รู้ทันภัย....
นำเข้าเมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2559 โดย จุฬา ศรีบุตตะ
อ่าน [58532]  

รู้ทันภัยข่มขืน .....

เหตุอาชญากรรมสะเทือนขวัญ ฆ่าปาดคอครูสาว อ.แก่งคอย จ.สระบุรีนำมาสู่การจับกุมนายชาตรี ร่วมสูงเนิน คนร้ายที่ก่อเหตุ ซึ่งอาศัยอยู่ห้องเช่าเยื้องๆ กัน รับสารภาพว่าต้องการจะข่มขืนและปล้นทรัพย์

ตามมาด้วยเสียงก่นประณามสาปแช่งคนร้าย ซึ่งประวัติเคยก่อเหตุข่มขืน ติดคุกมาแล้ว เพิ่งพ้นโทษมาแค่ 10 เดือน ก็ก่อเหตุครั้งนี้อีก เป็นวงจรซ้ำ
มีผู้บริสุทธิ์ตกเป็นเหยื่อเพิ่ม

กระแสเสียงบางส่วนต้องการให้ลงโทษคนร้ายคดีข่มขืนรุนแรงกว่าปัจจุบัน

บางคนถึงขนาดขอให้ลงโทษประหารชีวิต ตามบทกฎหมายสูงสุดสถานเดียว

แน่นอนว่า คงไม่มีใครอยากจะให้คนที่ตนรัก ตกเป็นเหยื่อคนร้าย

1) ไม่ใช่เหยื่อจากการข่มขืนทุกคน จะพร้อมเป็นเจ้าทุกข์ ดำเนินคดีตามกฎหมายกับอาชญากร

สะท้อนอุปสรรคบางอย่างที่ทำให้เหยื่อฝืนใจยอมกล้ำกลืนความขมขื่นไม่ดำเนินคดี เช่น ความอับอาย ถูกแบล็กเมล์ กระบวนการที่อาจเสมือนถูกข่มขืนซ้ำซ้อน ความไม่มั่นใจว่าจะได้รับความยุติธรรม ฯลฯ

เหยื่อมักสะเทือนใจ บางคนอาจจะอยากลืมเรื่องเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับตนเอง

2) ปัจจุบัน กรณีข่มขืนแล้วฆ่า โทษสูงสุดตามกฎหมายถึงขั้นประหารชีวิตอยู่แล้ว

3) ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เคยมีการนำเสนอผลการวิจัยทางสังคมศาสตร์ จากการเก็บข้อมูลภาคสนามด้วยการสัมภาษณ์ผู้กระทำผิดทางเพศคดีข่มขืนในเรือนจำต่างๆ ทั่วประเทศ 12 แห่ง กลุ่มตัวอย่าง 444 ราย และทำการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกผู้กระทำผิดทางเพศ 10 ราย และเหยื่ออาชญากรรมทางเพศ7 ราย คุณจุฑารัตน์ เอื้ออำนวย ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ บทความวิชาการเรื่อง “ผู้หญิงไทยกับภัยอาชญากรรมทางเพศ” (2551)

ปรากฏข้อเท็จจริงที่น่าสนใจหลายประการ ขออนุญาตเก็บความ และมีข้อสังเกตเพิ่มเติม ดังนี้

1.ส่วนใหญ่ทั้งผู้กระทำผิดทางเพศและเหยื่อรู้จักกัน มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันมาก่อน ในฐานะบิดา คนรัก อดีตแฟน เพื่อนบ้าน คนรู้จักกัน ตลอดจนบุตร บุตรติดภรรยา หลาน และญาติ

บางกรณี ผู้กระทำผิดพบเห็นและนิยมชมชอบเหยื่อฝ่ายเดียว โดยเหยื่อไม่มีโอกาสทราบว่าตนกำลังอยู่ในสายตาของอาชญากรทางเพศ เมื่อช่องโอกาสอำนวย ก็ทำให้เหยื่อพลาดพลั้งเสียทีผู้กระทำผิดทางเพศผู้จ้องฉวยโอกาสได้ง่าย

2.ผู้กระทำผิดทางเพศไม่สามารถควบคุมยับยั้งพฤติกรรมที่เกิดจากแรงขับทางเพศของตนไปในทิศทางที่เหมาะสมได้ ผู้กระทำผิดทางเพศเหล่านี้เลือกเหยื่อที่เป็นผู้หญิงที่ยังบริสุทธิ์ หรือเสี่ยงต่อโรคภัยน้อยที่สุด เนื่องจากกลัวภัยอันตรายที่มาถึงตน ทั้งด้านสุขภาพอนามัย และอิสรภาพ คือกลัวเป็นเอดส์ และส่วนใหญ่หนีหรือฆ่าเหยื่อเพื่อปิดปาก เพราะกลัวเหยื่อซึ่งเป็นพยานคนสำคัญจะชี้ตัวได้ถูกต้อง

3.ส่วนมาก การข่มขืนเกิดขึ้นจากการตัดสินใจโดยฉับพลัน ประกอบกับช่องโอกาสเอื้ออำนวย ช่วงเวลาเหมาะสม และสถานที่เหมาะสมเป็นสำคัญ ดังนั้น เมื่อเหยื่อกับผู้กระทำผิดทางเพศอยู่ในช่วงโอกาส เวลา และสถานที่ประจวบเหมาะ จะมี “การตัดสินใจกระทำ” และ “การยับยั้งชั่งใจ” เป็นตัวชี้ขาดว่าการข่มขืนจะเกิดขึ้นหรือไม่

4.การข่มขืนจำนวนมาก ผู้ก่อเหตุไม่ได้ทำร้ายร่างกายเหยื่อ โดยที่เหยื่อก็ไม่ได้เต็มใจ แต่เป็นเพราะเหยื่อมีความอ่อนแอทางชีวภาพ ร่างกาย รวมถึง
ผู้กระทำผิดมีอำนาจอยู่เบื้องหลัง เช่น เป็นผู้ปกครอง ผู้อุปการะ บิดา จำนวนคนที่มากกว่า มีอาวุธ มีพละกำลังเหนือกว่า เป็นต้น

5.ข้อมูลสำคัญที่พบจากการวิจัย บ่งชี้ว่า “ภาพลักษณ์ของเหยื่อในสายตาของผู้กระทำผิดทางเพศ” ได้รับการจัดลำดับดังนี้ คือ

“รูปร่างหน้าตา” อันดับแรก โดยพิจารณาจาก “หุ่นดี-ขาวอวบ-ขาสวย-หน้าอกใหญ่” ตามลำดับ

“การแต่งกาย” เป็นอันดับที่สอง โดยพิจารณาจาก “นุ่งสั้น-รัดรูป-เสื้อ/ชุดบาง-สายเดี่ยว/เกาะอก” ตามลำดับ

“การที่เหยื่อเปิดโอกาสให้” เป็นอันดับที่สาม โดยพิจารณาจากการที่ “ยอมติดตามไปด้วย-ใกล้ชิดสนิทสนม-เหยื่อมีอาการมึนเมา-ผ่านมาในที่เปลี่ยวตามลำพัง” ตามลำดับ

6.ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ก่อเหตุ

พบว่า เหตุข่มขืนส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้สว่าง คือ 02.01-06.00 น.

ส่วนใหญ่ เกิดขึ้นในบ้านของผู้กระทำผิดทางเพศเอง บ้านญาติ และบ้านเพื่อน คนรู้จักตามลำดับ

เหยื่อที่ถูกข่มขืนมีลักษณะเช่นเดียวกับผู้หญิงส่วนใหญ่ในสังคมไทย ที่ไม่เคยเตรียมการป้องกันตนเองจากการถูกข่มขืน โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในบ้านของตนเอง เช่น การเตรียมสเปรย์ไว้ใกล้มือที่สามารถหยิบใช้ได้ทันที เพื่อหยุดยั้งพฤติกรรมเบื้องต้นของผู้คุกคามที่มีกำลังมากกว่า หรือแม้แต่เตรียมอาวุธบางอย่างเพื่อป้องกันตนเอง

7.งานวิจัยดังกล่าว มีข้อเสนอแนะที่น่าสนใจว่า วิธีการป้องกันภัยข่มขืนสำหรับหญิงในสังคมนี้ มีผลกระทบโดยตรงต่อการลดอัตราการถูกข่มขืน

วิธีการลดอัตราการถูกข่มขืนที่สำคัญยิ่งวิธีหนึ่ง คือ การทำความเข้าใจร่วมกันของผู้คนในสังคม เกี่ยวกับลักษณะทางสังคมวิทยาของการข่มขืน เมื่อเข้าใจแล้วจำเป็นต้องสร้าง “การกระทำร่วมกัน” เพื่อลดเงื่อนไขทางสังคมที่ทำให้ผู้หญิงง่ายต่อการตกเป็นเหยื่อ การมีองค์กรภาคเอกชนหน่วยต่างๆ โดยลำพังกระทำได้ไม่สมบูรณ์นัก เพราะศูนย์เหล่านี้ช่วยสอนให้หญิงป้องกันตนเองมิให้ตกเป็นเหยื่อได้ดีแต่ไม่ได้ลดภาวะคุกคามในการข่มขืนลง

แม้ว่าหน่วยงานเหล่านี้ ช่วยสอนในเรื่อง “การป้องกัน” ได้ แต่“การลงโทษ” ที่สถาบันซึ่งทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายดำเนินการอยู่ ก็มิได้ส่งผลให้เกิดการข่มขู่ยับยั้งการกระทำผิดแต่อย่างใด ทั้งผู้ข่มขืนก็มิได้ได้รับการบำบัดแก้ไขฟื้นฟูพฤติกรรม ทั้งในและนอกระบบใดๆ ที่อาจสร้างความเชื่อมั่นได้ว่า จะไม่หวนมากระทำผิดซ้ำอีก

“ปลายทาง หรือก็คือในส่วนของการจับกุม-ดำเนินคดี-ตัดสินโทษ ต้องมีความเด็ดขาด ทำให้เห็นว่าหากกระทำผิดด้วยการข่มขืนแล้วจะต้องถูกจับกุมและได้รับโทษเป็นการคุมขังอย่างแน่นอน และอาจทำให้เป็นคดีที่ไม่สามารถยอมความกันได้ในทุกกรณี (ซึ่งส่วนนี้อาจยังต้องถกเถียงกันในเรื่องความแม่นยำของกระบวนการยุติธรรม ว่าจะจับถูกคนในทุกกรณีหรือไม่) ทว่า ก็จะมีความกังวลต่อไปว่าการคุมขังจะยาวนานเพียงพอต่อการสำนึกผิดและไม่กลับออกมากระทำผิดซ้ำหรือไม่ ในส่วนนี้อาจจะต้องไปปรับแก้กันที่กระบวนการลดหย่อนผ่อนโทษหลังจากถูกคุมขังแล้ว การข่มขืนในบางลักษณะอาจถูกจัดให้เป็นคดีที่ห้ามลดหย่อนผ่อนโทษ ต้องรับโทษทัณฑ์ยาวนานเท่าที่ศาลได้กำหนดไว้เมื่อคดีสิ้นสุดเป็นเด็ดขาด”

8.งานวิจัยยังบอกด้วยว่า คดีข่มขืน บ่อยครั้งหรือแทบจะทุกครั้ง ไม่ได้เป็นการกระทำโดยมีการตระเตรียมการวางแผนอย่างดีเป็นเวลานาน หากแต่เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วนในทันทีที่สบโอกาส และบ่อยครั้งอีกเช่นการที่มีแอลกอฮอล์หรือยาเสพติดชนิดอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น ในภาวะที่สติสัมปชัญญะหละหลวมเช่นนั้น ไม่น่าจะมีใครมาทันคิดถึงโทษทัณฑ์อันรุนแรงที่ตนเองจะได้รับ

ยังไม่ต้องนับว่า แม้ในสภาพสติอันสมบูรณ์ครบถ้วน คนส่วนใหญ่ก็หารู้ไม่ว่าคดีแต่ละอย่างนั้นมีโทษทัณฑ์รุนแรงเพียงไหน อย่างไรบ้างเช่นนั้นแล้ว ไม่ว่าจะแนวทางของการเพิ่มโทษให้รุนแรงเด็ดขาด หรือการเพิ่มโอกาสในการถูกจับดำเนินคดีให้สูงถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็อาจไม่ได้มีผลอะไรต่อการลดอัตราการก่อคดีทั้งนั้น และต่างก็อาจเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ทั้งคู่ก็เป็นได้ เช่นนั้นแล้ว ที่น่าพิจารณาอีกทางอาจคือการพยายามทำให้ไม่เกิดหรือมีสถานที่และโอกาสที่เอื้ออำนวยให้เกิดการข่มขืน น่าจะเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณา เนื่องจากการข่มขืนเป็นเรื่องของการกระทำด้วยสบโอกาส หากลดโอกาสที่จะสบ ก็อาจจะช่วยลดการพบการกระทำ

ทั้งหมดนี้ เป็นการเก็บสาระสำคัญที่น่าสนใจยิ่งจากงานวิจัย ซึ่งถ้าเราจะแก้ปัญหาสังคมใดๆ ก็ตาม ควรจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความรู้ความเข้าใจ มิใช่ด้วยอารมณ์อย่างเดียว

สารส้ม


 

 

 
กำลังแสดงหน้าที่ 1 จากทั้งหมด 0 หน้า [หน้าถัดไปคือหน้าที่ 2] 1
 

 
เงื่อนไขแสดงความคิดเห็น
1. ทุกท่านมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเสรี โดยไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่กล่าวพาดพิง และไม่สร้างความแตกแยก
2. ผู้ดูแลระบบขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใด ๆ ต่อเจ้าของความคิดเห็นนั้น
3. ความคิดเห็นเหล่านี้ ไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมาย และไม่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับคณะผู้จัดทำเว็บไซต์

ชื่อ :

อีเมล์ :

ความคิดเห็นของคุณ :
                                  

              * ใส่รหัสจากภาพที่เห็นลงในช่องด้านล่าง และใส่คำตอบจากคำถาม เพื่อยืนยันการส่งความเห็น
  และสำลีสีอะไร
    

          ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการแสดงความคิดเห็นโดยสาธารณชน ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าชื่อผู้เขียนที่้เห็นคือชื่อจริง และข้อความที่เห็นเป็นความจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ boyoty999@google.com  เพื่อให้ผู้ดูแลระบบทราบและทำการลบข้อความนั้นออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้