หัวใจของคสช.
นำเข้าเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2559 โดย  
อ่าน [58545]  

.....

การปฏิรูปตำรวจคือหัวใจของคสช.

             ตั้งแต่ปี 2537 หลังพ้นจากหน้าที่ ผมไม่เคยได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับวงการตำรวจอีก เมื่อเขียนถึงตำรวจจึงมิได้มีเจตนาให้ร้ายใคร แต่อยากเห็นตำรวจเป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง

             การแก้ปัญหาระบบตำรวจในหลายสมัยของผู้นำหน่วย นโยบายการสร้างงานมวลชน ในรูปแบบต่างๆ ยังแก้ไขได้ไม่ตรงจุด
แม้ช่วงเวลาสั้นๆ ไม่ถึงปีในตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ ทำให้ผมทราบดีว่า ตัวบุคคลที่เป็นหัวหน้าตำรวจจะทำดีเพียงใด ก็ได้เพียงช่วงเวลานั้น ไม่จีรังยั่งยืน แต่ระบบตำรวจผสมทหารที่รวมศูนย์อำนาจที่ส่วนกลาง ประชาชนรู้ว่า ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความสงบผาสุกได้ ปัญหาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ล้วนมีรากฐานมาจากปัญหาความสงบปลอดภัยในชีวิตทั้งสิ้น

              เดิมเมื่อมีการก่อตั้งกรมตำรวจ ทหารเกณฑ์ที่ได้รับการฝึกแล้ว ถูกส่งมาเป็นตำรวจ จึงถูกจัดรูปแบบคล้ายกองทัพ มียศถาบรรดาศักดิ์ ภายหลังสมัยพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจจึงเกิดขึ้น คำว่า นายร้อยสี่เหล่าก็ตามมา ทหารบก เรือ อากาศและตำรวจ

              การสอบสวนคดีอาญาเคยเป็นหน้าที่ของกรมการปกครอง ต่อมาตำรวจรับเอาอำนาจสอบสวนมา เพื่อเบ็ดเสร็จในการดำเนินคดีอาญากับคู่อริศัตรูทางการเมือง นับจากวันนั้น กรมตำรวจจึงเป็นเครื่องมือเพื่อปราบปรามฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง มิได้มีสำนึกถึงชีวิต ทรัพย์สิน ความปลอดภัยของประชาชนอันเป็นงานหลัก การเมืองจึงเข้าครอบงำระบบตำรวจอย่างชนิดที่ยากจะทัดทาน วันนี้เป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี การเข้าไปกำกับควบคุมดูแลงานตำรวจไม่ใช่เป็นการเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ แต่ต้องเข้าไปส่งเสริมพัฒนาให้ตำรวจเป็นที่พึ่งที่รักของประชาชน

ถ้าคนที่กำกับดูแลเห็นตำรวจเป็นแหล่งเงินทอง เข้ามาหากิน ยิ่งทำให้วงการตำรวจเสียหายหนักใหญ่ ผมทนเห็นไม่ได้จริงๆ จึงอยากให้นายกรัฐมนตรีใช้มาตรา 44 ปฏิรูประบบตำรวจอย่างทันทีและสามารถสำเร็จลงได้ง่ายดาย

                 ระบบสากลทั่วโลกไม่ว่าอังกฤษ อเมริกา เขาไม่มีโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ที่ทำให้เกิดรุ่น เกิดเลือดรักสถาบัน ทำให้ตำรวจแตกแยกและแตกต่างกัน เขาให้ผู้บริหารท้องถิ่น เช่น นายกเทศมนตรี รับผิดชอบดูแลงานความสงบของประชาชน การรับสมัครบุคคลเข้าเป็นตำรวจส่วนมากจะได้คนในจังหวัดนั้นๆหรือใกล้เคียงมาเป็นตำรวจ เขาย่อมรู้ดีว่าบ้านไหน ใครเป็นอย่างไร คนแปลกหน้าคือใคร เมื่อเกิดคดี ทางหนีทีไล่คนร้ายเป็นอย่างไร รู้จักพื้นที่ ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น ถ้าจะไปรีดไถ ประพฤติชั่ว กล้าทำไหม คุมบ่อน คุมซ่อง เก็บส่วย ไม่มีแน่นอน

              เมื่อตำรวจอยู่ในพื้นที่ไม่มีการโยกย้าย เขาย่อมมีความมั่นคงในหน้าที่การงาน ไม่ถูกโยกย้ายโดยไม่มีเหตุผลหรือถูกเจ้านาย
กลั่นแกล้ง ครอบครัวก็อยู่ด้วยกัน ทางจิตวิทยาย่อมมีความผูกพันกับชาวบ้านและปฏิบัติหน้าที่ด้วยใจ แต่ระบบของเราทุกอย่างออกจากส่วนกลาง โยกย้ายกันจนกว่าจะรู้จักพื้นที่ กว่าจะเข้าใจคน ก็ถูกย้ายไปอีกแล้ว การเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ไม่มีทางทำได้ มีตำรวจหลายคนเน่าในจังหวัดหนึ่ง กลับถูกย้ายไปรุ่งเรืองได้ในอีกจังหวัดหนึ่ง

           กระจายตำรวจลงท้องถิ่นให้เป็นตำรวจของจังหวัดนั้นๆ การโยกย้ายทำกันภายในจังหวัดมีหัวหน้าตำรวจจังหวัดรับผิดชอบบังคับบัญชา จากนั้นก็มีตำแหน่งผู้กำกับสถานี และสารวัตรแต่ละงาน เช่น ปราบปราม สอบสวน ท่องเที่ยว จราจร(ทางหลวง) และธุรการ คดีทุกอย่างจบที่โรงพัก ไม่ต้องรอสายงานบังคับบัญชาที่ยาวจนมาถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่สิ้นเปลื้องกำลังพล ทำเช่นนี้ สามารถประหยัดกำลังพลได้มากมาย กองบังคับการต่างๆที่เป็นสายธุรการ อำนวยการ เช่น กองส่งกำลังบำรุง กองบัญชาการศึกษา สวัสดิการ สรรพาวุธ ยุบและเกลี่ยอัตรากำลังเสียตอนปฏิรูปเลย จัดสรรงบประมาณความต้องการที่แท้จริงของแต่ละสถานีให้เหมาะสมกับงานในท้องที่ เช่น อยู่ติดทะเลหรือแม่น้ำ ต้องใช้เรือ ไม่ใช่รถสายตรวจ เมื่อสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์รื้อ 396 โรงพัก โดยไม่ดูเลยว่า เหมาะสมหรือไม่ เขาต้องการหรือไม่ จนป่านนี้บางโรงพักยังสร้างไม่เสร็จเลย “ยศ” นั้นก็ให้มีเพียงนายสิบและจ่า เมื่อขึ้นมาระดับบนเป็นตำแหน่งไม่ใช้ยศ สารวัตร ผู้กำกับสถานี และหัวหน้าตำรวจประจำจังหวัด เมื่อคดีทุกอย่างจบที่โรงพัก การแทรกแซงสั่งคดีก็ทำไม่ได้ การจับแพะเพื่อปิดคดีสร้างผลงาน เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะชาวบ้านใกล้เคียงที่เกิดเหตุเขารู้ดีว่า คดีเป็นอย่างไร ตำรวจทำคดีส่งเดช มีหวังชาวบ้านไม่ยอม ชาวบ้านก็คือลูกขุนในระบบไต่สวนคดีอาญานั่นเอง

         เมื่อเกิดปัญหาคดีสำคัญ เช่น องค์กรมาเฟียใหญ่ ผู้ก่อการร้ายข้ามชาติ ค้ายาเสพติดรายใหญ่ หรือปัญหาทำผิดกฎหมายความมั่นคงของรัฐ เขามีตำรวจที่ใหญ่กว่าตำรวจท้องถิ่น ในอเมริกามี FBI ในอังกฤษมี Scotland Yardคือ ตำรวจส่วนกลางที่ขึ้นกับรัฐบาล มาช่วยดูแลแก้ปัญหา วันนี้เมืองไทยก็มีแล้วคล้ายๆ กันคือ DSI ซึ่งเขาเตรียมที่จะกระจายอำนาจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ไปอยู่กับท้องถิ่นเพื่อเป็นแบบอย่างสากล และถึงอย่างไรรัฐบาลยังมีตำรวจส่วนกลาง เป็นเครื่องมือปราบปรามฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองได้ ถ้าอยากทำ เชื่อว่าตำรวจไทยทราบระบบตำรวจสากลดี เพราะมีการส่งคนไปดูงานตำรวจหลายประเทศมาแล้ว เลิกระบบนี้เสียที เพราะมีคนไม่ดีเพียงคนเดียว ราษฎรเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า รวมถึงตำรวจที่พยายามจะทำดี ไม่สามารถจะเป็นไปได้ การทำสำนวนการสอบสวนคดี ก็เข้าไปแทรกแซงสั่งการ แล้วอย่างนี้ จะรอปฏิรูปกันเมื่อไร

            ยิ่งบ้านเมืองยุคข้าวยากหมากแพง โจรผู้ร้ายชุกชุม มิจฉาชีพ ได้ใจ เกิดส่วยทุกระบบ แหล่งเพาะอาชญากรรมเกิดขึ้นมากมาย แม่ค้าออกจากบ้านเช้ามืด พกเงินทองเตรียมจะไปซื้อของมาขาย ถูกจี้ปล้น ไม่เว้นแม้แต่พระสงฆ์องค์เจ้า กลุ่มมาเฟียเหิมเกริม
ตบต่อยทวงหนี้ เรียกค่าคุ้มครอง อันเป็นการนำไปสู่ความเดือดร้อนทุกข์ยากของประชาชน การปฏิรูปตำรวจคือหัวใจของคสช. ชาวบ้านเขาจะสรรเสริญ และขอให้กฎแห่งกรรมจัดการกับ “ไอ้ตัวเวร” ที่ก่อกรรมไว้กับผู้พิทักษ์สันติราษฎร์

พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ


 

 

 

 
กำลังแสดงหน้าที่ 1 จากทั้งหมด 0 หน้า [หน้าถัดไปคือหน้าที่ 2] 1
 

 
เงื่อนไขแสดงความคิดเห็น
1. ทุกท่านมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเสรี โดยไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่กล่าวพาดพิง และไม่สร้างความแตกแยก
2. ผู้ดูแลระบบขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใด ๆ ต่อเจ้าของความคิดเห็นนั้น
3. ความคิดเห็นเหล่านี้ ไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมาย และไม่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับคณะผู้จัดทำเว็บไซต์

ชื่อ :

อีเมล์ :

ความคิดเห็นของคุณ :
                                  

              * ใส่รหัสจากภาพที่เห็นลงในช่องด้านล่าง และใส่คำตอบจากคำถาม เพื่อยืนยันการส่งความเห็น
  และสำลีสีอะไร
    

          ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการแสดงความคิดเห็นโดยสาธารณชน ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าชื่อผู้เขียนที่้เห็นคือชื่อจริง และข้อความที่เห็นเป็นความจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ boyoty999@google.com  เพื่อให้ผู้ดูแลระบบทราบและทำการลบข้อความนั้นออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้