สู้โรคมะเร็ง ที่คุณหมออยากให้รู้
นำเข้าเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2558 โดย จุฬา ศรีบุตตะ
อ่าน [58531]  

เคล็ดลับสู้โรคมะเร็ง ที่คุณหมออยากให้รู้.....

เคล็ดลับสู้โรคมะเร็ง ที่คุณหมออยากให้รู้

       
บทความโดย ดร.พญ.ประกายทิพ สุศิลปรัตน์
       กลุ่มภารกิจด้านบริการปฐมภูมิ
       โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา


 
        เมื่อพูดถึงโรคมะเร็ง ทุกคนคงรู้สึกว่าเป็นทั้ง “โรคร้าย” และ “โชคร้าย” ที่ทำให้ต้องพยายามแสวงหาหนทางในการรักษาและปฏิบัติตัวเพื่อรอดชีวิต ทั้งการรักษาโดยเทคโนโลยีทางการแพทย์แผนปัจจุบันที่นับว่าพัฒนาเจริญก้าวหน้าไปมาก
       
       ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด การให้เคมีบำบัด รังสีรักษาหรือการฉายแสง หรือการใช้ยามุ่งเป้า และยังมีการรักษาโดยใช้การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านไทย หรือการแพทย์ทางเลือกต่างๆ เช่น การแพทย์แผนจีน การใช้สมุนไพร การใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร การทำสมาธิวิปัสสนา การปรับเปลี่ยนอาหารและวิถีชีวิตให้เข้าใกล้ธรรมชาติ ซึ่งผู้ป่วยโรคมะเร็งแต่ละคน ก็อาจเลือกแนวทางการรักษาแนวทางใดแนวทางหนึ่งหรือมากกว่า นำมาผสมผสานปรับใช้ในการดำเนินชีวิต ด้วยความเชื่อมั่น ความศรัทธา และความหวังว่าจะหายจากโรคมะเร็ง หรือถ้าไม่หายก็ขอให้ใช้ชีวิตอยู่กับมะเร็งได้อย่างไม่ทุกข์ทรมาน
       
       โรคมะเร็ง คือเนื้อร้ายที่ลุกลามได้ทั่วร่างกาย ก้อนมะเร็งเป็นกลุ่มเซลล์ที่มีการแบ่งตัวผิดปกติ แบ่งตัวไปเรื่อยๆ เหนือการควบคุมของกลไกในร่างกาย ฉะนั้น การเจ็บป่วยเป็นมะเร็งจึงถือว่าเป็นโรคเรื้อรัง มีความเสื่อมของร่างกายเกิดขึ้น และมีความเกี่ยวข้องกับร่างกายทั้งร่างกายทุกระบบอวัยวะ เมื่อเป็นแล้วต้องรักษากันยาวนาน
       
       คำถามที่พบบ่อยจากผู้ป่วยโรคมะเร็ง คือจะรักษาทางไหนดี จะกินอย่างไร จะอยู่อย่างไร จะสร้างกำลังใจให้ตัวเองอย่างไร ส่วนคำถามจากญาติหรือผู้ดูแลก็ไม่ต่างกัน คือ จะพาผู้ป่วยไปรักษาทางไหนดี จะให้ผู้ป่วยกินอะไร อย่างไร จะให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตอย่างไร ออกนอกบ้านได้หรือไม่ ไปเที่ยวที่ไหนได้บ้าง จะสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วยและตนเองอย่างไร รวมทั้งจะต้องคอยดูแลและเป็นที่พึ่งให้ผู้ป่วยแค่ไหน
       
       เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ วันมะเร็งโลก (World Cancer Day) ปีนี้ (ค.ศ.2015 หรือ พ.ศ.2558) มีการรณรงค์ในหัวข้อ “Cancer: Not beyond us” คือ "มะเร็ง : ไม่ได้เหนือกว่าเรา" หัวข้อการรณรงค์ที่เร้าใจนี้ นอกจากจะสร้างความตระหนักตื่นตัวในการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันมะเร็งแล้ว ยังสื่อให้เห็นถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ปัจจุบันทั้งยาและวิธีการรักษาใหม่ๆ ที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อพยายามเอาชนะโรคมะเร็งให้ได้ และในท้ายที่สุด แม้จะเอาชนะมะเร็งบางชนิดและเอาชนะความเสื่อมของสังขารตามวัฏจักรของชีวิตไม่ได้ แต่มนุษย์เรายังต้องการชัยชนะอีกรูปแบบคือการอยู่กับมะเร็งได้อย่างไม่ทุกข์ทรมาน และใช้เวลาของชีวิตที่เหลืออยู่กับโรคมะเร็งด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี สร้างคุณค่าและความดีงามไว้บนโลกใบนี้ให้มากที่สุดยามที่มีชีวิตอยู่
       
       สำหรับ 4 ประเด็นสำคัญในการรณรงค์วันมะเร็งโลกปีนี้ มีประโยชน์ทั้งต่อผู้ที่ยังไม่เป็นมะเร็ง ผู้ที่เสี่ยงจะเป็นมะเร็ง และผู้ป่วยโรคมะเร็ง ดังนี้
       
       1.สุขภาพดีเราเลือกได้ (Healthy Life Choices)
       
       การมีสุขภาพดีเป็นสิ่งสำคัญ เพราะมะเร็งเกี่ยวข้องกับภูมิต้านทานของร่างกาย การเสริมสร้างภูมิต้านทานที่ดีให้กับร่างกายในทุกวัน ถือเป็นการเตรียมตัวรับมือกับมะเร็งได้ดีที่สุด มี 2 เรื่องสำคัญ คือ
       
       • สุขอนามัยพื้นฐาน ได้แก่ การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การรักษาความสะอาดร่างกาย การอยู่อาศัยในชุมชนที่มีสิ่งแวดล้อมดี การไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา
       
       • สุขภาพจิต คือ การทำสมาธิ การทำใจให้สงบและมีอารมณ์ดี มีผลต่อกำลังใจ
       
       2.มะเร็ง...ค้นหาได้ (Early Detection)
       
       การตรวจคัดกรองสุขภาพตามเพศ อายุ ประวัติและความเสี่ยง รวมทั้งการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหามะเร็งบางชนิดที่สามารถค้นหาได้ หากตรวจพบระยะแรกๆ รักษาได้ทันท่วงที ก็มีโอกาสหาย เช่น การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ แม้ยังมีมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งรังไข่ มะเร็งตับอ่อน ที่ตรวจพบยาก ไม่สามารถคัดกรองหรือค้นหาได้ แต่การหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายอาจช่วยให้ตรวจวินิจฉัยได้เร็วขึ้น เช่น คลำร่างกายพบก้อน เห็นลักษณะผิวหนังที่ผิดปกติ น้ำหนักตัวที่ลดลงผิดปกติ การขับถ่ายที่ผิดปกติหรือแปรปรวน ท้องอืดมากผิดปกติ เป็นต้น
       
       3.มะเร็ง...รักษาได้ เข้าถึงได้ (Treatment for All)
       
       ปัจจุบันผู้ป่วยโรคมะเร็งสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพได้ดีขึ้น มีหน่วยงานที่ให้การรักษามะเร็งในภูมิภาคต่างๆ มีเครื่องมือ ยา และเวชภัณฑ์ใหม่ๆ มากขึ้น มีการให้บริการด้านต่างๆ เช่น การเยี่ยมบ้านเพื่อดูแลผู้ป่วยและครอบครัว การดูแลประคับประคองอาการ การให้ยาระงับปวด ผู้ป่วยที่ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ควบคู่กับปรับเปลี่ยนความคิด วิถีชีวิตและพฤติกรรม เพื่อต่อสู้กับโรคมะเร็งอย่างมีกำลังใจ มีระยะเวลาการรอดชีวิตที่สูงกว่า มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า และมีความทรมานน้อยกว่าในระยะท้ายของโรค
       
       การรักษาโรคมะเร็ง มีทั้งการรักษาแผนปัจจุบัน และการรักษาทางเลือก ปัจจุบันมีการรักษาทางเลือกมากมาย มีข้อมูลต่างๆ ให้สืบค้นได้หลายช่องทาง ซึ่งผู้ป่วยและผู้ดูแลมีความจำเป็นจะต้องมีความรู้และหาข้อมูลเพิ่มเติม ไม่ใช่เพื่อนำทุกวิธีการมาใช้ แต่หากจะเลือกใช้ควรพินิจพิจารณาและเลือกหนทางที่เหมาะสม ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ไม่ซ้ำเติมโรคที่เป็นอยู่ และไม่ขัดขวางการรักษาแผนปัจจุบันจนทำให้ไม่เกิดผลดีใดๆในการรักษาผู้ป่วยเลย
       
       4.เป็นมะเร็ง...มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ (Quality of Life) โดย
       
       • ปรับทัศนคติที่มีต่อโรคมะเร็ง ว่ามะเร็งเป็นโรคหนึ่งที่มีหนทางรักษา มีโอกาส และมีความหวัง
       
       • การหยุดงาน ลดการทำงาน ปรับชั่วโมงการทำงาน เพื่อการพักผ่อนที่เพียงพอ
       
       • การออกกำลังกาย
       
       • การท่องเที่ยว
       
       • การติดตามการรักษา หมั่นสังเกตอาการที่ต้องไปพบแพทย์และบอกเล่าให้แพทย์ฟัง
       
       • โภชนบำบัด หรือการรับประทานอาหารที่ช่วยในการรักษาโรค ซึ่งอาหารเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับการมีชีวิตอยู่ในคนปกติ และเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการดูแลตนเองของผู้ป่วยมะเร็ง เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงพอที่จะต่อสู้กับโรค และมีความพร้อมรับการรักษา อาหารถือว่าเป็นยา เป็นสิ่งที่มีผลต่อร่างกายอย่างมากในทุกๆ วันที่ทำการรักษา ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่เตรียมตัวเข้ารับการรักษา การฟื้นฟูร่างกายหลังผ่าตัดหรือให้เคมีบำบัด อาหารที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเน้นอาหารจากธรรมชาติ ปลอดสารพิษ เส้นใยสูง ได้แก่ ข้าวกล้อง ธัญพืช ผัก ผลไม้ และนำมาประกอบอาหารด้วยวิธีการที่ใช้ไขมันต่ำ
       
       • อาหารเพื่อช่วยรักษามะเร็ง อาจทำให้มีค่าใช้จ่ายมากกว่าปกติบ้าง ทั้งค่าวัตถุดิบที่ต้องเลือกสรร และค่าอุปกรณ์ต่างๆ แต่นับว่าโชคดีที่ยุคสมัยปัจจุบันผู้คนใส่ใจในเรื่องอาหารการกินมากขึ้น เลือกอาหารจากเกษตรธรรมชาติมากขึ้น มีร้านค้าแหล่งซื้อวัตถุดิบต่างๆ ที่หาได้ไม่ยากจนเกินไป
       
       • สุขภาพจิต กำลังใจ การยอมรับความจริง และใช้เวลาอย่างคุ้มค่าสำคัญกับผู้ป่วยมะเร็งมาก สมาชิกในครอบครัวและคนรอบข้างมีส่วนอย่างมากในการเสริมสร้างกำลังใจในการรักษาและปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตสู้กับโรค เป็นหลักให้กับผู้ป่วยยามท้อแท้
       
       มีผู้กล่าวว่า ในมุมมองของแพทย์และนักโภชนาการนั้น หากสามารถเลือกอาวุธวิเศษ 2 สิ่งให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งได้ทันทีที่วินิจฉัย อาวุธนั้นควรจะเป็นสภาวะโภชนาการที่ดี และสุขภาพจิตที่ดี มีความหวังกำลังใจ

 
        ____________________________________________
       
       ** ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวหลักสำคัญเกี่ยวกับมะเร็งที่จะได้นำมาทยอยบอกเล่าให้ได้ติดตามกันนับจากนี้ หากมีคำถามเกี่ยวกับโรคมะเร็ง ฝากคำถามมาได้ที่ (prakaibua@gmail.com หรือ facebook fanpage : สู้สิแม่ ก็แค่มะเร็ง https://www.facebook.com/momfightlungcancer)**

 

 

 
กำลังแสดงหน้าที่ 1 จากทั้งหมด 0 หน้า [หน้าถัดไปคือหน้าที่ 2] 1
 

 
เงื่อนไขแสดงความคิดเห็น
1. ทุกท่านมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเสรี โดยไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่กล่าวพาดพิง และไม่สร้างความแตกแยก
2. ผู้ดูแลระบบขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใด ๆ ต่อเจ้าของความคิดเห็นนั้น
3. ความคิดเห็นเหล่านี้ ไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมาย และไม่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับคณะผู้จัดทำเว็บไซต์

ชื่อ :

อีเมล์ :

ความคิดเห็นของคุณ :
                                  

              * ใส่รหัสจากภาพที่เห็นลงในช่องด้านล่าง และใส่คำตอบจากคำถาม เพื่อยืนยันการส่งความเห็น
  และสำลีสีอะไร
    

          ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการแสดงความคิดเห็นโดยสาธารณชน ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าชื่อผู้เขียนที่้เห็นคือชื่อจริง และข้อความที่เห็นเป็นความจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ boyoty999@google.com  เพื่อให้ผู้ดูแลระบบทราบและทำการลบข้อความนั้นออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้