายเราให้กับโรงพยาบาล ถือว่าเป็นการแสดงเจตนา ในทางพุทธศาสนาเนี่ยถือว่าท่านไม่ยึดติด เพราะฉะนั้นผลดีของคนที่ตัดสินใจเรื่องนี้ว่า ได้ถึงการไตร่ตรองความไม่แน่นอนของชีวิต แล้วก็เมื่อไหร่ที่เราลาจากไปแล้ว เราจะอุทิศร่างของเราให้เป็นประโยชน์ของนักศึกษาแพทย์ต่อไปในอนาคต

 

จิตกุศลมหาศาล

สิ่งที่ได้ก็คือ เรารู้สึกว่านี่เป็นสิ่งที่เป็นสัจธรรมของชีวิต คือทุกคนต้องเดินไปถึงจุดนี้ของชีวิต ต้องจากไป เรียกว่าจากไปแล้วก็ไม่ได้ยึดติดกับร่างกาย นี่คือร่างกายที่เราได้มาอยู่กับเขาในช่วงนึงของชีวิต พอถึงเวลาแล้วที่เราได้ลาจากไป ร่างกายของเราก็ยังได้ใช้ประโยชน์กับนักศึกษาแพทย์ อันนี้ผมคิดว่าก็เป็นกุศลจิตที่เกิดขึ้นในใจของผู้ที่ตัดสินใจให้บริจาคร่างกาย

ว่าด้วยเรื่องของการ...ทำใจ

ความยากอยู่ตอนที่ท่านต้องจากไปจริงๆ คือญาติๆ หรือว่าลูกๆ จะเข้าใจปรัชญานี้ ว่านี่คือสิ่งที่ท่านคิด แต่จะมีญาติๆ บางคน ก็อาจจะทำใจยาก เพราะว่าตามพิธีการทางศาสนาของเรา เมื่อญาติผู้ใหญ่เสีย เราก็จะบำเพ็ญกุศล เราก็จะรู้ว่าอ๋อ ท่านนอนอยู่ตรงนี้ก็จะทำพิธีให้นะ แต่ในแง่ของการบริจาคไม่สามารถทำแบบนั้นได้ เพราะเขาต้องรักษาร่างไว้ ตรงนี้ทำให้ญาติบางฝ่ายทำใจยาก แล้วก็จะเกิดความขัดแย้งได้

 

ขั้นตอนเมื่อลาลับ

ในช่วงบั้นปลายของคุณแม่ ท่านเข้ารับการรักษาที่ รพ.จุฬาฯ อยู่แล้ว เมื่อท่านเสีย เราก็ไปแจ้งกับหน่วยงานทันที แล้วเขาก็ดำเนินการของเขา คือเขาก็มารับร่าง แล้วเอาไว้ที่นี่ ที่ตึกชั้นบน ผมก็มาส่งท่าน ก็คือท่านเสียแล้ววันนั้น เขาก็นำท่านเข้ากระบวนการ แต่ถ้าคนอื่นที่ไม่ได้เสียที่โรงพยาบาล ญาติก็คงต้องรีบแจ้ง เพราะไม่งั้นโรงพยาบาลเขาก็ไม่ทราบว่าท่านเสียไปแล้ว

แค่ผมร่วง...ก็รู้สึกไม่ดี

ในเชิงปรัชญาผมว่า ปกติถ้าเราเสียอวัยวะในร่างกาย ก็รู้สึกไม่ดีแล้ว บางคนผมร่วง บางคนเสียมือ เสียเท้า ก็ใจไม่ดีแล้ว นี่คือความยึดติด ว่านี่คือร่างกายของเรา การที่เขาตัดสินใจว่าพอเขาจากไป และร่างกายนี้ก็ควรจะเป็นประโยชน์รุ่นหลังๆ ผมว่าปรัญชานี้ไม่ได้เกิดง่ายๆ มันต้องเกิด ต้องผ่านกระบวนการคิดไตร่ตรองและความภูมิใจ ในตอนท้ายๆ เป็นปกติที่เกิดแก่เจ็บตาย ก็ต้องมีกระบวนการ แต่ในตอนท้ายๆ เขาก็ไม่ได้มีความกังวล เพราะเขารู้ว่าพอถึงจุดนึงแล้วเขาไป ก็ต้องมีการดำเนินการตามความประสงค์ ใจเขาไม่ห่วงจนเกินไปนัก ก็ตอนที่ไป อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ลูกๆ อยู่พร้อมกันหมด เป็นเวลาที่ไม่นึกว่าท่านจะไป แต่ตอนท่านไป ก็ไปสบาย

 

จิตใจ...ที่ตั้งใจจริง

ผมว่าเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ตัวผู้แจ้งความจำนงเอง ต้องผ่านกระบวนการคิด ไม่ใช่อยู่ง่ายๆ แล้วเดินมาเซ็น ต้องผ่านกระบวนการคิดว่านี่คือปรัชญาของเรา อันที่สองคือ แจ้งญาติๆ ลูกหลานว่าเขาได้ทำแบบนี้ และญาติๆ ลูกหลานก็ต้องเข้าใจ ไม่ใช่ว่าพอเสร็จแล้ว ลูกหลานทำใจไม่ได้ แล้วไปดำเนินการที่ขัด คือที่นี่เขาก็ไม่ว่าอะไร ถ้ามีการขัดแย้งอะไรกัน เขาก็ไม่ได้บังคับ ให้ถือเป็นความสมัครใจ ทางจุฬาฯ เขาไม่ได้บังคับว่า ยึดติดกับการเซ็นกระดาษ ทุกคนต้องทำด้วยจิตใจที่ตั้งใจจริง

เมื่อลูกไม่เข้าใจ...

ผมคิดว่าก็อาจจะมีญาติทำใจไม่ได้ ขัดแย้งกัน แล้วตกลงกันไม่ได้ บางคนคุณพ่อคุณแม่แจ้งความประสงค์ไว้ แต่ลูกทำใจไม่ได้ ก็ไม่แจ้งโรงพยาบาล คือถ้าไม่แจ้งโรงพยาบาลก็ไปรับไม่ได้ เพราะเขาก็ไม่รู้ เผอิญว่าเราเข้าใจปรัชญา แต่ตอนแรกๆ มันก็ไม่ง่าย เราก็รู้สึกว่าใครเอาแม่ไปแล้ว เรารู้สึกว่า ความผูกพันด้วยความที่เราเป็นลูก ก็อยากทำให้ครบกระบวนการพิธีทางศาสนา เราก็รู้สึกว่ามีคนเอาแม่ไป แต่ถ้าเราคิดว่ามันเป็นความประสงค์ของแม่ และไม่ได้มีใครบังคับ เขาตั้งใจของเขาเอง และเขามีความสุขที่ได้ทำเรื่องนี้ ผมว่าอันนี้ต้อง respect พอมาถึงพิธีเนี่ย น้องๆ นิสิตแพทย์ก็น่ารัก น้องๆ ให้การดูแลญาติ และกระทำด้วยความเคารพ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี

 

...สูงสุดของมนุษย์คนนึง

ตั้งแต่ตอนคุณแม่เสีย คือเราลูกๆ จิตใจก็เบา เพราะเราไม่ได้กังวลว่า คุณแม่จะอยู่ที่ไหนจะเป็นยังไง คือเราแน่ใจว่า เจตนาดีของเขา ที่เขาตั้งเจตจำนงว่าจะทำ คิดว่าเป็นเรื่องสูงสุดที่มนุษย์จะคิดได้ว่า พอเราไปแล้วจะไม่ยึดติดกับร่างกาย ให้นิสิตแพทย์ได้ใช้เป็นวิชาความรู้ ผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มาจากจิตใจ ผมก็นับถือจิตใจของคุณพ่อคุณแม่นะ ผมว่ามันเป็นเรื่องของปรัชญาความคิด คือ เราก็ไม่ได้รวยมาก เราก็ประกอบสัมมาอาชีพ แล้วทุกคนก็มีชีวิตที่ดี อันนี้ผมว่าเป็นกุศลที่ได้บ่มเพาะเรา ว่าเราก็มีแต่พอควร เราไม่ได้ต้องมีเยอะ แล้วเราต้องไปโกงเขา ทุกคนสามารถมีชีวิตที่ดีได้ด้วยการศึกษา อันนี้เป็นเรื่องที่เขาบอกมาตั้งแต่ตอนนั้น แล้วเราก็มุ่งมั่นเรียนหนังสือกันมาครับ

สิ่งที่หวังปรากฏจนวาระสุดท้าย

ท่านก็ได้ย้ำปรัชญาที่ว่า การศึกษาเป็นสิ่งที่ดี และเขาก็ย้ำเรื่องการศึกษามาโดยตลอด และเขาก็คิดแบบนี้จริงๆ แล้วในรุ่นหลาน ก็กลายเป็นเรื่องสะท้อนว่า ปรัชญาการศึกษามาถึงรุ่นลูก แต่ผลที่เห็นชัดเจนตกมาที่รุ่นหลาน เพราะทุกคนรักเรียนหมด เวลาเราสอน เขาอาจจะไม่ฟังเรา เขาเลือกดูเอาเอง เพราะฉะนั้นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ได้ทำก็คือ ปรัชญาของการศึกษา ที่ได้อุทิศร่างกายให้นักศึกษาแพทย์

 

พิธีกรรมทางศาสนา

เราก็จัดพิธีทางศาสนากันตามปกติ แค่ว่าไม่ได้มีร่างท่าน คือเราต้องแยกกันระหว่างความตั้งใจของเขา และความสบายใจของท่าน สาระก็คือ คุณแม่อยากให้ทำแบบนี้ แต่เรื่องของพิธีการต่างๆ ที่ทุกคนจะรู้สึกว่าได้มากล่าวคำลา ญาติพี่น้องได้มาขออโหสิกรรม ได้มาอะไรก็แล้วแต่ แต่ถ้าไม่ทำก็ไม่ครบ ซึ่งขาดตรงพิธีฌาปนกิจศพ เพราะร่างคุณแม่เขาก็เอามาไว้ที่นี่แล้ว ซึ่งหลังจากนี้ต้องคิดว่าจะทำอย่างไร งานฌาปนกิจศพเลือกได้ 2 อย่าง ถ้าให้ที่นี่จัดให้ ก็จะมีพิธีพระราชทานเพลิงศพ ถ้าเราจะขอไปจัดการเองหรือไม่นั้น ยังคงต้องคุยกัน ว่าพี่น้องจะว่าอย่างไร

ด้านประธานนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 2 "ณัฐภัทร อนุดวง" ผู้ที่จะเริ่มเรียนรู้และลงมีดกรีดร่างอาจารย์ใหญ่เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับร่างกายมนุษย์ ในช่วงบ่ายวันนั้นหลังจากที่พิธีการเสร็จสิ้น พูดคุยกับเราถึงความรู้สึกที่มีว่า

"พิธีวันนี้เป็นการขอขมาอาจารย์ใหญ่ ก่อนที่จะเริ่มเรียนในช่วงบ่าย โดยบรรดานิสิตจะมีส่วนร่วมตั้งแต่เตรียมงาน คือการไปติดต่อญาติ เพื่อเชิญชวนให้มาร่วมพิธีดังกล่าว ตั้งแต่ตักบาตร สวดพระอภิธรรมต่างๆ ก่อนที่นิสิตทุกคนก็จะไปไหว้อาจารย์ใหญ่ หลังจากนั้นก็ลงมาพูดคุยกับญาติอาจารย์ใหญ่ เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจและขออนุญาตอีกครั้ง ที่เราจะเริ่มเรียนรู้วิชาที่เกี่ยวข้องกับการเรียนแพทย์โดยตรง"

 

ความตื่นเต้น

ผมรู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะเราเตรียมตัวจัดงานกันมา และก็ตื่นเต้นกับสิ่งเราจะได้เรียน คือเราเรียนแต่ในตำรามาแล้ว วันนี้เราก็จะได้ผ่าของจริงแล้ว การเรียนแพทย์เนื้อหาจะยากขึ้นเรื่อยๆ เราทุกคนก็พยายามที่จะขวนขวายหาความรู้ โดยเฉพาะจากร่างอาจารย์ใหญ่ ที่มีประโยชน์มากๆ 

Anatomy สิ่งที่ปี 2 ต้องเรียน!

เราต้องเรียนรู้เกี่ยวกับความปกติของร่างกาย เราจะเรียน 6 ปี แบ่งเป็นชั้นพรีคลินิก 3 ปี ชั้นคลินิก 3 ปี ซึ่งชั้นพรีคลินิกปีแรก หรือปีที่ 1 ที่เรียนจบไปนั้น เป็นการเรียน basic science จะเรียนคล้ายๆ กับคณะวิทยา พอขึ้นมาปีที่ 2 จะเรียนเรื่องความปกติของร่างกาย ประกอบไปด้วยเรื่องของ Anatomy ร่างของอาจารย์ใหญ่ เรามีการดูว่ามีอวัยวะอะไรบ้าง ดูสรีระวิทยาว่าที่เรามี มันทำงานยังไง พอปีที่ 3 เราจะเริ่มเรียนความผิดปกติแล้ว เรารู้แล้วว่าร่างกายปกติเป็นยังไง แล้วผิดปกติเป็นยังไง แล้วเราจะรักษาแก้ไขมันยังไง แล้วพอขึ้นมาชั้นพรีคลินิก คือปี 4, 5, 6 เราก็เริ่มไปเจอคนจริง ได้คุยกับคน แล้วก็เริ่มที่จะตรวจจริงๆ ลงมือตรวจรักษาจริงๆ โดยมีแพทย์รุ่นพี่ในทีมให้คำแนะนำ

 

อธิษฐาน…อะไรควรเห็น ก็ขอให้ได้เห็น

นิสิตทุกคนมีความตั้งใจจะทำให้ดีที่สุด อย่างตอนผมอธิษฐาน ผมก็ขอให้ผมมีสติ มีสมาธิในการเรียน เพื่อที่จะทำให้ร่างอาจารย์ใหญ่ที่ผมศึกษา มีคุณค่ามากที่สุด อธิษฐานให้ท่านให้ความรู้แก่ผมมากที่สุด อะไรควรเห็นก็ขอให้ได้เห็น อะไรที่ควรจะได้เจอ ก็ขอให้ได้เจอในร่างอาจารย์ใหญ่ เพราะมันจะนำซึ่งความรู้ ทุกคนจะได้เป็นหมอที่ดีรักษาคนไข้ และก็ขอให้ร่างอาจารย์ใหญ่ที่อุทิศมาได้ศึกษาอย่างคุ้มค่ามากที่สุด ไม่มีอะไรเสียหาย โดยที่ไม่ได้เรียนรู้เสียก่อน แล้วก็คิดว่าวิชาที่จะเรียนต่อไปในวันข้างหน้า จะเป็นวิชาแพทย์อย่างแท้จริง แล้วคือมันจะเริ่มเป็นพื้นฐานไปเรื่อยๆ ต่อยอดไปเรื่อยๆ เราก็จะได้เรียนให้พื้นฐานมันแข็งแรง แล้วก็จะเป็นพื้นฐานที่ดีของการเป็นแพทย์ในอนาคต ก็ขอยอมรับว่า การเป็นคนดีและการมีความรู้ที่ดีต้องไปด้วยกัน

กังวลหรือกลัว

ผมเป็นห่วงเรื่องพิธีการมากกว่าครับ ว่าพิธีจะราบรื่นไหม ส่วนความกังวลนั้น ผมกังวลว่าเราไม่เคยผ่าอาจารย์ใหญ่มาก่อน ก็ไม่มั่นใจว่าจะะทำได้ดีมั้ย ห่วงว่าจะเรียนรู้ได้ไม่เต็มที่ครับ

 

 1 กลุ่มต่อ 1 ร่างอาจารย์ใหญ่

ใน 1 โต๊ะจะมี 6 คน ทั้ง 6 คนก็จะแบ่งหน้าที่กันในแต่ละครั้งที่เราผ่า ส่วนการผ่าทุกคนจะได้จับมีดผ่า แต่อาจเป็นครั้งถัดไป คือ 3 คนที่ได้จับมีดผ่าใน 1 ครั้ง และจะมี 2 คนที่คอยอ่าน Direction ว่าต้องผ่าตรงนี้ต่อนะ และอีก 1 คนก็ต้องคอยเปิดดูว่า ที่เราผ่าเจอคืออะไร อันนี้คือการเรียนเป็นกลุ่ม และคือการแบ่งงานกัน และก็จะมีการสับเปลี่ยนหน้าที่กัน สำหรับเพื่อนที่ยังไม่ชิน กลัวในครั้งแรกๆ อาจจะไม่กล้าลงมือทำเอง ครั้งแรกครั้งที่สองก็อาจจะให้เพื่อนผ่าไปก่อน แล้วหลังจากนั้นก็ลงมือผ่าเอง แล้วให้เพื่อนที่ผ่าแล้วช่วยแนะนำ ซึ่งนอกจากการเรียนให้ได้ความรู้แล้วการทำงานเป็นทีม ก็เป็นสิ่งที่อาจารย์เน้นมากๆ รุ่นพี่ก็เน้นมา

ตารางเรียน

ผ่าตามตารางเรียนครับ เราก็จะเรียนกับอาจารย์ใหญ่ไปเกือบทั้งเทอม ใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน เฉลี่ยๆ ก็อาทิตย์ละ 3-4 ครั้ง ครั้งนึงก็เรียนครึ่งวันเลยครับ ก่อนจะมีการสอบรูปแบบต่างๆ อาทิการชี้ร่างอาจารย์ใหญ่แล้วบอกว่านี่อะไร ก็ให้เขียนตอบ ที่เขาเรียกว่าแล็บกรีก ที่เขาจับเวลาแล้วตอบกับอีกรูปแบบนึง ก็คือการสอบแบบระดับประเทศทั่วไป คือข้อสอบช้อยส์มีทั้ง 2 แบบ

 

กลัวทำข้อสอบไม่ได้

คือไม่ได้กลัวในลักษณะว่าไม่กล้าเรียนหรืออะไร อาจจะหวั่นใจว่า สามารถทำข้อสอบได้ไหม แต่ที่นี่จะเป็นวัฒนธรรมรุ่นพี่ช่วยรุ่นน้อง อย่างข้อสอบแล็บกรีดที่ผมเล่าให้ฟัง ที่จะเป็นลักษณะที่ว่าเดินไปแล้วชี้ว่านี่คืออะไร หลายๆ คนจะเจอข้อสอบแบบนั้นครั้งแรก รุ่นพี่ก็จะลงมาจำลองการสอบแบบนั้นก่อนให้ครั้งนึง โดยที่จะให้ลองดูก่อน แต่ที่กลัวและกังวลคือเรื่องตอนสอบมากกว่า ส่วนการเรียนก็ช่วยๆ กันไป

เคารพอาจารย์ใหญ่

ส่วนใหญ่จะอยู่ในพิธี เพราะอย่างตอนเรียน มันเป็นสิ่งที่ควรทำอยู่แล้ว ว่าเราไม่ควรจะเล่นกัน เช่นปาโน่นปานี่ แต่ถ้าถามว่าอะไรที่เราทำกันทุกปี ก็พิธีกรรมแบบนี้ครับ ที่เราต้องจัดให้อาจารย์ใหญ่ก่อนเรียนและหลังเรียนเสร็จ ต้องเคารพท่าน รวมถึงญาติของอาจารย์ใหญ่ด้วยครับ

 

วันแรกอาจเป็นลม

ก็ไม่แน่ครับ เคยได้ยินมีรุ่นพี่เป็นลมเหมือนกัน แต่กลิ่นที่นี่ไม่แรงนะครับ ตอนเตรียมงานผมก็ขึ้นไปตอนเขายังไม่ห่อ ก็กลิ่นเต็มๆ แต่ก็ไม่แรง น้ำยาที่ใช้กับอาจารย์ใหญ่ ทำให้กลิ่นไม่แรงเท่าไร

ฝากถึงอาจารย์ใหญ่

ผมในฐานะนิสิตแพทย์ที่กำลังจะได้เรียน ก็คืออาจจะไม่ได้มีมุมมองอะไรที่มากขนาดนั้น แต่ถ้าจะอยากฝากถึงน้องๆ หรือเพื่อนๆ ในอนาคตที่จะมาเรียนในวิชาชีพนี้ ก็อยากจะบอกว่าการเรียนวิชาชีพแพทย์นี้ ผมว่าการเรียนกับอาจารย์ใหญ่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก และอย่างที่อาจารย์บอกครับคือเราจะได้เห็นจริงๆ ได้ลงมือทำจริงๆ เพราะฉะนั้นโอกาสที่มันมีอยู่ไม่มาก เราได้มีโอกาสมาแล้วสักครั้งนึง เราต้องทำให้เต็มที่ที่สุด เรียนให้คุ้มที่สุดแม้มันจะเหนื่อย ต้องไม่ท้อครับ ไม่ว่าอาชีพไหนไม่ใช่แค่แพทย์ มันจะมีความยาก ความเหนื่อยของมันเอง มีความหนักใจของมันเองอยู่แล้ว ถ้าใครที่เลือกเดินทางนี้ก็อย่าท้อครับ

 

ขอบคุณจากใจ

สิ่งที่แรกที่ผมจะพูดก็คือ ขอบคุณ ถ้าเกิดว่าไม่มีทุกๆ ท่านที่มาบริจาคร่างกายจนสุดท้ายมาเป็นอาจารย์ใหญ่ การเรียนวิชาชีพแพทย์ในประเทศไทย ในอนาคตก็คงไม่ดีเท่านี้ มันจะต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ การที่เรามีร่างอาจารย์ใหญ่ในการศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เป็นการสร้างรากฐานให้ระบบวงการแพทย์ไทย คำเดียวที่นึกออกเลย คือ ขอบคุณจริงๆ จากใจครับ

คิดอย่างไรกับการเป็นอาจารย์ใหญ่

ในมุมมองของผมนะ ก็คือเหมือนร่างกายเป็นของนอกกาย ผมว่าตายไป เราก็เอาไปไม่ได้ ตายไปแล้วก็ให้เขาเถอะ มีประโยชน์ สร้างประโยชน์ต่อคนอื่นได้ ดีกว่าทำให้มันหายไป โดยสิ่งที่เราเหลือไว้ ไม่ได้สร้างประโยชน์ให้ใคร เหมือนถ้าเราตายไปแล้วสิ่งที่เหลือสร้างประโยชน์ให้คนอื่นได้ ก็เป็นสิ่งที่ดี ส่วนแนวคิดจะบริจาคร่างกายนั้น ส่วนตัวก็มีนะครับ แต่คงต้องพูดคุยกับคนรอบข้างก่อนครับ

 

พี่แคมปัส นำเสนอเรื่องราวดังกล่าวในมุมมองคนผู้ให้และผู้รับ ผ่านร่างไร้วิญญาณ ผู้ที่มีจิตใจสูงสุด แม้ลมหายใจจะจางหายไปจากโลกนี้แล้ว แต่คุณงามความดีของอาจารย์ใหญ่ทั้ง 54 ร่าง ยังคงทำประโยชน์สูงสุดให้บรรดานิสิตแพทย์ได้เรียนรู้และไปประกอบอาชีพ เพื่อรักษามนุษย์คนอื่นๆ ต่อไป หากวันนี้ไม่มีอาจารย์ใหญ่ให้นิสิตแพทย์ได้เรียนรู้เหมือนประเทศอื่นๆ ที่เค้าต้องใช้เงินซื้อร่างเพื่อมาทำการศึกษา (รอติดตามภาค 2)

จะเห็นได้ว่า มันไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะเห็นคนไทยใจบุญและมีแนวคิดแบบนี้เพิ่มขึ้นทุกๆ ปี พี่แคมปัส ขอสดุดีอาจารย์ใหญ่ทุกท่าน ด้วยความเคารพสูงสุดที่ปุถุชนคนนึงจะชื่นชมในความกล้า และการเสียสละครั้งยิ่งใหญ่... ครั้งนี้.

 
 

 

 
กำลังแสดงหน้าที่ 1 จากทั้งหมด 0 หน้า [หน้าถัดไปคือหน้าที่ 2] 1
 

 
เงื่อนไขแสดงความคิดเห็น
1. ทุกท่านมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเสรี โดยไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่กล่าวพาดพิง และไม่สร้างความแตกแยก
2. ผู้ดูแลระบบขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใด ๆ ต่อเจ้าของความคิดเห็นนั้น
3. ความคิดเห็นเหล่านี้ ไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมาย และไม่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับคณะผู้จัดทำเว็บไซต์

ชื่อ :

อีเมล์ :

ความคิดเห็นของคุณ :
                                  

              * ใส่รหัสจากภาพที่เห็นลงในช่องด้านล่าง และใส่คำตอบจากคำถาม เพื่อยืนยันการส่งความเห็น
  และสำลีสีอะไร
    

          ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการแสดงความคิดเห็นโดยสาธารณชน ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าชื่อผู้เขียนที่้เห็นคือชื่อจริง และข้อความที่เห็นเป็นความจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ boyoty999@google.com  เพื่อให้ผู้ดูแลระบบทราบและทำการลบข้อความนั้นออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้