คนไทย‘ป่วย-ตาย’แค่‘เปลี่ยนนิสัย’ก็ลด‘สูญเสีย’
นำเข้าเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2559 โดย จุฬา ศรีบุตตะ
อ่าน [58576]  

แค่‘เปลี่ยนนิสัย’ก็ลด‘สูญเสีย’ .....

“ทรัพยากรมนุษย์” ปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติเห็นได้จากบางประเทศแม้ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติมากนัก แต่สามารถเป็น “มหาอำนาจทางเศรษฐกิจ” ระดับโลกได้ เพราะประชากรแต่ละคนมี “ศักยภาพสูง” สามารถแข่งขันกับนานาชาติได้ ขณะที่ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตั้งแต่ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 (2530-2534) เป็นต้นมา ทว่าก็ยังมีอุปสรรคหลายประการที่ “บั่นทอน” การพัฒนา

1 ในนั้นคือภาวะ “เจ็บ-ตาย-พิการ” โดยไม่จำเป็น!!!

6 ก.ค. 2559 มีการจัดเวทีเสวนา “เปิดผลสำรวจสถานการณ์ปีแห่งการสูญเสียสุขภาวะ” ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถ.วิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ ซึ่งสำรวจเมื่อปี 2556 ที่ผ่านมา โดย ทพญ.กนิษฐา บุญธรรมเจริญ หัวหน้าแผนงานการพัฒนาดัชนีภาระทางสุขภาพเพื่อการพัฒนานโยบาย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ อธิบายว่า เกณฑ์การคำนวณจะคิดจาก “อายุขัยเฉลี่ย” ของคนไทย โดยหากไม่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร หรือสูญเสียศักยภาพไปเพราะความพิการ-เจ็บป่วยเรื้อรังจากโรคต่างๆ จนทำงานไม่ได้เต็มที่ จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่ชาติได้อีกมาก

“เมื่อเราคำนวณออกมาเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ ความสูญเสียจะอยู่ที่ 9.3 แสนล้านบาท ในปี 2556 ซึ่งในปีนั้น GDP เราอยู่ที่ 13.3 ล้านล้านบาท ความสูญเสียนี้มูลค่ามหาศาลถึง 7.2 เปอร์เซ็นต์ของ GDP” ทพญ.กนิษฐา กล่าว

เมื่อดูสาเหตุของการสูญเสียในภาพรวม พบว่า “โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” (NCDs) เช่น มะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน และโรคระบบทางเดินหายใจ “ทำลายชีวิตคนไทยมากที่สุด” ถึงร้อยละ 70 คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 3.1 แสนล้านบาท แต่หากแยกเป็นเพศพบว่า “อุบัติเหตุบนท้องถนน” เป็นสาเหตุความสูญเสียของ “เพศชาย” ในอันดับต้นๆ มากกว่าเพศหญิง ขณะที่เพศหญิงจะมีสาเหตุของความสูญเสียจากโรค NCDs มากกว่าเพศชาย

หากจำแนกเป็นช่วงอายุ เพศชาย มีความเสี่ยงตั้งแต่“เริ่มแตกเนื้อหนุ่ม” โดยจากสถิติพบว่า เพศชายสูญเสียจากอุบัติเหตุในช่วง “วัยรุ่น” (อายุ 15-29 ปี) มากที่สุด คือ 27.6 คนต่อประชากร 1,000 คน รองลงมาเป็น“วัยผู้ใหญ่” (อายุ 30-44 ปี) อันเป็นวัยที่ควรจะได้ทำงานอย่างเต็มที่ 24.1 คนต่อประชากร 1,000 คน และเมื่อเข้าสู่วัยกลางคนจนถึงวัยชรา (อายุ 45 ปีขึ้นไป) จะเริ่มสูญเสียจากโรค NCDs ตามลำดับ ส่วน เพศหญิง ในช่วงวัยรุ่นและวัยทำงานจะไม่พบความสูญเสียทางสุขภาพมากนัก แต่จะไปพบเมื่อเข้าสู่ “วัยทอง” หรืออายุ 45 ปีขึ้นไป จากโรคNCDs เป็นหลัก

ทั้งนี้เมื่อดูอันดับความสูญเสียจากสาเหตุต่างๆ ก็พบว่าหลายเรื่อง “น่าจะควบคุมได้” จากการลดปัจจัยเสี่ยงในชีวิตประจำวัน อาทิ การสูบบุหรี่ (มะเร็งหลอดลมและปอด,โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง, โรคหัวใจขาดเลือด, โรคหลอดเลือดสมอง) การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (อุบัติเหตุทางถนน,มะเร็งตับ, ภาวะตับแข็ง) ภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน (โรคหัวใจขาดเลือด, โรคหลอดเลือดสมอง, เบาหวาน)

“สาเหตุจากโรค NCDs ซึ่งน่าจะเป็นโรคที่เราสามารถเลือกทางเดินชีวิตของเราได้ เราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อที่จะลดโรคเหล่านี้ได้ อย่างในผู้ชายก็จะเป็นพฤติกรรมการใช้สารเสพติด เช่นแอลกอฮอล์และบุหรี่ หรือผู้หญิงก็อาจจะเป็นภาวะ
น้ำหนักเกิน” ทพญ.กนิษฐา ฝากทิ้งท้าย

แม้ความเจ็บไข้ได้ป่วยจะเป็น “เรื่องธรรมดา” ที่มนุษย์ทุกคนต้องพบเจอ แต่สาเหตุหลายประการนั้น “ป้องกัน-ลดความเสี่ยงได้” เพียงแต่ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เป็นไปในทางที่ถูกที่ควร อาทิ ลด ละ เลิก ยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์,ออกกำลังกายสม่ำเสมอ, ลดการบริโภคอาหารรสจัดประเภทหวาน มัน เค็ม เป็นต้น ย่อมช่วยให้มี “สุขภาพดี”ไปจนวันสุดท้ายของอายุขัยชีวิต “ตายสบาย” ไม่ต้องอยู่อย่างทนทุกข์ทรมานกับอาการป่วยเรื้อรัง

“กำมุนา วัตตะตี โลโก-สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม” ฉันใด!!!

“สุขภาพดีไม่มีขาย อยากได้ต้องสร้างและรักษาด้วยตัวเอง” ก็ฉันนั้น!!!

 

 
กำลังแสดงหน้าที่ 1 จากทั้งหมด 0 หน้า [หน้าถัดไปคือหน้าที่ 2] 1
 

 
เงื่อนไขแสดงความคิดเห็น
1. ทุกท่านมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเสรี โดยไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่กล่าวพาดพิง และไม่สร้างความแตกแยก
2. ผู้ดูแลระบบขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใด ๆ ต่อเจ้าของความคิดเห็นนั้น
3. ความคิดเห็นเหล่านี้ ไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมาย และไม่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับคณะผู้จัดทำเว็บไซต์

ชื่อ :

อีเมล์ :

ความคิดเห็นของคุณ :
                                  

              * ใส่รหัสจากภาพที่เห็นลงในช่องด้านล่าง และใส่คำตอบจากคำถาม เพื่อยืนยันการส่งความเห็น
  และสำลีสีอะไร
    

          ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการแสดงความคิดเห็นโดยสาธารณชน ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าชื่อผู้เขียนที่้เห็นคือชื่อจริง และข้อความที่เห็นเป็นความจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ boyoty999@google.com  เพื่อให้ผู้ดูแลระบบทราบและทำการลบข้อความนั้นออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้