ถ้าประเทศไทยจะเดินหน้าต่อไป” ...
นำเข้าเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2559 โดย  
อ่าน [58581]  

“ข้อควรคิดถ้าประเทศไทยจะเดินหน้าต่อไป” โดย สนธิ ลิ้มทองกุล.....

 
 
        เรียบเรียงจากการบรรยายพิเศษของ สนธิ ลิ้มทองกุล ที่มหาวิทยาลัยรังสิต 

 
“ข้อควรคิดถ้าประเทศไทยจะเดินหน้าต่อไป” โดย สนธิ ลิ้มทองกุล
        เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2559 นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ได้บรรยายพิเศษในงานประชุมบุคลากรของมหาวิทยาลัยรังสิต ถึงทศวรรษที่ 4 ของมหาวิทยาลัย กับการปฏิรูปการเรียนการสอน ทั้งนี้ คุณสนธิ ได้ทำการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ข้อควรคิดถ้าประเทศไทยจะเดินหน้าต่อไป” อาจกล่าวได้ว่า สิ่งที่คุณสนธิพูดในวันนั้น ไม่ใช่เป็นสิ่งที่พึงรับฟัง และทำความเข้าใจกับเรื่องราวเพียงสำหรับนักศึกษาและคณาจารย์ของสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยรังสิต แต่เพียงเท่านั้น แต่เป็นเรื่องราวที่สังคมไทยที่กำลังต้องการที่จะก้าวข้ามปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่รอบตัวพลเมืองทุกคนในขณะนี้ น่าจะรับฟังและตระหนักคิดไปพร้อม ๆ กัน
       
        คุณสนธิ กล่าวเกริ่นนำด้วยคำถามที่ว่า “เคยสงสัยกันว่า ประเทศไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?” “ซึ่งปัญหาที่เขาพูดถึงในจุดนี้เป็นคำถามที่นับวันแต่ละคนในสังคมไทยจะเฝ้าถามตัวเองมากขึ้นเรื่อย ๆ และแน่นอนว่า คำถามดังกล่าวนั้นเคียงคู่มากับการยอมรับถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนวัฒนธรรม ซึ่งนับวันดูเหมือนจะยังไม่มีกระบวนการแก้ปัญหาอย่างถูกจุด
       
        คำถามดังกล่าวที่ว่ามาข้างต้น ดูเหมือนจะเป็นคำถามที่เหมือนจะตอบง่าย แต่จริง ๆ แล้วยังไม่มีใครที่จะสามารถเรียงร้อยเรื่องราวทั้งหมดได้ในภาพรวม ตลอดจนอรรถาธิบายแบบตรงเป้าตรงประเด็น “สิ่งที่น่าสนใจที่คุณสนธิได้ตั้งหลักคิดขึ้นมาสั้น ๆ แต่ได้ใจความและถือเป็นหลักสัจจะที่สอดคล้องกับสังคมไทยเป็นอย่างมาก นั่นก็คือ กระบวนการเอาหลักธรรมมาหาคำตอบ 

 
“ข้อควรคิดถ้าประเทศไทยจะเดินหน้าต่อไป” โดย สนธิ ลิ้มทองกุล
        ทั้งนี้ คุณสนธิ ได้เริ่มต้นในการบรรยาย ด้วยการระบุถึงเรื่องว่าตนเองนั้นเป็นลูกศิษย์ของหลวงตามหาบัว ที่ได้รับหลักคิดในการค้นหาคำตอบในแต่ละเรื่องราวจากอาจารย์ผู้เป็นอริยะสงฆ์ โดยให้ยึดหลักสองประการด้วยกัน หนึ่งคือ ต้องเอาธรรมนำหน้า และสอง ต้องตั้งพุทโธอยู่ตลอดเวลา
       
       คุณสนธิ กล่าวว่า หลวงตากับตนตั้งแต่ครั้งที่โดนลอบสังหารด้วยลูกปืน 200 นัด ในวันที่ 17 เมษายน และได้มีชีวิตรอดมา เหมือนเกิดใหม่ หลวงตาได้บอกว่า เมื่อเริ่มชีวิตใหม่ ให้คำนึงเสมอว่า ชีวิตคนเรานั้นต้องยึดหลักธรรม และต้องมีพุทโธทุกขณะทุกลมหายใจ วันนี้ตนจึงจะพูดเรื่องประเทศไทยโดยใช้ธรรมมาพูด
       
        เรื่องเอาธรรมนำหน้านั้น คุณสนธิขยายความถึงเรื่องนี้ด้วยประโยคสั้น ๆ แต่เข้าใจได้ง่ายว่า เหตุที่ต้องเอาธรรมนำหน้า เพราะไม่มีอะไรเอาชนะธรรมได้ ธรรมคือความถูกต้อง ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่แก้ไม่ได้ด้วยธรรม ส่วนพุทโธนั้น หลวงตามหาบัว บอกว่า ชีวิตต้องมีพุทโธทุกขณะทุกลมหายใจ นั่นก็หมายถึงว่า ในการพิจารณาปัญหาอะไรนั้น ยึดหลักความถูกต้องด้วยหลักธรรม และพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ด้วยสติและความรอบคอบนั่นเอง
       
        การตอบคำถามสำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยนั้น คุณสนธิ กล่าวถึงการหยิบยกสิ่งที่เรียกว่า “ปฏิจจสมุปบาท” และ “อิทัปปัจจยตา” ขึ้นมา ทั้งนี้ ปฏิจจสมุปบาท เป็นขั้นตอนของการเกิด - มีอยู่ - ดับไป เป็นเรื่องของการมีเหตุมีปัจจัยวนเวียนกันเป็นขั้นตอน สังคมไทยปัจจุบันนั้น มองกันแต่ “Real-Time” นั่นก็คือ สนใจแต่เฉพาะ “ณ ขณะในปัจจุบัน” และก็ตัดสินใจไปตามนั้น แต่จริง ๆ แล้ว “ปฏิจจสมุปบาท” นั้นเป็นเรื่องของ “ห้วงเวลา” ไม่ใช่แค่ขณะใดขณะหนึ่ง และพอตัดสินใจด้วย Real-Time ก็ทำให้ละเลยที่จะดูเรื่องที่มาที่ไปว่ามันมีปัจจัยอย่างไรจึงเกิดเหตุ สำหรับการหาคำตอบอะไรบางอย่าง “ปฏิจจสมุปบาท” เป็นขั้นตอน เป็นกระบวนการ โดยที่ภาพรวมนั้น “อิทัปปัจจยตา” คือ กฎแห่งจักรวาล คือ หลักของการมีเหตุที่ส่งผลนั่นเอง เป็นเรื่องของเพราะ “มีสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น”
       
       คุณสนธิได้กล่าวถึงภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นสำหรับสถานการณ์โลกในรอบทศวรรษที่ผ่านมา โดยกล่าวถึง สิ่งที่เกิดขึ้น 4 ประการ ที่เรียกว่า “กติกาใหม่ของโลก” นั่นก็คือ 
       
       หนึ่ง การก้าวข้ามและการผสมผสานวัฒนธรรม
       สอง ความหลากหลาย ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลก
       สาม เครือข่าย ซึ่งก็มีทั้งเพื่อทำประโยชน์ และหาประโยชน์
       สี่ การพึ่งพากันและกัน

       
        ทั้งนี้ คุณสนธิ กล่าวว่า ทั้งหมดนี้ไม่ได้นำมาจากหนังสือหรือตำราที่ไหน ไม่ได้อ้างอิงจากนักวิชาการ หรือสถาบันการศึกษาใดในประเทศไทย หรือในต่างประเทศ แต่เป็นการสังเคราะห์จากประสบการณ์อันยาวนานที่ได้มาจากการพบปะสัมผัสผู้คน การอ่านหนังสือ การวิเคราะห์วิจัย การศึกษาธรรม แล้วก็ตกผลึกเป็นองค์ความรู้ ซึ่งเมื่อนำประสบการณ์ทั้งหมดผ่านกระบวนการจนเป็นองค์ความรู้ที่เมื่อนำมาผสมผสานกับหลักธรรมแล้ว สิ่งนี้จะไม่ตกยุค หยิบยกขึ้นมาเมื่อไรก็ทันสมัยเมื่อนั้น
       
        “สังเกตไหมว่า เดี๋ยวนี้เราเห็นอะไรบ้างในโลกนี้ ใครจะไปนึกว่าวันนี้ มหาวิทยาลัยรังสิต จะมีนักศึกษานานาชาติมาเรียนเยอะแยะไปหมด ใครจะไปนึกว่ามีคนจีนมาจากแผ่นดินใหญ่มาขโมยอาชีพคนไทยขายผัก ขายผลไม้ อยู่ที่ตลาดไท ใครจะนึกว่าเดินเข้าไปในร้านผัดไทย คนที่ผัดไทยให้เรากิน คือ คนพม่า ใครจะไปนึกว่าคนที่มาทำงานในบ้านเราเป็นไทยใหญ่ ใครจะะนึกว่าเจ้าของกิจการที่มาลงทุนในหลาย ๆ สาขา ไม่ใช่คนไทย” 

 
“ข้อควรคิดถ้าประเทศไทยจะเดินหน้าต่อไป” โดย สนธิ ลิ้มทองกุล
        คุณสนธิ กล่าวว่า เนื้อหาที่พูดมาข้างต้นนี้ ก็คือ เรื่องที่ตนพูดถึงสิ่งที่เรียกกว่า “Cross-cultural” หรือ “การก้าวข้ามและผสมผสานวัฒนธรรม”นั่นเอง นอกจากนี้ คุณสนธิ ยังกล่าวด้วยถึงเรื่องที่ตนเองจำได้ถึงสมัยเด็ก ๆ ที่ชอบไปเดินถนนคอนแวนต์ และบอกว่า ให้ลองไปดูถนนคอนแวนต์ในวันนี้ก็จะเห็นฝรั่ง เห็นแขก เห็นจีน เห็นต่างชาติเต็มไปหมด เราจะเห็นชาวอิตาเลียนมาเป็นเจ้าของอาหารร้านอิตาลี เราเห็นเชฟชาวต่างชาติจากประเทศนั้นประเทศนี้ มาเปิดกิจการโน่นกิจการนี่ในพื้นที่ประเทศไทย และอาจจะเกิดขึ้นในใจกลางของสังคมไทยอย่างแถวถนนข้าวสารที่อยู่ในเขตเมืองเก่าของเรานี่แหละ ทั้งหมดนี้ก็คือการก้าวข้ามและการผสมผสานวัฒนธรรมต่าง ๆ
       
       สำหรับเรื่องนี้ ให้ระวังถึงประเด็นของการสร้างอิทธิพลโดยตะวันตก ผ่านการก้าวข้ามวัฒนธรรม เป็นเรื่องที่เราจะต้องใส่ใจในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้อำนาจในรูปแบบที่ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า Soft Power ที่ชาติตะวันตกเพื่อต้องการที่จะสร้างอิทธิพลในเชิงครอบงำเหนือประเทศอื่นผ่านทางวัฒนธรรมหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นผ่านหนังฮอลลีวูด หรือผ่านเรื่องราวในชีวิตประจำวัน อย่างเช่นวัฒนธรรมอาหารฟาสต์ฟูดเป็นต้น
       
       “ยกตัวอย่างเช่น เรานึกภาพอาหารแดกด่วน แมคโดนัลด์ เคนตักกีฟรายด์ชิกเกน เบอร์เกอร์คิง วัฒนธรรมทางตะวันตกที่แทรกซึมเข้ามา จนกระทั่งเด็กของเราเดี๋ยวนี้ ให้กินขนมจีนน้ำยาปูไม่อยากกิน แต่บอกแม่ว่า หนูขอเคนตักกีฟรายด์ชิกเกนได้ไหม เด็กสมัยนี้ไม่รู้จักปลาบู่ทอง ไม่รู้จักศรีธนญชัย ไม่รู้จักตัวละครต่าง ๆ ในนิทานพื้นบ้านไทยกันแล้ว เด็กสมัยนี้รู้จักแต่เอลซ่า รู้จักแต่โอลาฟ*” (*หมายเหตุ – เป็นตัวละครในการ์ตูนฝรั่งเรื่อง Frozen) 
       
       ต่อมา เมื่อเกิดสิ่งที่เรียกว่า การก้าวข้ามและการผสมผสานวัฒนธรรมต่าง ๆ เหล่านี้ขึ้นมา สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือสิ่งที่เรียกว่า “ความหลากหลาย” และความหลากหลายนี่เอง เป็นอะไรบางอย่างที่มันอยู่กับเรา โดยบางครั้งเราอาจไม่รู้ตัว
       
       “สมัยผมหนุ่ม ๆ แม่ผมเปิดร้านขายกาแฟ ขายของโชวห่วยด้วย ผมยังเด็ก ๆ อยู่ เรียนอยู่อัสสัมชัญศรีราชา พอกลับมาบ้านที คนมาซื้อสบู่ ผมจำได้ สบู่มีอยู่ 4 ยี่ห้อ ลักซ์ คาเมย์ นกแก้ว สบู่กรด เดี๋ยวนี้คุณลองสั่งลูกหลานคุณดูสิ ว่า เฮ้ย ไอ้หนู เอ็งไปซื้อสบู่มาก้อนหนึ่ง มันจะตวาดแว้ดเลย ลุง...สบู่อะไร สบู่ดับกลิ่นเต่า สบู่สำหรับคนผิวมัน สบู่สำหรับคนผิวแห้ง สบู่ทำให้ผิวขาว สบู่หอม สบู่ออแกนิกส์ สบู่โน่นสบู่นี่ จำได้ไหมสมัยเราหนุ่ม ๆ โตโยต้ามีกี่รุ่น โตโยต้า มีแค่ โตโยต้าคราวน์ โตโยต้าโคโรนา และโตโยต้าโคโรลา มีอยู่แค่นี้ วันนี้ใครไล่รุ่นของโตโยต้าที่ขายในประเทศไทยให้ผมได้ ผมจะให้รางวัล มันเยอะแยะไปหมด แค่คัมรีรุ่นเดียวก็แยกย่อยไปเยอะ มีรุ่นสปอร์ต มีรุ่นไฮบริด มีรุ่นนู่นนี่ นี่แค่คัมรี่ ยังไม่นับรุ่นอื่น ๆ ของโตโยต้านะ นี่คืออะไร นี่คือ Diversity หรือ ความหลากหลาย ที่มันส่วนหนึ่งของสังคมโลกไปแล้ว”
       
       เมื่อมีความหลากหลายแล้ว สิ่งที่ตามความหลากหลายมา ก็คือ สิ่งที่เรียกว่า “เครือข่าย” หรือ Networking เมื่อพูดถึงเครือข่าย ก็จะต้องบอกว่า เครือข่ายนั้นมีอยู่สองฝั่ง มีทั้งสร้างความเจริญและมีทั้งฝั่งที่ไปสู่ความเสื่อม ทั้งนี้ เมื่อเครือข่ายเกิดขึ้น สิ่งที่ตามมาก็คือจะเกิดในสองแนวทาง แนวทางแรกคือ เครือข่ายเพื่อทำประโยชน์ กับอีกแนวทางหนึ่งก็คือ เครือข่ายเพื่อหาประโยชน์ 

 
“ข้อควรคิดถ้าประเทศไทยจะเดินหน้าต่อไป” โดย สนธิ ลิ้มทองกุล
        เครือข่ายเพื่อทำประโยชน์ อย่างเช่น เครือข่ายอาจารย์มหาวิทยาลัย เครือข่ายหมอ หรือเครือข่ายอะไรก็ตามที่ช่วยกันพัฒนาสายงาน หรือพัฒนาความรู้ความสนใจร่วมกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ยกตัวอย่าง มีนายแพทย์คนหนึ่งอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเชี่ยวชาญทางด้านใดด้านหนึ่ง เมื่อหมอในต่างประเทศ หรือในพื้นที่อื่นติดต่อไป ถามว่า โรคแบบนี้ ผมเจอมาแบบนี้ คุณคิดว่าจะแก้อย่างไร ก็ปรึกษาหารือกันไป หรือแม้แต่เครือข่ายหมอทางอเมริกาติดต่อมาทางหมอในเมืองไทย บอกว่าที่ประเทศของเขามีคนเอเชียที่เข้ามาอาศัยป่วยขึ้นมา แล้วมีการตรวจเจอโรคแบบนี้ ผมไม่เคยเห็น คุณบอกผมหน่อยได้ไหมว่ามันเป็นอย่างไร ตัวอย่างที่ยกมานี้ คือเครือข่ายทำประโยชน์
       
       “แต่เครือข่ายอีกฝั่ง หนึ่ง คือเครือข่ายหาประโยชน์ ซึ่งถ้าพูดถึงเรื่องนี้ ก็ต้องเท้าความแบบพูดจาตรงไปตรงมา ที่ต้องเอ่ยถึงกลุ่มเครือข่ายลักษณะ เช่น วปอ. หรือวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ซึ่งปัจจุบันคือเครือข่ายลักษณะเช่นนี้ได้พัฒนารูปไปสู่กลุ่มเครือข่ายหาประโยชน์ดังที่กล่าวถึง”
       
       สำหรับเรื่องนี้ หากย้อนกลับไปเมื่อสมัยก่อน จุดเริ่มต้นนั้น วปอ. เป็นที่เรียนของข้าราชการ เพื่อเรียนเรื่องความมั่นคงของชาติ เรียนว่า ประวัติศาสตร์ชาติเป็นอย่างไร เรียนว่าควรจะเตรียมตัวอย่างไร แต่ต่อมาในช่วงหลัง ยุคที่โลกเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ที่ระบบทุนนิยมสยายปีกครอบคลุมไปทั่ว สำหรับเมืองไทยแล้ว อาจจะกล่าวได้ว่า อิทธิพลของทุน ได้เริ่มเข้ามาในยุค พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ในยุคนั้นเอง ก็เลยมีการปรับบทบาทของกลุ่มเครือข่าย ดังเช่น วปอ. มีการเปิดหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน หรือ ปรอ. ขึ้นในปี พ.ศ. 2532 โดยเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจเอกชนและเจ้าของกิจการเข้าไปเรียนด้วย กลายเป็นการสร้างเครือข่ายเชื่อมสัมพันธ์กันในหมู่ข้าราชการระดับบริหารกับนักธุรกิจขึ้นมา
       
        “ในทุกวันนี้ เครือข่ายถูกสร้างขึ้นมาเต็มไปหมด ตลาดหลักทรัพย์ ก็สร้างหลักสูตรขึ้นมา บยส. กระบวนการยุติธรรมก็สร้างหลักสูตรขึ้นมา คนโน้นสร้างหลักสูตร คนนี้สร้างหลักสูตร เพียงเพื่อคำพูดคำเดียว คือ เพื่อให้เกิดเครือข่าย แต่เอาเข้าจริงกลับเป็นว่า หลายแห่งกลายเป็นเครือข่ายเพื่อหาประโยชน์ประมาณว่า ...เฮ้ย ไอ้นี่มันรุ่นผม เดี๋ยวผมพูดให้ ไม่มีปัญหาอะไร พรรคพวกกัน เดี๋ยวช่วย นี่คือเครือข่ายหาประโยชน์ เหมือนเทคโนโลยี เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปก็มีผลอยู่ 2 ทาง เราใช้เทคโนโลยีเพื่อทำประโยชน์ กับเราใช้เทคโนโลยีเพื่อหาประโยชน์ สองทางนี้คือได้ทั้งความเจริญและความเสื่อม” 

 
“ข้อควรคิดถ้าประเทศไทยจะเดินหน้าต่อไป” โดย สนธิ ลิ้มทองกุล
        ท้ายสุด ข้อที่ 4 ก็คือ “การพึ่งพาซึ่งกันและกัน” หรือภาษาอังกฤษว่า Interdependence ทั้ง 1 2 3 และ 4 คือ การพึ่งพาซึ่งกันและกันนี้นำไปสู่กติกาโลกใหม่ขึ้นมา New Set of Rules นี้ ถ้าใช้ทำประโยชน์ ก็มีประโยชน์ แต่กลายเป็นว่า กติกาตรงนี้ ไม่ได้ถูกโครงสร้างใหญ่ทางสังคมนำไปใช้ประโยชน์ หากแต่ถูกคนเฉพาะกลุ่ม คือ กลุ่มทุน ไม่ว่าจะเป็น ทุนจีน ทุนอินเดีย ทุนฝรั่ง ทุนไทย แต่ละกลุ่มเอากติกาตรงนี้มาใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มความมั่งคั่งให้กับเฉพาะกลุ่มของตัวเอง
       
        “แล้วคนที่เสริมสร้างความมั่งคั่งให้กับกลุ่มพวกนี้คือใครหล่ะ ใคร นั่งอยู่นี่ หน้าสลอนเลย เป็นหนี้เป็นสินเขาไปหมดเลย ใช่ไหม เอ้า ถึงเวลาแล้ว ชอปปิ้ง ถึงเวลาแล้ว ซื้อของ 15,000 บาท เอา 15,000 บาท ไปลดภาษีได้ คนได้ก็คือนายทุนทั้งนั้น คนซวยก็คือคนส่วนใหญ่ในสังคมที่ถูกหลอกให้ไปจับจ่าย เฮ้ย มันลดภาษีได้ นี่คือลักษณะเครือข่ายเพื่อหาประโยชน์” คุณสนธิ กล่าวตบท้ายว่า สิ่งที่พูดมาข้างต้นนี้ เกิดขึ้นในประเทศไทยมาทุกยุคทุกสมัย ไม่เคยเปลี่ยนแปลง
       
       “เมื่อกี้ผมเจออาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ผมอยากจะบอกกับอาจารย์เอนก และใคร ๆ ในคณะรัฐศาสตร์ว่า ให้ไปดูดี ๆ รัฐธรรมนูญทุกรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมา รัฐบาลทุกรัฐบาลที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยครึ่งใบ ที่เขาเรียกสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ หรือรัฐบาลชุดประชาธิปไตยเต็มใบ สมัย พล.อ.ชาติชาย ไล่มาเรื่อย หรือยุคของ รสช. ของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ยุคไหนก็ตาม หรือจนมาถึงยุคของ คสช. ที่กำลังร่างอยู่นี้ ไม่ว่า นายกฯ จะมาอย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญจะสร้างโดยคุณมีชัย จะร่างโดยคุณบวรศักดิ์ จะร่างโดยคุณวิษณุ เครืองาม หรือร่างโดยใคร สำหรับผมแล้วไม่มีความหมาย เพราะนั่นคือกรอบที่สร้างเอาไว้ ซึ่งกรอบเปลี่ยนไปเรื่อย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดไหน ชุด พล.อ.ชาติชาย รัฐบาลชุด พล.อ.ชวลิต รัฐบาลชุด พล.อ.เปรม รัฐบาลชุดเผด็จการ และรัฐบาลชุด คสช. จะอยู่ต่ออีก 5 ปี สำหรับผมแล้วไม่มีความหมาย” และ คุณสนธิ ก็กล่าวต่อไปว่า ที่พูดมาเช่นนั้นว่าไม่ว่ายุคไหนรัฐบาลไหนสำหรับตัวเขาไม่มีความหมาย นั่นก็เพราะว่าสาระในกรอบนั้นคือ การถูกผูกขาดโดยทุน” 

 
“ข้อควรคิดถ้าประเทศไทยจะเดินหน้าต่อไป” โดย สนธิ ลิ้มทองกุล
        มากล่าวถึง “ทุนที่ผูกขาด” ก็คือ การพูดถึงสิ่งที่มีบทบาทกำหนดทิศทางเดินของประเทศไทยในอนาคตข้างหน้า กำหนดอยู่ ณ ปัจจุบัน และกำหนดมาแล้วในอดีต คุณสนธิ ย้ำว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่มีวันเปลี่ยน
       
        “คนที่ขึ้นมาเป็นนายกฯ คนที่ขึ้นมาเป็นรัฐบาล ชอบพูดอยู่คล้าย ๆ กันว่า ผมทำงานเพื่อคนไทย 60 ล้านคน แต่ข้อเท็จจริงที่อยู่เบื้องหลัง ก็คือ การทำงานตามนโยบายของทุน” 
       
       คุณสนธิ อธิบายโดยหยิบยกเหตุการณ์เกี่ยวกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในแวดวงการเกษตรที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ว่า ถ้าไม่ใช่นโยบายของทุน แล้วจะมีการเผาป่าบนภูเขาหัวโล้นหรือไม่ จะไม่มีคำถามว่า เผาเพื่ออะไร แล้วก็ตอบว่า เพื่อปลูกข้าวโพด เมื่อถามต่อว่า ใครอยู่เบื้องหลังการเผาล่ะ ก็ทุนจ้างให้เผาป่า ปลูกข้าวโพดให้ใคร ปลูกข้าวโพดให้กับบริษัทที่จะรับซื้อข้าวโพดเพื่อไปทำอาหารสัตว์
       
        “ผมก็ไม่เคยเห็นว่ารัฐบาลชุดไหน ไม่ว่าจะรัฐธรรมนูญชุดใด จะสามารถหยุดยั้งการเผาป่าบนภูเขาได้ มันเหมือนกันหมด ภูเขาที่น่าน ภูเขาที่เชียงราย ที่เชียงใหม่ ก็ยังถูกเผาเหมือนเดิม เพื่อให้คนไปปลูกข้าวโพด และคนรับซื้อก็คือกลุ่มทุนที่เอาข้าวโพดที่ซื้อมานี้ เอาไปทำอาหารสัตว์ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ชัดเลยว่า สิ่งที่เราเจออยู่ทุกวันนี้ เราเจอนัยของคำว่าค้าขายเสรี"
       
        นัยของความหมายของคำว่า “ค้าขายเสรี” นี่เองที่เป็นสิ่งที่เราต้องมาทำความเข้าใจ โดยคุณสนธิได้กล่าวเตือนถึงความน่ากลัวของสิ่งที่เรียว่า Free Trade หรือการค้าเสรีนี้ว่า เป็นเรื่องอันตรายมากสำหรับประเทศไทยหากมีผู้บริหารบ้านเมืองที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มทุน
       
        “free Trade นี่น่ากลัวมาก เสรีจริง ๆ วันนี้เมืองไทยมีการแข่งขันโดยเสรีไหม ท่านตอบผมสิ ...มี ...แข่งขันกันเสรีระหว่างกลุ่มทุนเท่านั้นเอง เพื่อดูว่าใครจะสามารถฉกฉวยโอกาสแล้วสร้างความมั่งคั่งให้แก่ตัวเองได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น การให้เช่าที่ดิน 99 ปี การให้สัมปทานเหมืองทองคำ ส่วนประเด็นเรื่องการสร้างกติกา กฎกติกา กฎหมายในเรื่องการผูกขาด คุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กลับเอาเก็บเข้าลิ้นชัก บอกว่า กลุ่มธุรกิจไม่ค่อยสบายใจกับกฎหมายนี้ ถ้ามีรองนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นตัวแทนของทุน แล้วผูกขาด ถามว่าประชาชนที่นั่งอยู่ในประเทศนี้จะมีอนาคตได้อย่างไร แล้วคุณจะอยู่ไปอีก 5 ปี อีก 5 ปีต่อไปข้างหน้า เป็นข้าทาสเขาทั้งนั้นล่ะ เป็นขี้ข้าเขาทั้งนั้น”
       
       “รองนายกฯ สมคิด คิดโครงการบ้าน 1.5 ล้านบาท บอกให้แบงก์รัฐปล่อยกู้ คนเฮไปกู้ โอ้โห หาได้ที่ไหนบ้านราคา 1.5 ล้านบาท ...หาไม่ได้ มีคนไป 3,000 คน แต่กู้ได้ 300 คน เป็นเพราะอะไร เกิดอะไรกับอีก 2,700 คน กู้ไม่ได้” 


 
“ข้อควรคิดถ้าประเทศไทยจะเดินหน้าต่อไป” โดย สนธิ ลิ้มทองกุล
        สำหรับปรากฏการณ์การแห่ไปกู้ของคนจำนวนมาก แต่กลับได้อนุมัติเพียงจำนวนนิดเดียว นั่นก็เพราะว่า หนี้ครัวเรือนสูง การที่เป็นเช่นนี้ก็แปลว่าประเทศไทยภายใต้กติกาโลกใหม่ที่กล่าวมาข้างต้น 4 ประการนั้น โดนทุนมารุมขย้ำเอาประโยชน์ไปหมด
       
        “เอาไปหมดทุกอย่าง พวกคุณรู้อยู่ พอเงินเดือนคุณออกมา สิ้นเดือนปั๊บ คุณจ่ายอะไรบ้าง หนี้สินทั้งนั้น ต้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันที่ผ่านมา เราไม่เคยอยู่ในสังคมที่มีคนมาบอกเรา ว่าผมจะช่วยคุณลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในชีวิตคุณอย่างไร ...ไม่มี เคยมีใครพูดไหม ...ไม่มี ....มีแต่บอกว่า ผมจะให้เงินคุณเพิ่ม แล้วคุณช่วยเอาไปจับจ่ายใช้สอยหน่อย เพื่อให้การซื้อขายในประเทศมันขับเคลื่อน คนจะได้ลงทุนเพิ่ม” 
       
        กลายเป็นว่า การบริหารบ้านเมืองของรัฐบาล การแก้ไขปัญหาปากท้องต่างๆ สุดท้ายไปสุดทางที่การตอบสนองกลุ่มทุนใช่หรือไม่
       
        “คุณรู้ไหมว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงเมืองเดียวในโลกนี้ ที่มีห้างสรรพสินค้าที่เยอะที่สุดในโลก ลองดูสิ ทุกมุมเมืองมีแต่ห้างสรรพสินค้าเกิดขึ้นมา เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ไม่น่าประหลาดใจว่าทำไมหนี้สินครัวเรือนทำไมสูงขนาดนี้” และจากนั้นคุณสนธิก็ตบท้ายด้วยประโยคเชิงตั้งคำถามผู้ฟังว่า “จำคำพูดคนโบราณได้ไหม ในสมัยที่เรายังเด็กๆ อยู่ ประโยคที่ว่า มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท ประโยคนี้เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว” 
       
       เป็นที่น่าตกใจสำหรับประเทศไทยในยุคเปลี่ยนผ่านสู่กติกาของโลกใหม่นี้ก็คือ การขับเคลื่อนของรัฐบาลและกระบวนการต่าง ๆ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงตามหลัก 4 ประการ ได้แก่ การก้าวข้ามวัฒนธรรม ความหลากหลาย เครือข่าย และการพึ่งพาซึ่งกันและกัน ทั้งหมดนี้ ต่างเคลื่อนไปตามความต้องการของกลุ่มทุนเป็นสำคัญ รัฐบาลเดินแนวทางตามเส้นทางผลประโยชน์ของกลุ่มทุน มอบพื้นที่ส่วนใหญ่ให้กับการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุน โดยมีฐานรองรับคือประชาชนคนส่วนใหญ่
       
       “มองไปที่ธนาคารต่าง ๆ ในประเทศเรา ดอกเบี้ยเงินฝาก 2 เปอร์เซ็นต์ ใช่ไหมตอนนี้ ถามว่าเงินกู้กี่เปอร์เซ็นต์ ถ้าคุณกู้ได้ 8 เปอร์เซ็นต์ คุณเก่งมากเลยนะ คุณต้องมี 9 - 10 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเขารับเงินฝากมา 2 เปอร์เซ็นต์ แล้วปล่อยกู้คุณ 10 เปอร์เซ็นต์ ส่วนต่าง 8 เปอร์เซ็นต์ ขอโทษนะผมขอพูดหยาบนิดหนึ่ง คุณว่ามันกำไรฉิบหายไหม ด้วยเหตุนี้ กลุ่มทุนธนาคารถึงกำไรเอาๆ ทุกปี บนต้นทุนของพวกคุณ”
       
       สำหรับกรณีดังกล่าว คุณสนธิตั้งคำถามไว้ค่อนข้างน่าสนใจว่า หากถ้าเปรียบเทียบกับทุนใหญ่ ก็ต้องลองไปสืบค้นว่า กลุ่มทุนใหญ่ ถ้าไปกู้แบงก์จะกู้ได้ด้วยอัตราดอกเบี้ยกี่เปอร์เซ็นต์ “กู้ได้ก็ ผมว่าสัก 4 เปอร์เซ็นต์ แต่เทียบกับพวกคุณคนธรรมดาทั่วไป ต้องมี 10 เปอร์เซ็นต์ ไม่แต่เพียงเท่านั้น นอกจากนี้คำถามต่อมาที่จะต้องถามด้วยว่า เขาจะให้คุณกู้หรือเปล่าด้วยนะ” 
       
        ข้อสรุปสำหรับกรณีเปรียบเทียบข้างต้นของเรื่องที่เวลาคนธรรมดาอย่างเราเงินขาดมือ กับทุนใหญ่เงินขาดมือ ก็คือ ทุนยิ่งใหญ่ ยิ่งได้เปรียบ
       
       “แต่ละคนที่นั่งอยู่ในนี้มีลูกมีเต้าทั้งนั้น หลายคนลูกเริ่มโตเป็นหนุ่มเป็นสาวกันแล้ว หลายคนกำลังอยู่ในขั้นประถม อนุบาล บางคนอยู่มัธยม บางคนอยู่มหาวิทยาลัย ถามตัวเองว่าโอกาสของลูกของฉันในอนาคตจะมีโอกาสลืมตาอ้าปาก จมูกพ้นน้ำได้บ้างไหม ที่มันสามารถที่จะทำการค้าขายด้วยตัวเองได้ไหม ...เรื่องของเรื่องคือ มันเป็นเรื่องที่น่าเสียใจที่จะต้องตอบว่า มันเป็นเรื่องยาก ถ้าตราบใดสังคมไทยยังเป็นอย่างนี้” 

 
“ข้อควรคิดถ้าประเทศไทยจะเดินหน้าต่อไป” โดย สนธิ ลิ้มทองกุล
        คุณสนธิ กล่าวว่า มีตัวอย่างเรื่องของทุนกับการเอาเปรียบอยู่อีกตัวอย่าง “เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้อำนวยการสำนักข่าวอิศรา ผมรู้จักเขาในนามชื่อเล่น ชื่อ เก๊ เขาดูบิลโทรศัพท์เขา เขาบอก AIS คิดเงินผิด คิดเกินที่เขาจะต้องจ่าย เขาทำหนังสือร้องเรียนไปที่ กสทช. ซึ่ง กสทช. ก็น่ารักมาก ตรวจสอบเสร็จเรียบร้อยแล้ว บอกว่า เออใช่ AIS คิดเกินค่าเวลาของคุณเก๊ แล้วก็บังคับให้ AIS คืนเงินที่คิดเกินไป ดูเหมือนจะจบใช่ไหม แต่คิดให้ลึกลงไปสิ แล้วคนที่ใช้โทรศัพท์อีก 20 กว่าล้านคนล่ะ ขอโทษนะ กสทช. ไม่สนใจเลยเหรอ ว่าเขาอาจจะโดนพวกนี้คิดเกินอีกบ้างไหม ในสัดส่วนขนาดไหน ถ้า กสทช. ทำงานเพื่อป

 

 
กำลังแสดงหน้าที่ 1 จากทั้งหมด 0 หน้า [หน้าถัดไปคือหน้าที่ 2] 1
 

 
เงื่อนไขแสดงความคิดเห็น
1. ทุกท่านมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเสรี โดยไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่กล่าวพาดพิง และไม่สร้างความแตกแยก
2. ผู้ดูแลระบบขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใด ๆ ต่อเจ้าของความคิดเห็นนั้น
3. ความคิดเห็นเหล่านี้ ไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมาย และไม่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับคณะผู้จัดทำเว็บไซต์

ชื่อ :

อีเมล์ :

ความคิดเห็นของคุณ :
                                  

              * ใส่รหัสจากภาพที่เห็นลงในช่องด้านล่าง และใส่คำตอบจากคำถาม เพื่อยืนยันการส่งความเห็น
  และสำลีสีอะไร
    

          ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการแสดงความคิดเห็นโดยสาธารณชน ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าชื่อผู้เขียนที่้เห็นคือชื่อจริง และข้อความที่เห็นเป็นความจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ boyoty999@google.com  เพื่อให้ผู้ดูแลระบบทราบและทำการลบข้อความนั้นออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้