เปลี่ยนแนวคิด..เอาให้อยู่
นำเข้าเมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2559 โดย จุฬา ศรีบุตตะ
อ่าน [58556]  

เปลี่ยนแนวคิดพิชิตยาบ้า บันได 6 ขั้น ตัดวงจรธุรกิจ สืบลึกถึงพฤติการณ์ .....


 


 


“เราจะอยู่กับยาเสพติดได้อย่างไร โดยที่สังคมต้องปลอดภัย ไม่เสียหายกับยาเสพติด ซึ่งมันต้องคิดวิธีการนี้ให้ได้ ไม่สามารถที่จะทำให้ยาเสพติดหมดไปจากประเทศไทยได้ ต้องทำให้ยาเสพติดไม่เป็นภัยต่อสังคมให้ได้ หรือทุเลาเบาบางลง ไม่เป็นปัญหา วันนี้โลกได้มองยาเสพติดเป็นเรื่องของสาธารณสุข เป็นเรื่องของสุข”

จากวลีข้างต้น ของ “บิ๊กต๊อก” พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ที่พูดในทำนองว่า จะถอด “เมทแอมเฟตามีน” ยาเสพติดรุนแรง (ยาบ้า) ให้ปรับเปลี่ยนมาเป็นยาปกติ ด้วยเหตุนี้ จึงมีคนไป “ตีความ” ว่า “รัฐบาล คสช.” จะทำยาบ้า ขาย เพื่อทำลายการตลาดของยาเสพติดแทน เมื่อมีการตีความแบบนี้ก็บรรลัยสิครับ แนวคิดนี้ถูกกระแสสังคมต่อต้านทันที จนมีคนเปรียบเปรยว่า “อดีตนายกฯ คนหนึ่งปราบยาเสพติด ส่วนรัฐบาล คสช. จะขายยาบ้า” ว่าไปถึงนั่น!

ในเวลาต่อมา ได้มีการอธิบายความให้ชัดเจนว่า เป็นแนวคิดปรับทิศทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดรูปแบบใหม่ แต่ไม่ใช่ให้ “ยาบ้า” ถูกกฎหมาย แต่จะมีการปรับเปลี่ยนตัวบทกฎหมายให้เหมาะสม นายทุนต้องรับโทษอย่างรุนแรง ส่วนผู้ที่ขนยา รวมถึงผู้เสพจะได้รับโทษตามความเหมาะสม...

 
อภิมหายาบ้า ที่ถูกจับได้

ด้วยเหตุนี้ “อาสาม ไทม์แมชชีน” จาก ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงอยากเชื้อเชิญแฟนานุแฟน “ไทยรัฐออนไลน์” มาร่วมศึกษา วิเคราะห์ และ แยกแยะ เหตุผลในมุมใหม่ ที่บางประเทศให้การย้อนรับ จาก รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในทีมโครงการศึกษาวิจัย เรื่อง “การศึกษาเพื่อพัฒนาแนวทางการลงโทษ : หลักการลงโทษที่ได้สัดส่วน กรณีคดียาเสพติดให้โทษ” ร่วมกับ ศ.ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล เสร็จสิ้นไปสดๆ ร้อนๆ เมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ.2558) นอกจากนี้ ยังมี นพ.วิโรจน์ วีรชัย ผู้อำนวยการสถาบันธัญญารักษ์ มาสะท้อนถึงการเยียวยา หากผู้ต้องหายาเสพติดเปลี่ยนสถานะเป็นผู้ป่วย เราจะมีขีดความสามารถในการดูแลแค่ไหน...

ปูพื้นเริ่มต้น ปราบรุนแรง แต่ยาบ้ากลับเพิ่มร้อยเท่าพันทวี 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ไม่รอช้า ขอเลคเชอร์ กับ อ.ปกป้อง ก่อน โดยเริ่มต้นอธิบายถึงงานวิจัยชิ้นนี้ว่า เราเห็นว่าการลงโทษในคดียาเสพติด โดยเฉพาะยาบ้า และ ไอซ์ มีการลงโทษอย่างรุนแรง และ ไม่แยกแยะรายใหญ่หรือเล็ก เพราะที่ผ่านมาเรามีแนวคิดประกาศสงครามกับยาเสพติด เพื่อปราบปรามให้เข็ดหลาบ เราใช้กฎหมายตัวนี้มา 20-30 ปี แต่ยาเสพติดกลับไม่ได้ลดลง เมื่อมีการปราบอย่างหนักทำให้ยาเสพติดมีราคาแพงขึ้น คนก็จะเข้าสู่ธุรกิจนี้ได้ง่ายขึ้น เพราะมีกำไรมหาศาล 600-700 เปอร์เซ็นต์ ที่จับได้ก็มีเพียงเด็กเดินยา คนขายรายย่อย แต่รายใหญ่เราสาวไปไม่ถึง วงจรนี้มันจึงเกิดขึ้น ดังนั้น เราจึงคิดว่าควรจะหาวิธีกำจัดวงจรนี้ให้หมดไป และทำให้มันดีขึ้น เราจึงไปศึกษาในข้อกฎหมายดู พบว่ากฎหมายที่ใช้อยู่ “ไม่ได้สัดส่วน” มีการลงโทษที่ “รุนแรงเกินไป” ส่งผลให้ยาเสพติดแพงขึ้นและไม่หมดไป

แค่เริ่มต้นเกริ่นถึงปัญหา ก็ทำให้ชวนสงสัยมากมายแล้ว อาจารย์นิติศาสตร์ มธ. ไม่รอช้า เล่าให้ “อาสาม ไทม์แมชชีน” ฟังต่อว่า “ผมมีข้อมูลเกี่ยวกับคดีที่ศาลชั้นต้น พบว่ามีการฟ้องร้องถึง 647,478 คดี เป็นคดียาเสพติด ครึ่งหนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นคือคดียาเสพติดล้นศาลฯ ทำให้กระบวนการยุติธรรมล่าช้า ความยุติธรรมจึงไม่เกิด นอกจากนี้ ยังมีสถิติผู้ต้องขังทั้งประเทศ รวม 220,208 คน โดยมีผู้ต้องขังคดียาเสพติด 80% ส่วนใหญ่เป็นรายย่อย ที่เหลือคือคดีอื่น เมื่อคนมันล้นคุก ส่งผลกระทบให้ผู้ต้องขังในคดีอื่น เช่น ปล้นฆ่า ข่มขืน ถูกปล่อยตัวออกมาอย่างรวดเร็ว...นี่คือที่มาที่ไปของงานวิจัยชิ้นนี้"

 
รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ส่วนวิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้องจากงานวิจัยชิ้นนี้ เห็นว่าควรนำเสนอต่อผู้เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การแก้ไข รศ.ดร.ปกป้อง กล่าวว่า วิธีการคิดว่ายาบ้าเป็นปิศาจควรใช้มาตรการลงโทษรุนแรงนั้น ไม่ได้ผล ก็ควรที่จะใช้วิธีคิดแบบใหม่ ซึ่งพ้องกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคือ ไม่ทำสงครามกับยาเสพติดแล้ว แต่เราจะแยกรายใหญ่กับรายเล็กออกจากกัน ซึ่งต้องหารายเล็กๆ นั้น เราควรบำบัด เพื่อทำให้ความต้องการยาในตลาดลดน้อยลง เมื่อคนซื้อน้อยลงมันก็จะถูกลงหรือหมดไปเอง โดยมีข้อเสนอ 6 ประเด็นดังนี้ คือ...

เสนอ 6 ประเด็นหนทาง แก้ปัญหายาบ้าล้นเมือง 

1.กฎหมายยาเสพติดปัจจุบันไม่ได้สัดส่วน คือ มาตรา 15 วรรค 3 เป็นกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม และเป็นกฎหมายที่ลงโทษรุนแรงเกินไป เพราะทุกวันนี้ใครก็ตามมี ที่มียา 15 เม็ด หรือมียาไอซ์ 375 มิลลิกรัม ถือว่าเป็นผู้จำหน่าย แม้ว่าคนพวกนี้จะปฏิเสธว่าไม่ได้ขายก็ตาม คนพวกนี้ก็ถูกตราหน้าว่าเป็นผู้จำหน่ายและถูกลงโทษตามข้อกฎหมายดังกล่าวคือ ติดคุก 4-15 ปี และหนักขึ้น ซึ่งเป็นบทสันนิษฐานเด็ดขาด ที่ผู้ที่มียาไม่สามารถแก้ตัวได้ ดังนั้นแนวทางออก คือ ต้องแก้กฎหมายมาตรา 15 วรรค 3 และต้องเปิดโอกาสให้ผู้ที่มียาจำนวนดังกล่าวพิสูจน์ว่า เขาไม่ได้ขาย แต่เขาเสพอย่างเดียว เพื่อที่จะนำเขาไปบำบัด และไม่ต้องรับโทษว่าเป็นผู้ค้า เพื่อทำให้โทษลดลง

“เรามองว่า คนขายยาบ้าต้องได้รับโทษหนักถึงประหารชีวิต ทำให้กลไกราคายาในตลาดบ้าแพงขึ้น ได้กำไล 600-700 % เป็นแรงจูงใจให้คนเสี่ยงเข้าไปทำผิด เพราะหากถามว่าคนขายยากลัวถูกจับไหม คำตอบคือ ผมก็ไม่เห็นจะมีใครกลัว บางคนอาศัยอิทธิพล เพื่อหลบหนีการจับกุม ทำให้ตัวเลขทางสถิติของคดีเพิ่มมากขึ้น”

2.ข้อสันนิษฐานเรื่องแบ่งบรรจุเป็น “การผลิต” หากใครที่ปั๊มยาบ้าขาย ทำเป็นโรงงาน แบบนี้ทุกคนเห็นด้วยอยู่แล้วว่าต้องลงโทษให้หนัก....แต่กฎหมายไทย พ.ร.บ. ยาเสพติด 2522 ได้เขียนบทสันนิษฐานแบบไม่มีข้อแก้ตัวว่า การผลิตให้ หมายถึง “การแบ่งบรรจุด้วย ซึ่งตรงนี้เป็นการลงโทษที่รุนแรงและไม่เป็นธรรม” ยกตัวอย่างเช่น เพื่อนแบ่งขายให้เพื่อน ก็จะต้องถูกลงโทษข้อหาผลิตยา

 
สถิติผู้ป่วยเสพยาบ้าและยาอื่นๆ

3.การลงโทษตามกฎหมายปัจจุบันไม่ได้แยกรายใหญ่กับผู้เสพออกจากกัน แต่มีแนวทางการลงโทษ ผู้เสพยาและผู้ขายยาตามปริมาณยาเป็นหลัก สรุปง่ายคือ ถ้าเราจับผู้กระทำความผิดได้ในปริมาณยาจำนวนมาก จะได้รับโทษหนัก แต่หากจับผู้กระทำความผิดได้ในปริมาณยาน้อย ก็ได้รับโทษเบา ถามว่าเป็นธรรมไหม บอกเลย ไม่เป็นธรรม เพราะปริมาณยาไม่สามารถบ่งบอกความเป็นธรรมได้

“ดังนั้นข้อเสนอในงานวิจัยคือ ต้องการแยกหลายใหญ่ กับ ผู้เสพ ออกจากกันให้ได้ โดยเฉพาะรายใหญ่ เห็นสมควรว่าต้องได้รับโทษหนัก เช่น ริบทรัพย์ทั้งหมด เพื่อที่จะตัดแรงจูงใจของผู้ค้ายารายใหญ่ เพราะในงานวิจัยได้ไปศึกษาบทลงโทษผู้ค้ายารายใหญ่ของฝรั่งเศสและอังกฤษมาพบว่า เขาจะใช้วิธียึดทรัพย์ทั้งหมดจนล่มละลาย เพราะถือว่าคุณสร้างปัญหาให้สังคม โดยกฎหมายประเทศอังกฤษ ระบุว่า จะลงโทษผู้ค้ายารายใหญ่โดยการยึดทรัพย์ตามมูลค่า กล่าวคือ ศาลอังกฤษสามารถใช้ดุลพินิจวิเคราะห์ว่าผู้ค้ายารายขายยามากี่ปี มีมูลค่าการขายเท่าไหร่ เขาก็จะริบทรัพย์ตามมูลค่าที่ประเมิน เขาไม่สนใจว่าคุณจะอธิบายว่าอะไร แต่เขาประเมินว่าคุณทำรายได้เท่านี้จากยาเสพติด เขาก็ริบตามที่ประเมินไว้ ซึ่งแตกต่างจากไทย จะยึดเฉพาะทรัพย์สินที่พิสูจน์แล้วว่า เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเท่านั้น”

ส่วนบทลงโทษผู้เสพ ควรจะลงโทษโดยการดึงเขาออกมาจากคดีอาญา และต้องทำให้ผู้เสพไม่รู้สึกว่าตนเองเป็นศัตรูกับตำรวจ ซึ่งงานวิจัยได้ไปศึกษาแนวคิดบทลงโทษใหม่ในยุโรป ที่เขามองว่าผู้เสพคือผู้ป่วย ดังนั้นจำเป็นต้องเอาเขาออกมาจากการตั้งข้อหาคดีอาญา เพื่อนำมาบำบัดด้วยการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเข้าไปแก้ปัญหาลดความต้องการยาบ้าในตลาด ซึ่งในประเทศไทยก็มีกฎหมายฟื้นฟูผู้ติดยา แต่ใช้ไม่ได้ผล เนื่องจากมีการกำหนดปริมาณยาที่น้อยเกินไป คือ ถูกจำได้ในปริมาณยาต่ำกว่า 5 เม็ด ถึงจะนำตัวไปบำบัด

คำถามคือเราควรปรับจำนวนยาเท่าไหร่ เพื่อไม่ให้เป็นการเปิดช่องให้กับผู้ค้ายา อ.ปกป้อง กล่าวว่า เราแค่ต้องเข้าไปปรับข้อกฎหมาย ไม่ได้เข้าไปปรับปริมาณยา เพื่อให้โอกาสจำเลยพิสูจน์ในเชิงพฤติกรรมว่า เขาไม่ได้ขาย แต่เขาแค่เสพ เพื่อที่จะนำตัวไปบำบัด

 
มันต้องมีวิธีแก้ปัญหา! อ.ปกป้อง เชื่ออย่างนั้น

ประเด็นสำคัญอยู่ที่การพิสูจน์ ต้องผ่านกระบวนการของตำรวจ เป็นเรื่องน่าห่วงหรือไม่ อ.ปกป้อง กล่าวว่า ทุกวันนี้เราก็มีนโยบาย ให้ตำรวจไปตั้ง KPI ในคดียาบ้า โดยมีการกำหนดว่า สน. จะต้องจับผู้กระทำความผิดในคดียาบ้าเท่านี้รายต่อเดือนต่อปี ซึ่งจุดนี้ จะส่งผลให้ความผิดไปอยู่ที่ตำรวจ เพราะบางครั้ง อาจไม่จำเป็นต้องจับ แต่มีความต้องการทำให้เกิดยอดขึ้นมา จึงมองว่านโยบายนี้ คือต้นเหตุของปัญหาอีกประการหนึ่ง บางคดีไม่ควรเป็นคดี แต่ก็ต้องไปทำหลักฐานขึ้นมาให้เป็นคดี ส่วนพวกกึ่งเสพกึ่งขาย ตอนนี้ในประเทศไทยมีพอสมควร เนื่องจาก ผู้ค้ายามีความประสงค์ต้องการนำเงินไปซื้อยาเพื่อนำเสพยา ต่างประเทศ ก็ยังมองคนกลุ่มนี้เป็นคนป่วย แต่ในประเทศไทยไม่มีบทลงโทษให้กับคนกลุ่มนี้

เชื่อเป็นหนึ่งในปัญหา ตำรวจทำคดี ไม่สืบเสาะถึงพฤติกรรม 

4.ตำรวจทำคดียาเสพติดไม่สืบเสาะ สืบสวนถึงพฤติกรรม ลงลึกไปถึงลักษณะเบื้องหลังของผู้กระทำความผิดก่อนจะส่งฟ้องศาลก่อน เนื่องจากบางคน มีเหตุผลที่เข้ามาเกี่ยวพันในวงการยาเสพติดอย่างน่าเห็นใจ ซึ่งมองว่าในส่วนนี้กฎหมายไทยยังมีบทลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วน หรือเป็นธรรมสำหรับกลุ่มคนเหล่านี้พอ

ดังนั้น ข้อเสนอในงานวิจัย คือ ต้องการให้ตำรวจทำสำนวนพฤติกรรมบุคลิกและลักษณะของผู้กระทำความผิดด้วย เพื่อสามารถนำผู้กระทำความผิดไปลงโทษอย่างเหมาะสม เพราะเราต้องการแยกปลาออกมาจากน้ำ คือ แยกคนเสพมาบำบัด และ นำคนที่เป็นผู้ค้ารายใหญ่ไปลงโทษหนัก ไม่ใช่เหมาร่วมหมดอย่างทุกวันนี้ เพราะมันไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา

5.ใช้หลักลงโทษรายบุคคล (individualization) คือการลงโทษให้เหมาะสมของแต่ละคน มากกว่าการใช้หลักการนับเม็ดยา และหาความจริง ว่าผู้กระทำความผิดเป็นตัวใหญ่หรือตัวเล็กในวงการยาเสพติด เพราะในความเป็นจริงจากการศึกษาพบว่า มีเหตุการณ์เกิดขึ้น คือ สามีขายยาภรรยาก็รับรู้ด้วย หรือบางครั้งภรรยาก็ไม่รู้ แต่สองคนนั่งรถไปด้วยกัน ถูกจับได้พร้อมกันโดนทั้งคู่ และยังพบอีกว่าหลายคดีที่เกิดขึ้น ปรากฏว่าผู้หญิงได้รับโทษหนักกว่าผู้ชาย เพราะผู้ชายสารภาพจึงได้รับการลดโทษ แต่ผู้หญิงสู้คดี เพราะเขาไม่รู้และไม่ได้ขาย จึงถูกจำคุกนานกว่าเพราะปฏิเสธ ซึ่งตรงนี้คือข้อเสียของการลงโทษที่ใช้หลักการนับเม็ดยา และไม่ได้เกิดความเป็นธรรมเลย นอกจากนี้กฎหมายยังเขียนไว้อีกว่า ผู้สนับสนุนจะถูกลงโทษเท่ากับตัวการ คือ ใครก็ตามที่สนับสนุน ใครก็ตามที่เข้าช่วยเหลือ จะต้องได้รับโทษเท่ากับตัวการ

อาจารย์ปกป้อง กล่าวว่า การปราบปรามอย่างรุนแรง ใช้บทลงโทษหนักหน่วง มันไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาให้ลดลงเลย เพราะมันทำให้ยาบ้าราคาแพงขึ้น จึงเป็นแรงจูงใจให้คนเข้าสู่วงการการค้ากำไรพวกนี้มากขึ้น อย่างไรก็ดี คนที่ตัดสินใจทำผิดเขาจะพิจารณาว่า 1.มีโทษขนาดไหน 2.โอกาสที่จะถูกลงโทษขนาดไหน และเมื่อเขาประเมินแล้วพบว่า โทษหนัก แต่โอกาสการถูกลงโทษน้อย หรือ มั่นใจว่าไม่ถูกลงโทษ เขาก็จะทำอยู่ดี เนื่องจากคดียาเสพติดไม่มีผู้เสียหาย ไม่เหมือนคดีข่มขืน คดีฆ่าคนตาย ที่จะต้องมีคนเสียหายเข้ามาร้องเรียน เพื่อจะให้คดีดำเนินสู่ศาลเสมอ แต่ขณะที่คดียาเสพติดสามารถลักลอบค้าได้ เพราะคนขายและคนซื้อจึงไม่มีใครเสียหาย และมั่นใจว่าไม่มีตำรวจมารับรู้

 
เปลี่ยนแนวคิดใหม่ ใช้แก้ปัญหายาบ้าล้นเมือง
หลงทางมาตลอด! การปราบปรามรุนแรง ไม่แก้ปัญหา 

เมื่อถึงตรงนี้ “อาสามฯ”​ จึงถามแย้งว่า หากลงโทษทุกอย่างเบาลง จะทำให้ปัญหาเพิ่มขึ้นไหม อ.ปกป้อง กล่าวอย่างมั่นใจว่า “ไม่เพิ่มขึ้น” เพราะการที่โทษเบาลง คือการลดลงที่ได้สัดส่วนกับผู้กระทำความผิด เพราะทุกวันนี้มันแรงมากเกินไปและไม่ได้แก้ไขปัญหา เพราะการที่โทษเบาลงและเราแก้ไขปัญหาได้ถูกจุด ผมเชื่อว่าจะเป็นแนวทางการแก้ปัญหาให้ความต้องการยาในตลาดลดลง ราคายาลดลง ก็จะส่งผลทำให้คนหันไปทำอาชีพอื่นแทน

แล้วกฎหมายปัจจุบันที่แสนรุนแรงเอาผิดผู้ค้ารายใหญ่ได้แค่ไหน อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวว่า “กฎหมายไทยไม่ได้เข้าถึงผู้ค้ารายใหญ่ เพราะจากข้อมูลที่ได้มา ผู้ค้ารายใหญ่ยังคงอยู่ในวงการยาเสพติด แต่คนที่ถูกจับส่วนใหญ่คือผู้ค้ารายย่อย จึงมองว่าหากยังคงดำเนินตามกฎหมายในปัจจุบันอยู่ ปัญหาเหล่านี้ก็ยากที่จะหมดไป”

เมื่อถามต่อว่า ทำไมในสมัยอดีตในนายกฯ ที่ทำแบบรุนแรงทำไมถึงได้ผล อาจารย์หนุ่ม ตอบสวนทันควันว่า เพราะมันอาจจะมีลักษณะการให้กระบวนการดำเนินการนอกกฎหมาย เพื่อทำให้ผู้กระทำความผิดเห็นว่า ทำไปแล้วต้องตาย ทำไปแล้วจะต้องถูกเก็บ เป็นต้น เป็นเหตุทำให้คนกลัว แต่คำถามคือ.... “เราจะใช้วิธีการที่ไม่ถูกกฎหมาย เพื่อไปจัดการกับสิ่งที่มันผิดกฎหมายหรือ?” ผมมองว่ามันคือการแก้ปัญหาในระยะสั้น เพราะท้ายที่สุดในระยะยาว ปัญหาก็กลับมาอยู่ดี

อาจารย์ปกป้อง ได้ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนว่า เคยเข้าไปสัมภาษณ์คดียาเสพติดในเรือนจำ เขาก็เป็นคนปกติมีอาชีพเป็นหลักเป็นแหล่ง แต่ติดคุก เนื่องจากไปเปิดห้องให้ผู้ค้ายาเสพติดใช้พักยา เมื่อพ่อค้ายาถูกจับไป ตำรวจได้ขยายผลพบว่ามีผู้หญิง 1 คนมาเปิดห้องให้ เธอจึงถูกตั้งข้อหาเป็นผู้สนับสนุนผู้ค้าเสพติด จึงได้รับโทษเท่ากับผู้ค้ายา ที่มีโทษสูงสุดคือประหาร ซึ่งผู้หญิงคนนี้ได้ให้ปากคำว่า เขาไม่รู้เรื่อง แต่ท้ายสุดก็ต้องโดนลงโทษอยู่ดี โดยในการสัมภาษณ์ครั้งนี้ผมใช้ความเป็นกลางและไม่ได้เชื่อเขา หรือเข้าข้างเขาแต่อย่างไร เพราะหากเขารู้หรือไม่รู้ว่าเพื่อนจะใช้พักยา ในความเห็นผมคือ เขาไม่ควรได้รับโทษหนักขนาดนั้น เพราะคนพวกนี้เขาไม่มีบทบาทใดๆ เกี่ยวข้องโดยตรงกับยาเสพติด

 
ซุกซ่อนในรองเท้า

หลังจากถามยืดยาว ในประเด็นข้อสงสัยต่าง ๆ หลังจาก อ.ปกป้องได้เสนอ 5 ข้อ ในที่สุดก็มาถึงข้อเสนอสุดท้าย อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวว่า ข้อ 6.กฎหมายไทยมีมาตรการบำบัด และข้อกำหนดว่าผู้เสพคือผู้ป่วยจะต้องถูกบำบัด แต่กฎหมายมีปัญหาคือ ข้อกำหนดปริมาณยาที่ครอบครอง เพื่อบำบัดน้อยเกินไป คือ หากถูกจับมีปริมาณยาไม่เกิน 5 เม็ด หรือมียาไอช์ไม่เกิน 1 เม็ดพารา จะถูกนำตัวไปบำบัด ไม่ต้องถูกตั้งข้อหา แต่ถ้าปริมาณยามากกว่านี้จะถูกจับแจ้งข้อหา ปั๊มลายนิ้วมือ และเข้าสู่กระบวนการคดีอาญาทันที ซึ่งข้อกำหนดนี้เป็นปัญหา ที่ทำให้ไม่สามารถเข้ามาฟื้นฟูและบำบัดผู้ติดยาได้อย่างแท้จริง

จากการสัมภาษณ์นักโทษมา พบว่ามีเด็กคนหนึ่ง เสพยามากสุดในปริมาณ 7-8 เม็ด และยาไม่ได้หาซื้อกันง่ายๆ ดังนั้นจึงมีการซื้อเก็บไว้บ้าง 20-30 เม็ด ซึ่งเมื่อซื้อมาเก็บไว้แล้วถูกจับได้คือ คนเหล่านี้ก็ไม่ได้ถูกนำไปบำบัด เพราะมีปริมาณยาเกินกว่า 5 เม็ด จึงถูกตั้งข้อหาเป็นผู้ค้า

สังคมไม่ให้โอกาส พาเข้าสู่วังวน เสพ ค้ายา ในที่สุด

ล่าสุด มีคำสั่งจาก คสช. พยายามใช้นโยบายนี้แล้ว ในปี 2557 คือ หากจับผู้เสพได้ให้เอาไปบำบัดทันที แต่ปัญหาคือว่า เราจะต้องบำบัดให้มันถูก จากศึกษาของต่างประเทศพบว่า บางครั้งคนติดยาอาจจะไม่ติดจากสารเสพติด แต่ติดเพราะสังคมผลักให้คนกลุ่มนี้ออกไปอยู่ขอบๆสังคม สังคมมองเป็นคนไร้ค่า เมื่อคนเหล่านี้ไม่มีเพื่อน ไม่ได้รับการยอมรับ ก็มีโอกาสกลับไปพึ่งยาอีกครั้ง ดังนั้นวิธีการบำบัดของต่างประเทศนอกจากแก้ปัญหาทางการแพทย์แล้ว ยังมีมาตรการทำให้คนพวกนี้มีค่ากลับเข้ามาในสังคมอีกครั้ง ผลคือ คนพวกนี้ก็จะไม่มีความจำเป็นที่จะกลับเข้าไปในวงการยาเสพติดอีก เพราะสังคมยอมรับ ดังนั้นการบำบัดทางการแพทย์อย่างเดียวคงไม่พอ แต่จะต้องบำบัดทางสังคมช่วยด้วย ซึ่งประเทศเราขาดมิติการบำบัดทางสังคม

 
สาเหตุที่ติดและสาเหตุที่เลิกคือ...

“จากงานวิจัยพบว่าว่า แนวทางบำบัดทางสังคมที่ดีที่สุดคือจะทำอย่างไรให้ประวัติผู้ที่เสพยาเสพติดถูกลบออกไปบ้าง เพราะในปัจจุบันผู้ที่เสพยาเสพติด เมื่อพ้นโทษออกมา พบว่า ประวัติที่เคยต้องโทษติดคุกในคดียาเสพติด ได้ติดตัวเขาไปจนถึงวันตาย หรือวันที่เผาศพ เนื่องจากในประเทศไทย ใครก็ตามที่ถูกต้องโทษปั๊บลายนิ้วมือแล้ว จะไม่มีโอกาสที่จะลบประวัติเหล่านี้ออกไปได้เลย นอกจากตายอย่างเดียว ผลกระทบที่ตามมาคือ ในกรณีที่วัยรุ่น หรือใครก็ตาม ที่เผลอทำพลาด ไปติดคุกติดตะรางในคดียาเสพติด หรือ เคยมีประวัติผ่านเรือนจำมา เมื่อพ้นโทษออกมา ต้องการทำงาน แล้วนายจ้างขอเช็คประวัติอาชญากรจากตำรวจ ก็จะพบทันทีว่าเคยมีประวัติต้องโทษคดียาเสพติด ซึ่งบอกตามตรงเมื่อพบประวัติเหล่านี้ ถ้าผมเป็นนายจ้างผมก็ไม่รับทำงานนะ เพราะนายจ้างทุกคนต่างต้องการลูกจ้าที่มีประวัติที่ขาวสะอาดที่สุด ดังนั้นจะเห็นได้ว่า มาตรการเหล่านี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การบำบัดทางสังคมในประเทศไทยไม่เกิดขึ้น เพราะสังคมไทยกำลังผลักคนพวกนี้เขาไปสู่วงจรเดิม เพราะ ตกงาน ไม่มีเงิน สังคมไม่ยอมรับ เป็นต้น”

แต่สำหรับ ในฝรั่งเศส เขาจะมีประวัติอาชญากร 2 เล่มหรืออาจจะมีมากกว่านี้ด้วย โดยเล่มแรก เป็นเล่มที่เปิดเผยโดยทั่วไป เพื่อตอบสนองความต้องการเช็กประวัติลูกน้อง ของนายจ้าง ส่วนเล่มที่สอง จะปิดเป็นความลับอย่างยิ่ง หมายถึง สามารถเปิดเผยได้เฉพาะในกระบวนการศาล และตำรวจ หรือในกระบวนการทางกฎหมายเท่านั้นถึงจะรับรู้ได้ แต่ชาวบ้าน นายจ้าง หรือคนในสังคม จะไม่สามารถรับรู้ได้ วิธีการแยก 2 เล่มคือ บุคคลใดที่เพิ่งพ้นโทษมาหมาดๆ จะถูกใส่ชื่อลงไปทั้ง 2 เล่ม เพื่อต้องการบอกให้สังคมได้รับรู้ด้วย แต่พอเมื่อระยะเวลาผ่านพ้นไปสักประมาณ 10 ปี หรือ 15 ปี แล้วแต่ความรุนแรงของโทษ แล้วไม่เคยกระทำความผิด สร้างความเดือดร้อนให้กับคนในสังคมอีกเลย หรือมีการพิสูจน์ตัวเองในช่วงเวลานี้ว่า กลับมาเป็นคนดีแล้วนะ และทางสังคมเองก็ให้โอกาสแล้ว ผู้กระทำความผิดเหล่านี้สามารถมายื่นคำร้องขอถอนซื้อตัวเองออกจากสมุดเล่มแรกได้ เมื่อเปรียบเทียบกับบ้านเรา จะถอนชื่อได้ก็ต่อเมื่อ ถูกศาลพิพากษาแล้วว่าไม่ได้กระทำความผิด แต่ถ้าศาลบอกว่าคุณกระทำความผิด แล้วชีวิตคุณเข้าไปเหยียบในเรือนจำเมื่อไหร่ นั่นแปลว่า คุณจะไม่มีทางถอดชื่อออกจากบัญชีดำเหล่านั้นได้เลย

อาจารย์ปกป้อง ได้เน้นย้ำว่า จะเห็นได้ว่า กฎหมายของประเทศไทย มันล้าสมัย ไม่ให้โอกาสคนในสังคม และไม่ได้ทำให้เกิดกระบวนการบำบัดทางสังคม จึงส่งผลให้คนที่ผ่านเรือนจำมาแล้วจะกลับเข้าไปสู่วงเวียนยาเสพติดเหมือนเดิมอยู่ดี เพราะไม่สามารถทำงานที่สุจริตได้งานวิจัยของตนเป็นหนึ่งในโครงการชุดวิจัยของกระทรวงยุติธรรมเท่านั้นเอง ซึ่งได้จัดทำขึ้นเมื่อปี 2558

จากงานวิจัยชิ้นนี้ สิ่งที่กังวลมากที่สุด มองว่าอาจจะมีข้อขัดแย้งมาจาก ตำรวจ และกระบวนยุติธราม ต่างๆ เพราะอาจจะรับภาระงานเพิ่มมากขึ้น เพราะได้เสนอกระบวนการจัดการคดียาเสพติดที่มีขั้นตอนที่ต้องละเอียดมากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นเมื่อละเอียดมาก ก็เหนื่อยกว่าเดิม แต่ปัญหาเหล่านี้จะเบาลงได้ หากมีการจัดทำระบบการทำงานเหล่านี้ทันสมัยขึ้น มีกระบวนการยุติธรรมทันสมัย โดยการนำนวัตกรรมทางด้านไอทีต่างๆ มาประยุกต์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ ก็เชื่อว่า จะทำให้ภาระงานต่างๆ ที่ดูเหมือนจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นอาจจะลดลงได้ในระดับหนึ่ง และหากมีการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ในการเชื่อมโยงข้อมูลเชื่อมโยงคดี อาจจะทำให้ภาระงานเพิ่มขึ้นไม่มากนักคนที่เสพก็ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อจะได้ไม่ต้องมานั่งทำสำนวนคดี แต่เราจะทำเฉพาะผู้ค้ายารายใหญ่

รศ.ดร.ปกป้อง กล่าวทิ้งท้ายว่า ผมมองว่า คนที่ค้ายา คงไม่มีใครเกิดขึ้นมา แล้วบอกว่า DNA บอกว่าต้องค้ายา คนพวกนี้คิดว่า ได้มากกว่าเสีย ก็ทำ ได้กำไรจึงทำ ได้เงินจึงทำ โดนจับแป๊บเดียวก็ออกมาเงินที่ได้ยังมีอยู่ ดังนั้นกฎหมายต้องทำให้เขารู้สึกว่าเสียมากกว่าได้ เช่น ได้มาเท่าไหร่ก็ยึดให้หมด ยึดอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ยาราคาถูก แก้ไขโดยการตัดความต้องการยา เพราะกำไรลดลงมันก็จะไม่ขาย เป็นต้น จึงจะเป็นการลงโทษที่ถูกต้อง สิ่งที่กังวลที่สุด คือ ข้อเสนอบางข้อนำไปทำ แล้วบางข้อไม่นำไปทำ เนื่องจาก ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาแบบองค์รวม ดังนั้นเราควรแก้ปัญหาเป็นแพ็กเกจมันถึงจะเห็นผลและยุติธรรม

 
นพ.วิโรจน์ วีรชัย ผู้อำนวยการสถาบันธัญญารักษ์
3 ระบบการรักษา ตัวเลขทะลุ ปีละกว่า 2 แสนราย 

ข้างต้นเป็นข้อเสนอ เปลี่ยนสถานะ จากผู้ต้องหา เป็นผู้ป่วย แล้วความพร้อมมีมากแค่ไหน "อาสามฯ" จึงได้ต่อสายพูดคุยกับ นพ.วิโรจน์ วีรชัย ผู้อำนวยการสถาบันธัญญารักษ์ เผยว่า ปัจจุบันการบำบัดจะแบ่งออกเป็น 3 ระบบ ประกอบด้วย 1.ระบบสมัครใจ ที่กระทรวงรับผิดชอบเป็นหลัก 2.ระบบบังคับบำบัด ที่กรมคุ้มประพฤติเป็นผู้รับผิดชอบ และ 3.ในส่วนของกรมราชทัณฑ์ โดยในแต่ละปีมีผู้เข้ามาบำบัดอาการติดยาเสพติดประมาณ 2 แสนกว่าราย ส่วนสถิติของกระทรวงสาธารณสุขที่ดูแลอยู่ มีภาพรวมผู้ป่วยที่เข้ารับการบำบัดอยู่ที่ประมาณ 1.2 แสนราย ส่วนของกรมคุ้มประพฤติอยู่ที่มีผู้เข้ามารับการบำบัดอยู่ที่ประมาณ 8 หมื่นราย ที่ผ่านมาพบว่า ผู้ที่เข้ารับการบำบัดยาเสพติดประเภทยาบ้าและยาไอซ์มีจำนวนมาก คิดเป็น 90%

"ผู้ป่วยที่อยู่ในระบบสมัครใจเข้ารับการบำบัดยาเสพติด ส่วนใหญ่จะเข้ารับการบำบัดกับทางโรงพยาบาลในกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด หรือ ที่เรียกว่าผู้ป่วยนอก มาในฐานะกลุ่มผู้เสพยา หรือ ติดน้อย ในกลุ่มนี้จะได้รับการดูแลในรูปแบบผู้ป่วยนอก ซึ่งจะมีผู้ป่วย 7-8 หมื่นที่เข้ามารับการบำบัดในลักษณะนี้ ตอนนี้ข้อบังคับ แบบกึ่งบังคับ คือ เมื่อ คสช. เข้ามา ได้มีประกาศ คสช. ฉบับที่ 108 ของ คือ การให้โอกาสของกลุ่มผู้เสพติดยาฐานแรก หรือ ให้โอกาสผู้เสพ หรือ ผู้ครอบครองเพื่อเสพ ในกรณีที่ถูกตำรวจพบหรือถูกจับ ว่าครอบครองยาเสพติดต่ำกว่า 5 เม็ด จะถูกนำตัวเข้ามาบำบัดยาเสพติด ในระบบสมัครใจ หรือกึ่งสมัครใจ โดยสถิติของผู้ที่เข้ารับการบำบัดในระบบกึ่งสมัครใจ พบว่ามีจำนวนกว่า 4-5 หมื่นราย ส่วนในระบบสมัครใจ พบว่า มีจำนวน 5 หมื่นราย"

ตัวเลขน่าสะพรึง ผู้ชายอายุต่ำกว่า 40 ปี เดินมา 10 มี 1 คน เคยผ่านเรือนจำ

นพ.วิโรจน์ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญในเชิงนโยบาย ที่ทางรัฐบาลได้นำเสนออกมาให้ทราบ จะเกิดความชัดเจนในเรื่องของ การนำผู้เสพติดยามาเป็นผู้ป่วย โดยมีหลักคือ กฎหมายตัวเดิมกลุ่มผู้เสพหรือครอบครองเพื่อเสพ จะมีโทษจำคุก 2-3 ปี หากมีนโยบายชัดว่าต้องการให้เป็นผู้ป่วย ก็อาจจะมีการปรับกฎหมายให้ลงโทษปรับ หรือ สั่งให้นำตัวไปรักษา หากทำได้จะทำให้ระบบสาธารณสุขเข้ามาดูแลมากขึ้น

ที่ผ่านมา เรามีปัญหามาก เนื่องจากกลุ่ม 4 ฐานความผิด คือ 1.เสพยา 2. ครอบครองเพื่อเสพ 3. เสพเพื่อจำหน่าย และ 4. กึ่งเสพกึ่งขาย มีจำนวนมากกว่า 80% ของคดียาเสพติด เมื่อถูกจับ ในขั้นตอนบังคับบำบัดของกรมคุ้มประพฤติ จะถูกควบคุมตัวระหว่างรอตัวพิสูจน์ ด้วยการนำฝากขังไว้ในเรือนจำ (ประมาณ 5-7 วัน) ซึ่งตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มผู้เสพผ่านเรือนจำประมาณ 1,400,000 คน อันนี้ยังไม่รวมกลุ่มที่ถูกจับในคดียาเสพติดในปัจจุบัน

"ตัวเลขดังกล่าวเป็นที่น่าตกใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อเทียบประชากรไทยที่มีอายุไม่ถึง 40 ปี หรือ ส่วนมากจะอายุประมาณ 30 ปี พบว่ามีตัวเลขผู้ที่ผ่านเรือนจำจำนวนกว่า 2 ล้านกว่าราย หรือหากอยากเห็นภาพง่าย ๆ คือ มีผู้ชายเดินมา 10 คน จะต้องมี 1 คนผ่านเรือนจำมาแล้ว ผลดังกล่าวสะท้อนภาพสังคมออกมาค่อนข้างเลวร้าย เพราะออกนโยบายให้คนผ่านเรือนจำ"

ดังนั้นหากต้องการนำแนวคิดนี้ออกมาใช้อย่างด่วนที่สุด อาจจะต้องขออำนาจจากคำสั่ง คสช. มาปรับโทษจำคุกของผู้เสพ หรือผู้ครอบครองเพื่อเสพ มองว่าน่าจะเป็นโทษทางอาญาในขั้นต่ำลง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการแก้ไขปัญหาเรื่องยาเสพติดในสังคมไทย ในฐานผู้ต้องหาในคดียาเสพติดที่อยู่ในเรื่องจำ พบว่า ผู้ต้องหาเสพยา และผู้ครอบครองเพื่อเสพ มีปริมาณ 80% ของเรือนจำ

 
ผู้ต้องหาเสพยา และผู้ครอบครองเพื่อเสพ มีปริมาณ 80% ของเรือนจำ
ยังไม่ได้คำตอบ พร้อมแค่ไหน ย้ายสถานะผู้ต้องหา เป็นผู้ป่วย ระบุแต่ละปีมีผู้ที่ต้องบำบัดกว่า 5 แสนคน!

ด้วยเหตุนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงยิงคำถามสำคัญที่หลายคนเป็นห่วงว่า หากมีการใช้กฎหมายใหม่จริง สถานบำบัดจะมีเพียงพอหรือไม่ แต่ ผอ.สถาบันธัญญารักษ์ ตอบว่า...ต้องบอกว่าในกลุ่มพวกสารกระตุ้น หากเทียบกลับกลุ่มเฮโรอีน ที่เป็นยาเสพติดที่มีเปอร์เซ็นต์การเสพติดสูง คือเสพไม่กี่ครั้งก็ติดได้ ซึ่งการเสพยา ผู้ป่วย 70% จะเป็นการใช้ยาเสพติดครั้งคราว แต่มีโอกาสที่เสพแล้วติดเลยถึง 30% จากการติดตามผู้เสพยามากกว่า 10-15 ปี พบว่า เมื่อผู้ป่วยมีอายุมากขึ้นจากตัวเลขจะพบว่า พวกเขาจะเลิกยาไปเอง โดยกลุ่มผู้เสพในอายุ 40 ปีขึ้นไปมีผู้เสพยาเพียง 7-8% แน่นอนว่ากลุ่มที่เสพยาส่วนใหญ่คือกลุ่มวัยรุ่นถึงวัยทำงาน โดยปัจจุบันตัวเลขการบำบัดในเรือนจำ มีอยู่ 3 แสน แยกเป็นกลุ่มเสพ 70% หรือประมาณ 2 แสนกว่าราย ส่วนการบบำบัดผู้ป่วยจากข้างนอก มีจำนวนอยู่ประมาณ ปีละ 2 แสน ซึ่งแยกเป็นผู้ป่วยรายใหม่กว่า 60% และ ผู้ป่วยรายเก่า 40% ดังนั้นบำบัดอย่างเดียวคงไม่พอ แต่จะต้องมีมาตรการการป้องกันเข้ามาช่วยเสริมแรงด้วย ทุกอย่างจะต้องดำเนินไปพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะในการบำบัดในกลุ่มวัยรุ่น

หมวดรักษา ในโรงพยาบาล ไม่ต่างจากการดูแลในเรือนจำ คิดเป็นรายละ 200-300 บาท

ในส่วนค่ารักษานั้น ผอ.โรงพยาบาลธัญญารักษ์ กล่าวว่า ผู้ที่อยู่ในเรือนจำทางรัฐจะต้องจ่ายเงินรายคน หัวละ 300 บาท/วัน ในขณะการเข้าบำบัดค่ารักษาก็ไม่แตกต่างกันมาก รัฐจะต้องจ่ายให้คนละประมาณ 200-300 บาทต่อวัน ส่วนของสาธารณสุขจะถูกกว่า เฉลี่ยประมาณ 200-250 บาท เนื่องจากไม่ต้องจัดเวรยามในช่วงเย็นดูแล

ส่วนค่ารักษานั้นจะมีกองทุน 2 กองทุนที่ดูแล คือ สปสช. และกลุ่มราชการ รวมในกลุ่มที่มีประกันสังคมจะต้องจ่ายเงินเอง ส่วนในขั้นฟื้นฟูสมรรถภาพ ที่มีการปรับพฤติกรรมให้เลิกติดยา ในกลุ่มนี้รัฐจะจัดสรรงบเข้ามาดูแลฟื้นฟู ส่วนค่าใช้จ่ายก็ขึ้นอยู่กับประเภทผู้ป่วย เช่นถ้าเป็นผู้ป่วยนอก จะมีค่าใช้จ่ายต่อคอร์ส ไม่สูงมาก เดือนละประมาณ 1,500 บาทต่อคน แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยใน จะมีค่าใช้จ่ายต่อคอร์สละประมาณ 4,000 บาทต่อคนต่อเดือน

"ที่ผ่านมากฎหมายไทยนำตัวกลุ่มคนเหล่านี้ไปเป็นอาชญากร นำตัวไปผ่านเรือนจำ มันกำลังก่อปัญหา ดังนั้นการที่สังคมจะคาดหวังว่า ออกจากคุกมาจะกลับตัวกลับใจเป็นคนดี มันเป็นไปได้ยาก แถมยังเอื้ออำนวยให้คนเหล่านี้ไปสร้างเครือข่ายให้ยาเสพติด ปัญหายิ่งขยายตัว" หมอวิโรจน์ กล่าวทิ้งท้ายให้คิด...

นี่...คือแนวคิด และ หนทางในการแก้ปัญหายาเสพติดหนทางหนึ่ง ที่ผ่านมาเราประกาศสงครามกับยาเสพติด ใช้กลเม็ดเด็ดพรายมากมายแต่ปัญหากลับหยั่งรากลึก ข้อเสนอดังกล่าว เป็นอีก 1 ตัวเลือกให้ลองตัดสินใจ แล้วคุณล่ะ! เห็นด้วยกับแนวคิดนี้หรือไม่!?

อาสาม ไทม์แมชชีน ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

 

 
กำลังแสดงหน้าที่ 1 จากทั้งหมด 0 หน้า [หน้าถัดไปคือหน้าที่ 2] 1
 

 
เงื่อนไขแสดงความคิดเห็น
1. ทุกท่านมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเสรี โดยไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่กล่าวพาดพิง และไม่สร้างความแตกแยก
2. ผู้ดูแลระบบขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใด ๆ ต่อเจ้าของความคิดเห็นนั้น
3. ความคิดเห็นเหล่านี้ ไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมาย และไม่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับคณะผู้จัดทำเว็บไซต์

ชื่อ :

อีเมล์ :

ความคิดเห็นของคุณ :
                                  

              * ใส่รหัสจากภาพที่เห็นลงในช่องด้านล่าง และใส่คำตอบจากคำถาม เพื่อยืนยันการส่งความเห็น
  และสำลีสีอะไร
    

          ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการแสดงความคิดเห็นโดยสาธารณชน ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าชื่อผู้เขียนที่้เห็นคือชื่อจริง และข้อความที่เห็นเป็นความจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ boyoty999@google.com  เพื่อให้ผู้ดูแลระบบทราบและทำการลบข้อความนั้นออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้