“แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558 - 2579
นำเข้าเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2558 โดย จุฬา ศรีบุตตะ
อ่าน [58601]  

“ปานเทพ” ชี้มีเวลา 20 ปี รอเลือกสิ่งที่ดีกว่า ไม่จำต้องเร่งสร้างโรงไฟฟ้าเกินจำเป็น .....

คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
“ปานเทพ” ชี้มีเวลา 20 ปี รอเลือกสิ่งที่ดีกว่า ไม่จำต้องเร่งสร้างโรงไฟฟ้าเกินจำเป็น
นายปานเทพ พัวพงษ์พันธุ์

“ปานเทพ” เปิดแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า PDP 2015 ชี้ อย่ากังวลไฟฟ้าไม่พอใช้ เพียงแค่ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น 1 - 2% ไทยสามารถรอเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าที่ถูก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสุขภาพมากกว่านี้ได้ถึง 20 ปี แถมมีอำนาจต่อรองสูงสุดเหนือผู้รับสัมปทานเดิมแหล่งบงกช และเอราวัณ ให้กลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ได้ด้วย
       
       วันที่ 15 ส.ค. เมื่อเวลาประมาณ 23.00 น. นายปานเทพ พัวพงษ์พันธุ์ แกนนำเครือข่ายปฏิรูปพลังงาน (คปพ.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ หัวข้อ “อย่าแถ! แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558 - 2579” ตามข้อความดังนี้
       
       “แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558 - 2579 หรือที่เรียกว่า PDP 2015 ที่จัดทำโดยสำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน นั้น ได้มีการจัดทำแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2558
       

       ดังนั้น ใครที่คิดว่าเป็นข้อมูลเก่าในอดีต และล้าสมัย ก็ต้องเข้าใจว่าข้อมูลนี้จัดทำแล้วเสร็จมาหมาด ๆ เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมานี้เอง
       และเป็นการจัดทำโดยกระทรวงพลังงาน ที่ผ่านความเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรีไทย
       
       ที่มาของตัวเลขนี้ก็มาจากข้อมูลทางวิชาการในหลายมิติ เช่น อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราการเจริญเติบโตของประชากร เพราะการสร้างต้องมีเวลาและคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคต จึงต้องมีสมมติฐานวางเอาไว้ล่วงหน้า 20 ปี
       
       ไม่ใช่ว่าผมจะเชื่อว่าแผนนี้จะถูกตัองและเป็นจริงเสมอไป แต่แผนนี้จะนำไปสู่การสร้างโรงไฟฟ้าจริง!!!
       
       ดังนั้น หากใครคิดว่าแผนนี้สมมติและไม่น่าเชื่อถือ ก็ต้องตระหนักว่าการสร้างโรงไฟฟ้าไม่ได้สมมติไปด้วย แต่จะสร้างโรงไฟฟ้าจริง เพิ่มต้นทุนไฟฟ้าให้กับประชาชนจริง ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือสุขภาพได้จริง
       
       การปรับแผนความต้องการใช้ไฟฟ้าจะต้องมีการทบทวนเป็นระยะ ๆ เพื่อพิจารณาว่าสิ่งที่คาดการณ์นั้นต้องมีการปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง?
       ด้วยเหตุผลนี้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าจึงย่อมสามารถเปลี่ยนแปลง และแก้ไขได้ตามสถานการณ์ แต่จะต้องมีความระมัดระวัง 2 ประการ
       
       ประการแรก ถ้าแผนการผลิตไฟฟ้าต่ำเกินไป ก็จะทำให้เกิดวิกฤตขาดไฟฟ้า เพราะเมื่อถึงเวลานั้นก็จะผลิตไฟฟ้าไม่ทัน
       ประการที่สอง ถ้าแผนการผลิตไฟฟ้าสูงเกินไป ก็จะทำให้เกิดภาวะมีโรงไฟฟ้ามากเกินความต้องการ ผลก็คือ ต้นทุน และค่าใช้จ่ายเหล่านั้น ต้องตกเป็นภาระของประชาชนโดยไม่จำเป็น
       
       ด้วยเหตุผลนี้แผนพัฒนาผลิตไฟฟ้า จึงต้องเริ่มต้นหา “ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด” ของแต่ละปี ซึ่งอาจจะมีเพียงวันเดียวหรือไม่กี่วัน มาเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีการผลิตไฟฟ้าต่ำกว่าความต้องการสูงสุดแม้แต่วันเดียว
       
       แต่ความเป็นจริงแล้วในปีหนึ่ง ๆ ส่วนใหญ่แล้วจะมีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดประมาณ 20%
       
       จากนั้นเมื่อดูสถิติการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในรอบหลายปีแล้ว ก็ต้องมีการคาดการจากอัตราการใช้ไฟฟ้าไปข้างหน้า 20 ปี ซึ่งสมมติฐานนี้อยู่ที่แบบจำลองทางเศรษฐกิจ และจำนวนประชากร ฯลฯ ในที่นี้กระทรวงพลังงานได้ปรับแผนอัตราการเจริญเติบโตในความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดจากเมื่อ 5 ปีที่แล้ว (แผน PDP 2010) เฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 4.41% ลดลงมาเหลือเพียง 3.94% เพราะในช่วงหลังประเทศไทยมีอัตราการเจริญเติบโตอยู่ในระดับต่ำกว่าที่คาดการณ์
       

       
       

       ก็อาจจะมีคำถามว่า เกิดสมมติว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่า 3.94% ประเทศไทยจะขาดไฟฟ้าหรือเปล่า?
       คำตอบคือไม่ใช่!!!
       
       เพราะแผนการผลิตไฟฟ้าจะต้องมีการผลิตไฟฟ้าให้เกินความต้องการสูงสุดไปอีก 15%
       
       ทำไมต้องเป็นตัวเลข 15% !?
       
       เพราะประเทศไทยตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าเศรษฐกิจตกต่ำหรือเฟื่องฟู อัตราการเจริญเติบโตไม่เคยโตถึงปีละ 18.94% (เผื่อ 15%+ อัตราเพิ่มความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดต่อปี 3.94%)
       
       อัตราการเจริญเติบโตเศรษฐกิจย้อนหลังกลับไป ต่ำที่สุด คือ ในปี พ.ศ. 2541 ติดลบ 10.50 อัตราการเจริญเติบโตสูงสุดเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2538 โตขึ้น 9.2% (เฉลี่ย 20 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 3.2% ต่อปี)
       
       ดังนั้น การเผื่อกำลังไฟฟ้าสำรอง 15% นี้ จึงเป็นหลักประกันเพียงพอว่า
       
       1. เราจะไม่ขาดไฟฟ้าตามแผนผลิต และ
       
       2.เราจะไม่ผลิตไฟฟ้ามากเกินความจำเป็น
       
       ดังนั้น ข้ออ้างว่า ตัวเลขที่เกิดขึ้นนั้นอาจไม่เพียงพอเพราะต้องเผื่ออัตราการเจริญเติบโตที่มากกว่าแผนนั้นฟังไม่ขึ้น เพราะมีโอกาสน้อยมาก หรือแทบเป็นไปไม่ได้เลย ที่ประเทศไทยจะกลับมามีอัตราการเจริญเติบโตปีใดปีหนึ่งพรวดเดียวเกินกว่า 18.94% จนผลิตไฟฟ้าไม่ทัน
       
       ด้วยความที่แผนผลิตไฟฟ้าที่มีการสำรองมากพอสมควร ต่อให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเกินกว่าแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า เราก็คงจะรู้ตัวเพราะเห็นแนวโน้มก่อนล่วงหน้า และปรับแผนการผลิตได้อีกครั้ง เช่นเดียวกับกรณีหากอัตราการเจริญเติบโตต่ำกว่าที่วางแผนไว้เราก็คงต้องปรับแผนอีกเช่นกัน
       
       แต่แผนที่ร่างโดยกระทรวงพลังงานที่อ้างว่าปรับแล้วมันสูงเกินความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด + สำรองขั้นต่ำ 15% ไปอย่างมากมายมหาศาล
       
       ตามแผนผลิตไฟฟ้า (PDP 2015) ผลิตไฟฟ้าเกินความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสูดในปี 2558 ถึง 42%
       
       ตามแผนผลิตไฟฟ้า (PDP 2015) ผลิตไฟฟ้าเกินความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสูดในปี 2567 ถึง 63%
       
       เรากำลังวางแผนสร้างโรงไฟฟ้ามากเกินไปอย่างชนิดมโหฬาร มหาศาล
       
       เป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนชาวไทยแพงเกินความจำเป็น!!!
       
       ทำลายสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนเกินความจำเป็น!!!
       
       ไม่อยากจะเคลือบแคลงสงสัยเลยว่าในอดีตวงการค้าขายเครื่องจักรผลิตไฟฟ้าต้องจ่ายใต้โต๊ะให้กับใครบางคนเมกะวัตต์ละ 1 ล้านบาท จริงหรือไม่? และพ่อค้าขายถ่านหินก็ไม่รู้ว่าต้องจ่ายเงินเข้ากระเป๋าให้ใครอีกเท่าไหร่? ตรงนี้ทำให้บางคนจึงกระเหี้ยนกระหือรืออยากสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในยุคของตัวเองให้มากที่สุด มากเกินความต้องการสูงสุด และมากเกินความจำเป็น จริงหรือไม่?
       

       
       

       เมื่อเราลองนำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า PDP 2015 มาหักออกโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหม่ เราก็ยังเหลือไฟฟ้าสูงเกินความต้องการสูงสุดระหว่าง 26 - 59%
       
       เมื่อยังเหลือไฟฟ้าสูงเกินสำรองอยู่อีก เราลองหักจากโรงไฟฟ้าที่จะรับซื้อจากต่างประเทศเพิ่มเติมตามแผน PDP 2015 ผลปรากฏว่าเรามีไฟฟ้าเกินกว่าสำรอง 15% ไปอีก 19 ปี ยกเว้นปีที่ 20 และ 21 จะต่ำกว่าสำรอง 15% เล็กน้อย และเพียงแค่เราส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นอีกปีละ 112 เมกะวัตต์ หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณอีกเพียงแค่ 1 - 2% ของพลังงานหมุนเวียนตามแผน PDP 2015 ก็จะมีไฟฟ้าสำรองพอดี 15% ในปีที่ 21
       
       พอทำตามข้อเสนอดังกล่าวข้างต้นแล้ว ประเทศไทยก็ยังมีไฟฟ้าเหลืออีกมากระหว่างปี พ.ศ. 2565 - 2569 ดังนั้นจึงทำให้เราสามารถ “เปิดประมูลรับจ้างผลิตแหล่งก๊าซธรรมชาติในบงกชและเอราวัณ” ที่กำลังจะหมดอายุในช่วงเวลา พ.ศ. 2565 - 2566 เพื่อมาผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมได้ด้วย ประเทศไทยจะได้ความมั่งคั่งในแหล่งก๊าซที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยกลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยไม่ต้องกลัวการขาดความต่อเนื่องแต่ประการใด และสามารถนำความมั่งคั่งนั้นมาใช้ประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชนได้อย่างแน่นอน
       
       เพราะต่อให้การที่รัฐจะประมูลรับจ้างผลิตในแหล่งบงกช และเอราวัณ แล้วสมมุติใช้เวลาช่วงรอยต่อที่อาจขาดตอน 3 - 4 ปี กว่าจะเริ่มผลิตก๊าซธรรมชาติได้จริง ประเทศไทยก็ยังมีไฟฟ้าเกินกว่าสำรองขั้นต่ำ 15% ในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ดี
       
       และความจริงก็ไม่เลวร้ายต้องใช้เวลา 3 - 4 ปีหรอก เพราะคนที่ทำงานอยู่บนแท่นขุดเจาะนั้นเกือบทั้งหมดเป็นคนไทย สามารถดำเนินการต่อได้ภายในไม่เกิน 1 ปี นี่คืออำนาจต่อรองสูงสุดของประเทศไทยที่อยู่เหนือบริษัทเอกชนผู้รับสัมปทานเดิมในแหล่งบงกชและเอราวัณ
       
       ส่วนคนที่อ้างว่าไฟฟ้าจะแพงถ้าเราไม่ยอมรับโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะต้นทุนถูกกว่าพลังงานอย่างอื่นนั้น
       
       ความจริงแล้วถ้าค่าไฟฟ้าจะแพงก็เพราะสร้างโรงไฟฟ้ามากเกินต่างหาก และต้นทุนถ่านหินที่ว่าถูกนั้นมันก็ถูกเพียงแค่วัตถุดิบ แต่กลับไปแพงตรงสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน และต่อให้อ้างว่ามีเทคโนโลยี “ลดมลพิษลง” นอกจากจะต้องมีต้นทุนที่สูงขึ้นแล้วทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นอีกด้วย มลพิษที่สะสมมากเกินไปอยู่ทุกวันนี้ ก็ทำลายทั้งสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการท่องเที่ยวอยู่แล้ว จึงไม่ควรจะเติมมลพิษใด ๆ โดยไม่จำเป็นอีก เพราะคุณค่าชีวิตของพลเมืองดีไม่สามารถวัดมูลค่าด้วยเงิน
       
       สุดท้ายนี้ ประเทศนี้ยังมีเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตขึ้น มีประชากรมากขึ้น แปลว่าเราต้องใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัจจัยที่สำคัญที่สุด ก็คือ “เวลา”
       
       ถ้าเรามี “เวลา” มากพอ ก็แปลว่าเราไม่จำเป็นต้องเร่งสร้างโรงไฟฟ้าให้มากเกินความจำเป็น โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินและนิวเคลียร์ที่ประชาชนมีความหวาดระแวงและไม่ไว้วางใจ
       
       และถ้าเราไม่รีบเกินความจำเป็น และมีเวลาพอ เมื่อถึงเวลาที่เราสามารถรอได้ถึง 20 ปีข้างหน้า ก่อนถึง 20 ปีข้างหน้าเราก็อาจจะมีเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าหมุนที่ถูกกว่านี้ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกว่านี้ และเป็นมิตรต่อสุขภาพคนไทยมากกว่านี้
       
       และข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นพบว่าเรา “มีเวลา” ที่จะยังรอได้!!!
       
       แต่ถ้าเราผลีผลามเร่งสร้างโรงไฟฟ้าที่มีมลพิษ อันตราย ประชาชนไม่ไว้วางใจ ฝืนกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกแล้ว ถ้าไม่ถูกสงสัยว่าไม่ฉลาดแล้ว ก็อาจถูกสงสัยว่ามีผลประโยชน์ส่วนตนทางใดทางหนึ่งหรือไม่?”

 

 
กำลังแสดงหน้าที่ 1 จากทั้งหมด 0 หน้า [หน้าถัดไปคือหน้าที่ 2] 1
 

 
เงื่อนไขแสดงความคิดเห็น
1. ทุกท่านมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเสรี โดยไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่กล่าวพาดพิง และไม่สร้างความแตกแยก
2. ผู้ดูแลระบบขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใด ๆ ต่อเจ้าของความคิดเห็นนั้น
3. ความคิดเห็นเหล่านี้ ไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมาย และไม่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับคณะผู้จัดทำเว็บไซต์

ชื่อ :

อีเมล์ :

ความคิดเห็นของคุณ :
                                  

              * ใส่รหัสจากภาพที่เห็นลงในช่องด้านล่าง และใส่คำตอบจากคำถาม เพื่อยืนยันการส่งความเห็น
  และสำลีสีอะไร
    

          ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการแสดงความคิดเห็นโดยสาธารณชน ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าชื่อผู้เขียนที่้เห็นคือชื่อจริง และข้อความที่เห็นเป็นความจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ boyoty999@google.com  เพื่อให้ผู้ดูแลระบบทราบและทำการลบข้อความนั้นออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้