วัดใจคสช.เอาจริง?
นำเข้าเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2558 โดย จุฬา ศรีบุตตะ
อ่าน [58568]  

.....

แก้ไขสัญญาสัมปทาน...วัดใจคสช.เอาจริง?

จุดแข็งรัฐบาลประยุทธ์คือ การไม่ทุจริตและต้องปราบทุจริต ต้องนำจุดแข็งนี้มาใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน โดยปัญหาทุจริตใหญ่ๆที่เคยมองว่า ฝ่ายการเมืองไม่กล้าจัดการ ยิ่งควรเอามาจัดการให้เป็นเยี่ยงอย่าง เช่น ปัญหาทุจริตในบริษัทลูกปตท.ที่ไปซื้อที่ดินที่อินโดนีเซียปลูกปาล์ม แล้วขาดทุนไม่เป็นท่า ใช้เงินไปหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐ ใช่หรือไม่ ...รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร

หรือหลายกรณีที่ทั้ง ศาล,สตง.,ป.ป.ช.สอบเสร็จแล้ว รัฐบาลคสช.ต้องเอาจริง โดยเฉพาะเรื่องทุจริตสัมปทานผูกขาด หรือการทุจริตเชิงนโยบายอื่นๆ ทั้งหลาย ที่ตรวจสอบเสร็จแล้ว จนจะหมดอายุสัญญาอยู่แล้ว หากไม่จัดการในรัฐบาลนี้ ก็ยากที่ประเทศจะได้ผลประโยชน์ชาติที่เสียไปกลับคืน

อย่างกรณีการขอแก้ไขสัญญาสัมปทานระหว่างรัฐกับบริษัทมือถือที่ใครๆ ก็รู้ว่าเป็นธุรกิจที่ดำเนินไม่กี่ราย แก้ 1 สัญญาเอกชน ผู้ได้รับก็คือรายเดียวอยู่แล้ว จึงขึ้นกับสัญญานั้นหรือการแก้สัญญานั้นทำให้รัฐเสียประโยชน์กว่าเดิมหรือไม่ โดยไม่นานมานี้ เริ่มจะเห็นแววดีจากรัฐบาลนี้เมื่อมีคำสั่งให้ TOT ส่งรายงานมาชี้แจงตามที่ป.ป.ช.ชี้มูลสอบสวนว่า การแก้ไขสัญญาสัมปทานดังกล่าวอาจทำให้รัฐเสียหาย 77,000 ล้านบาท

จริงๆ เรื่องราวกว่าจะถึงวันนี้ ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น

เรื่องนี้เริ่มจากองค์การโทรศัพท์(TOT)รัฐวิสาหกิจเจ้าของสัมปทานคลื่นความถี่ 900 MHz ทำสัญญาสัมปทานกับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส(AIS) ในวันที่ 27 มี.ค. 2533 สัญญามีกำหนด 20 ปี โดยกำหนดค่าสัมปทานที่ AIS ต้องจ่ายให้ TOT ตามช่วงเวลา ปีที่ 11-15 ต้องจ่ายค่าสัมปทานอัตรา 25% ของรายได้ ปีที่ 16-20 จ่าย 30% ของรายได้ ซึ่งต่อมามีการขอแก้สัญญาอีกหลายครั้ง เช่น การแก้ไขสัญญาครั้งที่ 4 กำหนดให้ขยายอายุสัญญาเดิม 20 ปีเป็น 25 ปี (สิ้นสุด 30 ก.ย. 2558) แต่ก็พอจะเข้าใจได้ว่าเพื่อแลกกับการเลิกสิทธิผูกขาดในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพียงรายเดียวที่ AIS มีอยู่กับ TOT แต่พอถึงสมัยรัฐบาลนายกฯทักษิณ ชินวัตร ช่วงเวลานั้นมีการแก้ไขสัญญาสัมปทานอีกหลายครั้ง ในครั้งที่ประเด็นมีข้อสงสัยตอนนั้นคือ

15 พ.ค. 2544 มีการแก้ไขสัญญาแนบท้ายเพิ่มเติมครั้งที่ 6 ให้มีการปรับลดส่วนแบ่งรายได้จากระบบบัตรเติมเงิน(พรีเพด) จากเดิมต้องจ่ายอัตราก้าวหน้า 25-30% ให้เหลือ 20% ตลอดอายุสัญญาสัมปทาน (ที่จะสิ้นสุด 30 ก.ย.58))

20 ก.ย. 2545 มีการแก้ไขสัญญาแนบท้ายเพิ่มเติมครั้งที่ 7 ให้ AIS สามารถเข้าไปใช้เครือข่ายร่วม(โรมมิ่ง)ของผู้ประกอบการรายอื่น AIS จะได้สิทธิในการหักค่าใช้เครือข่ายร่วม(โรมมิ่ง)ที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการรายนั้น ก่อนจ่ายค่าสัมปทานให้แก่ TOT

การเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานครั้งนั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นประโยชน์อย่างมากต่อ AIS ขณะที่ TOT ในฐานะผู้ให้สัมปทานและประชาชนไม่ได้รับประโยชน์ในสัดส่วนที่ทัดเทียมกันแต่อย่างใด และทำให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมได้ยากขึ้น ซึ่งมีการคำนวณตัวเลขคร่าวๆ ว่า การแก้ไขสัญญาดังกล่าวมีผลทำให้ตลอดอายุสัญญา รัฐอาจสูญเสียประโยชน์จากที่ควรได้ไม่ต่ำกว่า 7หมื่นล้านบาท

และนั่นถูกมองว่าคือจำนวนที่เท่ากันที่เอกชนได้รับประโยชน์ไปแทนรัฐ

จนเมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาลงวันที่ 26 ก.พ. 2553 ในคำพิพากษาส่วนหนึ่งอธิบายเหตุผลของการต้องยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร 46,373,687,454.70 บาท ให้ตกเป็นของแผ่นดินว่า เกี่ยวข้องกับการแก้ไขสัญญา ครั้งที่ 6 และครั้งที่ 7 (ตามตาราง)

หลังจากนั้น จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการดำเนินการตามคำสั่งศาล เพื่อคืนประโยชน์และความเป็นธรรมให้สังคมและประเทศชาติ โดยรัฐบาลขณะนั้นได้มีมติครม.วันที่ 3 พ.ค.2554 เรื่อง การตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและผู้เกี่ยวข้องอันเป็นผลมาจากคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อดำเนินการตรวจสอบเรื่องต่าง ตามที่ศาลที่ได้พิพากษา เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับรัฐต่อไป ร่วมกับคณะกรรมการอื่นๆ ที่กระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ดำเนินการได้เลยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์กระทรวงตนเอง

รัฐบาลดำเนินการไม่ทันไร ก็ต้องยุบสภา มีรัฐบาลใหม่เข้ามาโดยมีนายกรัฐมนตรีนามสกุลเดียวกับผู้ถูกยึดทรัพย์และถูกกล่าวหาในคดีดังกล่าว ผลที่เกิดขึ้นคือ ตลอด 3 ปีที่ดำรงตำแหน่งของรัฐบาลชุดนี้ ทั้งในส่วนของคณะกรรมการชุดใหญ่และคณะกรรมการระดับกระทรวง ไม่มีผลอะไรคืบหน้า จนอายุสัมปทานของ AIS กำลังจะหมดแล้ว (สิ้นสุดอายุ 30 ก.ย. 2558)

จะโชคดีเข้าข้างประเทศหรือโชคร้ายของพ.ต.ท.ทักษิณ ก็ไม่ทราบ เพราะเมื่อคสช.เข้ามาไม่นาน ป.ป.ช.ก็ชี้มูลการสอบสวนเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2557 ระบุว่า การแก้ไขสัญญาแนบท้ายเพิ่มเติม 7 ครั้งนั้น มีปัญหาอยู่ที่ครั้งที่ 6 และ 7 อาจทำให้รัฐเสียประโยชน์ราว 77,000 ล้านบาท เคาะดังนั้น ก็เป็นการตอกย้ำเข้าไปอีก ว่ารัฐเสียประโยชน์ให้กับเอกชน ในขณะที่พ.ต.ท.ทักษิณโดยยึดทรัพย์ เพียง 4 หมื่นกว่าล้านเท่านั้น ที่สำคัญสัญญาสัมปทานจะหมดอายุแล้ว

หลังป.ป.ช.ชี้มูลก็ได้ส่งเรื่องไปสองทาง ทางหนึ่งคือ อัยการเพื่อพิจารณาดำเนินการ อีกทางหนึ่งคือ ส่งกลับเจ้าของสัมปทานก็คือกระทรวงไอซีที

ผ่านมา 6 เดือน รมว.ไอซีที จึงสั่งให้ TOT ไปสรุปที่มาที่ไปของการแก้สัญญาและรายงานผลกระทบจากการแก้ไขส่วนแนบท้ายในสัญญาสัมปทานดังกล่าว มายังกระทรวงภายใน ส.ค.2558 (ภายใน 1 เดือน) เพื่อให้ไอซีทีเปรียบเทียบกับส่วนที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดก่อนหน้านี้ แล้วจึงเสนอให้ ครม.ทราบ เหลือเวลาอีกไม่มาก ถือเป็นการวัดใจรัฐบาลคสช.ว่า จะจริงจังจริงใจแค่ไหนกับการปราบทุจริต มิเช่นนั้นสิ่งที่ศาลได้พิพากษายึดทรัพย์ไปจะเสียเปล่าและประเทศชาติจะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากท่าน หรือก็คือ ไม่ต่างอะไรจากรัฐบาลก่อนหน้าที่ไม่ดำเนินการหรือดำเนินการช้า จนหมดเวลา ซึ่งในคำพิพากษาครั้งนั้น ยังมีเรื่องของดาวเทียมที่เป็นประเด็นไม่ต่างกัน ประชาชนก็กำลังจับตาท่านอยู่ว่าจะเอาอย่างไร

ขออย่าทำให้ประชาชนผิดหวัง

“ฟ้าประทานสรรพสิ่งแก่ผู้คน

คนไม่ได้มอบสิ่งใดแก่ฟ้า”


 

 

 
กำลังแสดงหน้าที่ 1 จากทั้งหมด 0 หน้า [หน้าถัดไปคือหน้าที่ 2] 1
 

 
เงื่อนไขแสดงความคิดเห็น
1. ทุกท่านมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเสรี โดยไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่กล่าวพาดพิง และไม่สร้างความแตกแยก
2. ผู้ดูแลระบบขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใด ๆ ต่อเจ้าของความคิดเห็นนั้น
3. ความคิดเห็นเหล่านี้ ไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมาย และไม่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับคณะผู้จัดทำเว็บไซต์

ชื่อ :

อีเมล์ :

ความคิดเห็นของคุณ :
                                  

              * ใส่รหัสจากภาพที่เห็นลงในช่องด้านล่าง และใส่คำตอบจากคำถาม เพื่อยืนยันการส่งความเห็น
  และสำลีสีอะไร
    

          ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการแสดงความคิดเห็นโดยสาธารณชน ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าชื่อผู้เขียนที่้เห็นคือชื่อจริง และข้อความที่เห็นเป็นความจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ boyoty999@google.com  เพื่อให้ผู้ดูแลระบบทราบและทำการลบข้อความนั้นออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้