ข้อพิพาทที่จะนำไปสู่ศาลปกครอง
นำเข้าเมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2558 โดย นายวิรัช พัฒนะสาร
อ่าน [58558]  

.....

 

คำอธิบาย: ดาวน์โหลด.jpg
 
คำอธิบาย: C:\Users\tuytsc\AppData\Local\Microsoft\Windows\Temporary Internet Files\Content.Word\รูปผม (2).jpg
 
                        มุมกฏหมาย
ข้อพิพาทที่จะนำไปสู่ศาลปกครอง
 
 วิรัช  พัฒนะสาร
                เมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้นระหว่างเอกชนด้วยกันจะต้องไปดำเนินคดีต่อศาลยุติธรรมไม่ว่าจะเป็นศาลแพ่งหรือศาลอาญาแล้วแต่ลักษณะคดีว่าจะอยู่ในอำนาจของศาลใด แต่คดีที่เอกชนพิพาทกับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือมีข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกันจะต้องไปฟ้องที่ศาลปกครองที่มีเขตอำนาจนั้น ในการที่จะพิจารณาว่าคดีใดจะอยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองหรือศาลปกครองจะรับฟ้องได้หรือไม่นั้นเราจะต้องพิจารณาประเด็นต่างๆ ดังนี้
                ประเด็นที่ 1 เขตอำนาจศาล
      เขตอำนาจศาลเป็นหลักเกณฑ์เบื้องต้นที่จะต้องพิจารณาตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542  ได้แก่ 1)คดีพิพาทเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่งหรือการกระทำอื่นใด  2)คดีพิพาทเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร 3)คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎคำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่นหรือจากการละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร 4) คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง 5) คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้บุคคลกระทำหรือละเว้นการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด  6) คดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง  
                    ข้อยกเว้นที่ไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลปกครอง ได้แก่  1)การดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหาร   2) การดำเนินการของคณะกรรมการตุลาการ 3) คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลอื่นเช่น  ศาลเยาวชนและครอบครัว  ศาลแรงงาน ศาลภาษีอากร  ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ  ศาลล้มละลาย เป็นต้น
                      คดีพิพาทที่กล่าวมาทั้งหมดจะต้องฟ้องที่ศาลปกครองชั้นต้นที่มีเขตอำนาจ  เช่น ศาลปกครองขอนแก่น มีเขตอำนาจตลอดท้องที่จังหวัดขอนแก่น จังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดมหาสารคาม ทั้งนี้ตามมาตรา 10  พระราชบัญญัติเดียวกัน  “ศาลปกครองชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง เว้นแต่คดีที่อยู่ในอำนาจศาลปกครองสูงสุด” ประกอบกับมาตรา 47 วรรคหนึ่ง  “การฟ้องคดีที่อยู่ในเขตศาลปกครองชั้นต้นให้ยื่นต่อศาลปกครองชั้นต้นที่ผู้ฟ้องคดีมีภูมิลำเนาหรือที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลปกครองนั้น” วรรคสอง “การฟ้องคดีที่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองสูงสุดให้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด
                      ส่วนคดีที่กำหนดให้ฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดได้บัญญัติไว้ในมาตรา 11 พระราชบัญญัติเดียวกันได้แก่  1) คดีพิพาทเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท 2)คดีพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา หรือกฎที่ออกโดยคณะรัฐมนตรีหรือโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี 3)คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในอำนาจศาลปกครองสูงสุด  และ 4) คดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น
                ประเด็นที่ 2 เงื่อนไขการฟ้องคดี
                      เงื่อนไขการฟ้องคดีเป็นหลักเกณฑ์การพิจารณาเบื้องต้นของพนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลและตุลาการเจ้าของสำนวนถ้าหากเป็นคำฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ครบถ้วนหรือชำระค่าธรรมเนียมไม่ครบถ้วนอาจสั่งให้แก้ไขให้สมบูรณ์ ดังนั้นเงื่อนไขที่สำคัญที่ศาลจะสั่งรับฟ้องหรือไม่รับฟ้องไว้พิจารณาและสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความมีสาระสำคัญที่ควรทราบดังนี้ 
                      1)  ผู้ฟ้องคดีต้องเป็นผู้เดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องมาจากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ทั้งนี้ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง เช่น นายเขียวถูกผู้ว่าราชการจังหวัดเพิกถอนใบอนุญาตให้เปิดสถานบริการ นายเขียวย่อมเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เนื่องจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของผู้ว่าราชการจังหวัดมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของนายเขียว
                      2)  ได้ดำเนินการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดตามมาตรา 42 วรรคสอง  เช่น กรณีมีกฎหมายเฉพาะกำหนดให้มีการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยภายใน 30 วัน ผู้ฟ้องคดีจะต้องอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือหากไม่มีกฎหมายเฉพาะกำหนดไว้ให้ดำเนินการตามมาตรา 44  พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไป โดยยื่นอุทธรณ์ต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองภายใน 15 วันนับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าว แต่มีกรณียกเว้นไม่ต้องดำเนินการดังกล่าว ได้แก่ การขอเพิกถอนพระราชกฤษฎีกาหรือกฎที่ออกโดยคณะรัฐมนตรีหรือโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี การเพิกถอนมติของคณะกรรมการหรือสภาต่างๆ การขอเพิกถอนคำสั่งทางปกครองทั่วไป กรณีผู้ฟ้องไม่ใช่คู่กรณี เป็นต้น
                      3) ต้องยื่นฟ้องภายในระยะเวลา การฟ้องคดีปกครองต้องยื่นฟ้องภายใน 90 วันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี หรือนับแต่วันที่พ้นกำหนด 90 วันนับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องขอต่อหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดและไม่ได้รับหนังสือชี้แจงหรือได้รับแต่เป็นคำชี้แจงที่เห็นว่าไม่มีเหตุผล  การฟ้องคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นให้ยื่นฟ้องภายใน 1 ปี และการฟ้องคดีข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองให้ยื่นฟ้องภายใน 5 ปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกิน 10 ปีนับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี ส่วนคดีปกครองเกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือสถานะของบุคคลจะยื่นฟ้องคดีเมื่อใดก็ได้ ตามมาตรา 49,51,52
                      4) คำฟ้องให้ใช้ถ้อยคำสุภาพและต้องมีส่วนประกอบดังนี้ ชื่อและที่อยู่ผู้ฟ้องคดี ชื่อหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องอันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี  การกระทำทั้งหลายที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีพร้อมทั้งข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์เกี่ยวกับการกระทำดังกล่าว คำขอของผู้ฟ้องคดี  และลายมือชื่อของผู้ฟ้องคดีกรณีฟ้องแทนจะต้องแนบใบมอบฉันทะให้ฟ้องคดีมาด้วย ตามมาตรา 45
                      5) คำฟ้องจะต้องขอให้ศาลกำหนดคำบังคับได้ เช่น ฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงขอให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว  ฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรจึงขอให้ศาลสั่งให้หัวหน้าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่ภายในเวลาที่กำหนด หรือฟ้องว่ามีการกระทำละเมิดหรือเป็นความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายจึงขอให้ศาลสั่งให้ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สินหรือให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการ เป็นต้น ทั้งนี้ตามมาตรา 72
                      6) เรื่องความสามารถของผู้ฟ้องคดี บุคคลผู้ไร้ความสามารถจะฟ้องศาลปกครองได้ต่อเมื่อได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยความสามารถก่อน และในกรณีผู้เยาว์ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ประสงค์จะฟ้องคดีด้วยตนเองถ้าศาลสมควรจะอนุญาตให้ฟ้องคดีด้วยตนเองก็ได้ ตามข้อ 26, 27 ระเบียบที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยการพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543
                      7)  การชำระค่าธรรมเนียม  ปกติการฟ้องคดีปกครองไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเว้นแต่การฟ้องคดีการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่น และสัญญาทางปกครองโดยขอให้สั่งให้ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สินตามทุนทรัพย์เงินไม่เกิน 50 ล้านบาท อัตราร้อยละ 2 แต่ไม่เกิน 2 แสนบาท ถ้าทุนทรัพย์เกิน 50 ล้านบาท อัตราร้อยละ 0.1 ตามมาตรา 45 วรรคสี่
                      8) การฟ้องซ้อน ฟ้องซ้ำและการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
                            - นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลแล้วคดีนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาและผลแห่งการนี้ห้ามมิให้ผู้ฟ้องคดียื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่นอีกถือเป็นการฟ้องซ้อน ตามข้อ 36  ระเบียบที่ประชุมใหญ่ฯ
                            - คดีที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีถึงที่สุดแล้วห้ามมิให้คู่กรณีเดียวกันฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันถือเป็นการการฟ้องซ้ำ ตามข้อ 97  ระเบียบที่ประชุมใหญ่ฯ
                            -เมื่อศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีหรือประเด็นข้อใดแห่งคดีแล้ว ห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้น ถือเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ตามข้อ 96  ระเบียบที่ประชุมใหญ่ฯ
ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแก้งกะอาม สพป.กาฬสินธุ์ เขต 3,  ค.บ.,น.บ.,ศษ.ม., หลักสูตรกฎหมายปกครอง
และวิธีพิจารณาคดีปกครองที่ ก.ศป.รับรอง รุ่นที่ 5
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

 

 
กำลังแสดงหน้าที่ 1 จากทั้งหมด 0 หน้า [หน้าถัดไปคือหน้าที่ 2] 1
 

 
เงื่อนไขแสดงความคิดเห็น
1. ทุกท่านมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเสรี โดยไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่กล่าวพาดพิง และไม่สร้างความแตกแยก
2. ผู้ดูแลระบบขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใด ๆ ต่อเจ้าของความคิดเห็นนั้น
3. ความคิดเห็นเหล่านี้ ไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมาย และไม่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับคณะผู้จัดทำเว็บไซต์

ชื่อ :

อีเมล์ :

ความคิดเห็นของคุณ :
                                  

              * ใส่รหัสจากภาพที่เห็นลงในช่องด้านล่าง และใส่คำตอบจากคำถาม เพื่อยืนยันการส่งความเห็น
  และสำลีสีอะไร
    

          ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการแสดงความคิดเห็นโดยสาธารณชน ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าชื่อผู้เขียนที่้เห็นคือชื่อจริง และข้อความที่เห็นเป็นความจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ boyoty999@google.com  เพื่อให้ผู้ดูแลระบบทราบและทำการลบข้อความนั้นออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้