“เปิดช่อง” ให้ยาเสพติดระบาดง่ายกว่าเดิม!!!
นำเข้าเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2559 โดย นางมิ่งกมล แสนพวง
อ่าน [58533]  

.....

Twe

ถือเป็น “เรื่องฮือฮา” รับเดือนมิถุนายน เดือนที่มี “วันต่อต้านยาเสพติดโลก” ขึ้นมาทันที กรณี “บิ๊กต๊อก” พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยธ.) กล่าวเมื่อ15 มิ.ย. 2559 อ้างถึงผลการประชุมสมัยพิเศษของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติด (UNGASS) ประจำปี 2016 (พ.ศ.2559) ที่ระบุว่า..

“โลกประกาศสงครามกับยาเสพติดมานาน..แต่ไม่เคยเอาชนะได้อย่างเด็ดขาด”!!!

“ฉะนั้นจึงต้องกลับมาทบทวนว่า..แล้วเราจะอยู่ร่วมกับยาเสพติดได้อย่างไร?”!!!

พล.อ.ไพบูลย์ ยังกล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับประเทศไทย กรณีของ “แอมเฟตามีน” (Amphetamine) หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่าเป็นสารเคมีที่ใช้ผลิต“ยาบ้า” ดังนั้น ตนจะไปหารือกับทั้งกระทรวงสาธารณสุข ศาล อัยการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ

ถึงแนวทางที่จะ “ถอนแอมเฟตามีนออกจากบัญชียาเสพติดร้ายแรง” ว่าเป็นไปได้หรือไม่?!!!

ที่มาของแนวคิดนี้ พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า เป็นเพราะกฎหมายฟื้นฟูกับกฎหมายยาเสพติดที่ใช้อยู่ในปัจจุบันขัดแย้งกัน อาทิ หากโดนจับกุมในคดีพกพายาเสพติด 1 เม็ด ก็มีโทษจำคุก 25 หรือ 15 ปี ซึ่ง “สวนทาง” กับนโยบายด้านยาเสพติดของรัฐที่บอกว่า “ผู้เสพคือผู้ป่วย” และย้ำด้วยว่า “การปราบปรามยังคงทำเช่นเดิม” แต่ไม่ใช่เน้นการปราบปรามเพียงด้านเดียวอย่างที่เคยทำมา แต่ต้องทำทั้ง 3 ด้านพร้อมกัน คือ ปราบปรามป้องกัน และบำบัดฟื้นฟู ดังนั้น ระบบฟื้นฟูถือเป็นเรื่องสำคัญกับเรื่องนี้ที่จะทำ และการป้องกันก็สำคัญ

แต่ตราบใดที่ “กฎหมายยังไม่ถูกแก้” ย่อมยากที่จะเดินไปถึงจุดนั้นได้!!!

“หลายประเทศก็ยกเลิกวิธีแก้ปัญหายาเสพติดด้วยการปราบนานเป็นสิบปีแล้ว และหลายประเทศก็หมดปัญหาไปแล้ว เขาก็มองผู้ติดยาเสพติดคือผู้ป่วย ต้องได้รับการดูแลจากหมอ จึงอยากทำความเข้าใจกับประชาชนทุกคนให้ยอมรับ” รมว.ยธ. ระบุ

นอกจากนี้ พล.อ.ไพบูลย์ ยังกล่าวด้วยว่า ตนพยายามผลักดัน “ประมวลกฎหมายยาเสพติด” ที่ขณะนี้อยู่ในการดำเนินการของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยสาระสำคัญคือ เปิดช่องให้ศาลมีโอกาสใช้ดุลยพินิจในการลงโทษจำคุก หรือการปรับที่น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิด
นั้น เมื่อมีเหตุอันสมควรเฉพาะราย โดยพิจารณาถึงความร้ายแรงของการกระทำความผิด ฐานะของผู้กระทำความผิด และพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้อง

เชื่อว่า..กฎหมายใหม่นี้จะเป็นการ “ปฏิรูป” มาตรการว่าด้วยคดียาเสพติดในไทยทั้งระบบ!!!

แนวคิดนี้ใช่ว่าเพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก ย้อนไปเมื่อ 30 เม.ย. 2558 นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เคยกล่าวในเวทีเสวนา “สงครามยาเสพติด คุกและเหยื่อผู้ต้องขังหญิง” ณ โรงแรมมิคาเคิล แกรนด์ หลักสี่ กทม. ว่า ปัจจุบันเรือนจำต่างๆ ในประเทศไทยประสบปัญหา “นักโทษล้นคุก” ซึ่งจำนวนมากเป็นผู้ต้องขังคดียาเสพติด

โดยมีสาเหตุมาจากกฎหมายที่ “เหวี่ยงแห” เช่น หากเป็นยาเสพติดประเภท 1 ซึ่งยาบ้าอยู่ในกลุ่มนี้ การนำเข้ามาในประเทศไทยไม่ว่าปริมาณเท่าใดและด้วยเหตุผลใดก็ตาม โทษคือจำคุกตลอดชีวิต อันเป็นผลมาจากนโยบายสงครามยาเสพติด ทำให้สังคมรู้สึก “โกรธแค้นและเกลียดกลัว” ผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ไม่ว่าจะในมิติใดก็ตาม

“เจตนารมณ์ของกฎหมายบทนั้นไม่มีความประสงค์จะลงโทษผู้หญิงคนไทยที่ไปซื้อยาบ้าจากประเทศลาวกินเพียงเม็ดสองเม็ด แล้วกินไม่หมดก็เหลือติดตัวเข้ามาในประเทศด้วยโทษจำคุกตลอดชีวิต แต่ผู้หญิงคนนั้นก็ถูกจับกุมดำเนินคดีด้วยข้อหาเป็นอาชญากรร้ายแรง ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตสถานเดียว ถูกฟ้องโดยอัยการ และถูกศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิตในนามแห่งกฎหมาย

ผู้หญิงคนนั้นรับสารภาพว่าซื้อยาเสพติดมากินแล้วเหลือจึงพาเข้ามาในประเทศจริง ก็ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 25 ปีเราออกกฎหมายแบบนี้ ใช้บังคับแล้วตีความกันแบบนี้มาเล่นงานประชาชนของเราได้หน้าตาเฉย ทั้งๆ ที่ชัดเจนว่าไม่ได้เป็นผู้ค้ายาเสพติด เราปล่อยให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นตำตาอยู่ไม่รู้สึกรู้สาอะไรเลย” นายจรัญ ระบุ

ด้าน นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวกับ “สกู๊ปแนวหน้า” ยืนยันว่า “ไทยเป็นประเทศเดียวในโลก” ที่กำหนดให้แอมเฟตามีนเป็น“ยาเสพติดร้ายแรง” ขณะที่ประเทศอื่นๆ กำหนดให้เป็นเพียง “ยาควบคุม”ที่การซื้อหาและการใช้จะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างเคร่งครัดเท่านั้น จึงต้องผลักดันให้เกิดการแก้ไข เพราะปัจจุบันมีผู้ถูกจับกุมคุมขัง โดยเฉพาะ “ผู้หญิง” อยู่ในเรือนจำเป็นจำนวนมาก

ทั่วโลกมองว่า “โทษนั้นรุนแรงเกินไป”!!!

“ขณะนี้ผลกระทบสำคัญคือผู้หญิงไทยติดคุกอยู่ในเรือนจำเป็นอัตราที่สูงที่สุดในโลก ทั่วโลกเขารู้กันแล้วเขาคิดว่าประเทศไทยแก้ปัญหานี้โอเวอร์เกินไป เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ผ่านครม. ไปแล้ว กำลังอยู่ในชั้นกฤษฎีกา ส่วนจะลดลงมาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 2 3 4 หรือวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท อันนี้ก็ต้องคุยรายละเอียดกันในชั้นกฤษฎีกาและ สนช. แต่ไม่ใช่การซื้อหากันเสรี มันต้องควบคุม คือแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยในกรณีผู้มีความเจ็บป่วย และจ่ายในปริมาณเท่าที่จำเป็น” นพ.อภิชัย อธิบาย

แม้แนวคิดดังกล่าวจะมีเจตนาดีแต่ก็ใช่ว่าจะ “ไม่มีข้อกังวล” ดังที่ ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล อาจารย์ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่าในต่างประเทศมีการใช้แอมเฟตามีนเป็นส่วนผสมของยาบางประเภท เช่น รักษาโรคอ้วนแบบที่รักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ หรือรักษาโรค “นาร์โคเลปซี” (Narcolepsy)ซึ่งมีอาการง่วงง่ายหลับง่ายผิดปกติ เป็นต้น แต่ก็อาจมี “ผลข้างเคียง” หากใช้ในปริมาณมาก อาทิ เกิดอาการประสาทหลอน ซึมเศร้า รวมถึง “เสพติด” การใช้ยาได้

“เมื่อยกเลิกแล้วคนจะครอบครองสารนี้ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย หากนำมาใช้อย่างไม่เหมาะสม เช่น ใช้เกินขนาดไม่ได้ใช้ภายใต้การดูของแพทย์ และใช้จนเสพติดก็จะมีผลเสียอย่างที่กล่าวมาข้างต้น ดังนั้นคงต้องช่วยกันพิจารณาให้ถ่องแท้ว่าจะนำข้อดีมาใช้อย่างไร โดยป้องกันข้อเสียที่อาจเกิดขึ้นทั้งต่อตัวบุคคลและสังคม” นพ.พิสนธิ์ ฝากข้อคิด

ข้อมูลจากกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า ณ วันที่ 1 ม.ค. 2558 มีนักโทษคดียาเสพติดในเรือนจำ เป็นชาย 190,346 คน เป็นหญิง 37,955 คน รวม 228,301 คน คิดเป็นร้อยละ 70.17 ของจำนวนนักโทษทั้งหมด ซึ่ง พล.อ.ไพบูลย์ มีแนวคิดว่าควรแยกคนเหล่านี้ออกเป็นกลุ่มๆ เพื่อใช้มาตรการแตกต่างกันไปตามระดับของพฤติการณ์แห่งความผิด นอกเหนือจากการลงโทษเพียงอย่างเดียว แต่ยังติดขัดที่ข้อกฎหมาย จึงนำมาซึ่ง “ข้อเสนอ” ในการปรับแก้ดังกล่าว

ที่ก็ต้องทำให้ “รอบคอบ” เช่นกัน..มิฉะนั้นแล้วอาจเป็นการ “เปิดช่อง” ให้ยาเสพติดระบาดง่ายกว่าเดิม!!!

หมายเหตุ : สกู๊ป “แป้งจอห์นสันกับมะเร็งรังไข่” หน้า 5 นสพ.แนวหน้า ฉบับจันทร์ที่ 20 มิ.ย. 2559 แก้ไขตำแหน่งของนพ.อภิชัย มงคล จาก “กรมวิทยาศาสตร์บริการ” เป็น “กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์” ขออภัยผู้อ่านมา ณ ที่นี้ด้วย

SCOOP@NAEWNA.COM

 

 
กำลังแสดงหน้าที่ 1 จากทั้งหมด 0 หน้า [หน้าถัดไปคือหน้าที่ 2] 1
 

 
เงื่อนไขแสดงความคิดเห็น
1. ทุกท่านมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเสรี โดยไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่กล่าวพาดพิง และไม่สร้างความแตกแยก
2. ผู้ดูแลระบบขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใด ๆ ต่อเจ้าของความคิดเห็นนั้น
3. ความคิดเห็นเหล่านี้ ไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมาย และไม่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับคณะผู้จัดทำเว็บไซต์

ชื่อ :

อีเมล์ :

ความคิดเห็นของคุณ :
                                  

              * ใส่รหัสจากภาพที่เห็นลงในช่องด้านล่าง และใส่คำตอบจากคำถาม เพื่อยืนยันการส่งความเห็น
  และสำลีสีอะไร
    

          ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการแสดงความคิดเห็นโดยสาธารณชน ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าชื่อผู้เขียนที่้เห็นคือชื่อจริง และข้อความที่เห็นเป็นความจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ boyoty999@google.com  เพื่อให้ผู้ดูแลระบบทราบและทำการลบข้อความนั้นออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้