สู่บทเรียนรับมือภัยพิบัติ
นำเข้าเมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2558 โดย จุฬา ศรีบุตตะ
อ่าน [58558]  

จากธรณีพิโรธเนปาล สู่บทเรียนรับมือภัยพิบัติของญี่ปุ่น .....

จากธรณีพิโรธเนปาล สู่บทเรียนรับมือภัยพิบัติของญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นส่งหน่วยกู้ภัยไปช่วยเหลือเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ที่ประเทศเนปาล
        เหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ที่ประเทศเนปาล ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก โบราณสถานมรดกโลกได้รับความเสียหายอย่างหนัก เหตุภัยพิบัติเช่นนี้เคยเกิดขึ้นหลายครั้งในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีภูมิประเทศอยู่ในเขตที่เสี่ยงต่อภัยพิบัติสารพัดอย่าง ทั้งแผ่นดินไหว, ภูเขาไฟปะทุ และพายุไต้ฝุ่น รัฐบาลและประชาชนชาวญี่ปุ่นจึงต้องเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติอยู่ตลอดเวลา
       
       จากการศึกษาของหน่วยงานป้องกันภัยพิบัติของญี่ปุ่น พบว่า มูลเหตุสำคัญที่ทำให้เสียชีวิตและได้รับอันตรายจากภัยพิบัติ คือ ความตื่นตระหนก และไม่มีการเตรียมพร้อม โดยเฉพาะภัยพิบัติที่น่ากลัวที่สุด คือ แผ่นดินไหว เนื่องจากไม่สามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้

 
จากธรณีพิโรธเนปาล สู่บทเรียนรับมือภัยพิบัติของญี่ปุ่น
ป้ายบอกเส้นทางหนีภัยยามฉุกเฉิน ที่เมืองวากายามะ
        สำหรับคนญี่ปุ่นที่ต้องอาศัยอยู่ในประเทศที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้งแล้ว ทุกคนจะได้รับ “การฝึกรับมือภัยพิบัติ" ปีละหลายครั้งตั้งแต่สมัยชั้นประถม และทุกคนล้วนแต่เคยผ่านประสบการณ์เผชิญกับแผ่นดินไหวขนาดเล็กหรือกลางมาบ้างตั้งแต่วัยเด็ก ดังนั้นเมื่อห้องเกิดการสั่นกึกกักทุกคนก็จะคิดทันทีว่า "แผ่นดินไหวหรือเปล่านะ?" และหากเกิดแผ่นดินไหวขึ้นจริง ทุกคนจะคิดได้โดยอัตโนมัติว่า “ต้องรีบไปปิดแก๊ส และต้องรีบไปเปิดประตู"
       
       แต่ถ้าเป็นชาวต่างชาติที่มาจากประเทศซึ่งไม่ค่อยมีแผ่นดินไหวแล้ว มักไม่ค่อยมีแนวคิดว่า “เสียงกึกกัก น่าจะเกิดแผ่นดินไหว!” เมื่อไม่มีการตั้งสติจึงอยู่ในสภาวะที่ไม่รู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น และตื่นตระหนกจนทำอะไรไม่ถูก บางคนได้แต่นั่งกอดกัน แทนที่จะหาทางหนีไปยังสถานที่ปลอดภัย

 
จากธรณีพิโรธเนปาล สู่บทเรียนรับมือภัยพิบัติของญี่ปุ่น
ป้ายด้านหน้าศูนย์อพยพที่เมืองอะสุกะ ระบุว่า "มีน้ำสำหรับดับไฟอยู่ใต้ดิน"
        ชาวญี่ปุ่นแทบทุกคนจะถูกฝึกให้ “ตื่นตัวแต่ไม่ตื่นตระหนก” กับภัยที่เกิดขึ้น ขณะที่รัฐบาลเน้นย้ำเสมอว่า “การเตรียมพร้อมในทุกวันเป็นสิ่งสำคัญ”
       
       การเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติมีขึ้นในทุกระดับของสังคม โรงเรียนจะให้ความรู้เรื่องภัยพิบัติ ชุมชนและหน่วยงานต่างๆก็มีการซ้อมรับมือภัยพิบัติปีละอย่างน้อย 2 ครั้ง และเมื่อไปติดต่อราชการที่อำเภอจะได้รับ “คู่มือป้องกันภัยพิบัติ” ซึ่งจะมีเนื้อหาบอกถึงการเตรียมสิ่งของที่จำเป็นในยามเกิดภัยพิบัติ รวมทั้งแผนที่สถานที่หลบภัยของแต่ละชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโรงเรียนและสวนสาธารณะ  ขณะที่ตามถนนก็จะมีป้ายบอกเส้นทางหนีภัยอย่างชัดเจน ดังนั้น ชาวญี่ปุ่นทุกบ้านจะรู้ว่าหากเกิดภัยพิบัติขึ้นจะต้องมุ่งหน้าไปยังสถานที่ใด
       
       สำหรับชาวต่างชาติแล้ว เมื่อไปขึ้นทะเบียนที่อยู่อาศัยที่อำเภอก็จะได้รับคู่มือป้องกันภัยพิบัติเช่นเดียวกัน นอกจากนี้รัฐบาลในท้องถิ่นต่างๆ ยังได้จัดทำข้อมูลเส้นทางหนีภัยและการรับมือภัยพิบัติแปลเป็นภาษาต่างๆ ทั้งในรูปแบบหนังสือ, DVD และเว็บไซต์ด้วย

 
จากธรณีพิโรธเนปาล สู่บทเรียนรับมือภัยพิบัติของญี่ปุ่น
ชาวบ้านทุกคนจะได้รับแจกคู่มือยามเกิดภัยพิบัติจากทางราชการท้องถิ่น
        การทำความคุ้นเคย เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญในการช่วยตั้งสติยามเกิดภัยพิบัติ ในแต่ละจังหวัดของประเทศญี่ปุ่นจะมี ศูนย์รับมือภัยพิบัติ หรืออาคารจำลองภัยพิบัติอยู่  ที่นั่นจะมีมุมที่สามารถเข้าไปขอทดลองประสบการณ์แผ่นดินไหว หรือฝึกการดับเพลิงได้ ผู้เข้าชมจะได้สัมผัสกับความรู้สึกจริงเมื่อเผชิญกับแผ่นดินไหว รวมทั้งได้ทดลองใช้อุปกรณ์ดับเพลิง และฝึกการผายปอดหรือปั๊มหัวใจได้ด้วย การได้เห็นได้สัมผัสกับของจริงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างความคุ้นเคย ซึ่งจะทำให้ไม่ตื่นตระหนกเมื่อเกิดภัยขึ้นจริง

 
จากธรณีพิโรธเนปาล สู่บทเรียนรับมือภัยพิบัติของญี่ปุ่น
แอพพลิเคชั่นเตือนภัยแผ่นดินไหวของสถานีโทรทัศน์ NHK
        สื่อมวลชนของญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญในการแจ้งเตือนภัย โดยมีสถานีโทรทัศน์และวิทยุ NHK เป็นแม่ข่ายทั่วประเทศ ทุกเช้าสถานีวิทยุ NHK จะทดสอบสัญญาณเสียงไซเรน ซึ่งใช้เตือนภัยแผ่นดินไหวเพื่อให้ชาวญี่ปุ่นทุกคนรับรู้และคุ้นเคยว่า "เมื่อได้ยินเสียงสัญญาณนี้ให้เตรียมพร้อมหนีภัย! " และในยุคอินเตอร์เน็ต แอพพลิเคชั่นของ NHK ก็มีตัวอย่างเสียงสัญญาณเตือนภัยและรายงานสถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆ ส่วนโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องในญี่ปุ่นก็ถูกกำหนดให้มีระบบแจ้งเตือนภัยแผ่นดินไหวด้วย
       
       นอกจากข้อมูลจากหน่วยราชการท้องถิ่น,ผู้นำชุมชน และ สถานีโทรทัศน์และวิทยุ NHK แล้ว สื่อมวลชนอื่นๆ ของญี่ปุ่น ก็นำเสนอข่าวสารเรื่องการป้องกันภัยพิบัติอยู่เป็นประจำ ทำให้ชาวญี่ปุ่นมี "สัญชาติญาณการระวังภัย" อยู่ในตัวเอง

 
จากธรณีพิโรธเนปาล สู่บทเรียนรับมือภัยพิบัติของญี่ปุ่น
ข้อมูลเรื่องการป้องกันภัยพิบัติในหนังสือพิมพ์โยมิอุริ ชิมบุน วันที่ 26 เมษายน 2015
        ชาวญี่ปุ่นตระหนักดีว่า ภัยพิบัติหลายอย่างไม่อาจป้องกันได้ แต่การเตรียมคาวมพร้อมและสร้างความคุ้นเคย จะช่วยรักษาชีวิตและลดความสูญเสียให้น้อยลงได้  ชาวญี่ปุ่นไม่เคยคิดว่า “แถวบ้านฉันไม่มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหว ” หรือ “ภัยพิบัติเป็นเรื่องของโชคชะตา ”  เพราะโลกทุกวันนี้ สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในอดีต ไม่ได้หมายความว่าไม่มีโอกาสเกิดขึ้น เหมือนเช่นเหตุการณ์คลื่นสึนามิที่ประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2547  ในครั้งนั้นมีคนไทยกี่คนที่รู้จักว่า “สึนามิคืออะไร” ?
 

เผยภาพถ่ายพื้นที่แผ่นดินไหวเนปาลจากดาวเทียมไทย

เผยภาพถ่ายพื้นที่แผ่นดินไหวเนปาลจากดาวเทียมไทย
        ก.วิทย์เผยภาพพื้นที่แผ่นดินไหวเนปาลจากดาวเทียมไทยทั้งก่อนและหลังเหตุการณ์ พร้อมเตรียมส่งภาพถ่ายให้ยูเอ็นในฐานะตัวแทนโครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเซียและแปซิฟิก
        
       ตามที่ได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวอย่างรุนแรงที่ประเทศเนปาล เมื่อเสาร์ที่ 25 เมษายน 2558 เวลา 11.56 น. ตามเวลาท้องถิ่นของเนปาล หรือ 13.11 น. ตามเวลาในประเทศไทย ขนาด 7.9 ริกเตอร์ โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ลึกลงไปได้พื้นดิน 11.9 กิโลเมตร ห่างจากกรุงกาฐมาณฑุ เมืองหลวงของประเทศเนปาล ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราว 80 กิโลเมตร สร้างความสูญเสียครั้งรุนแรงที่สุดของประเทศเนปาล นับตั้งแต่เหตุการณ์แผ่นดินไหวในรัฐพิหาร เมื่อ พ.ศ.2477 ที่พรากชีวิตผู้คนไปหลายหมื่นชีวิต
       
       ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ได้มอบหมายให้ทางสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) บันทึกภาพบริเวณพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวด้วยดาวเทียมไทยโชต เพื่อดูสภาพการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ก่อนและหลัง โดย สทอภ.ได้บันทึกภาพเมื่อวันที่ 27 เม.ษ.58 เวลา 12.10 น. ตามเวลาในประเทศไทย และทำการเปรียบกับข้อมูลภาพก่อนเกิดแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 8 เม.ษ.57
       
       รายละเอียดภาพ ดังนี้ ภาพที่ 1 เปรียบเทียบข้อมูลภาพจากดาวเทียมไทยโชต เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2557 และวันที่ 27 เมษายน 2558 บริเวณเมืองกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล ภาพที่ 2 เปรียบเทียบข้อมูลภาพจากดาวเทียมไทยโชต เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2557 และวันที่ 27 เมษายน 2558 บริเวณจตุรัสกาฐมาณฑุ ดูบาร์ เมืองกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล และ ภาพที่ 3 เปรียบเทียบข้อมูลภาพจากดาวเทียมไทยโชต พื้นที่อพยพ เมืองกาฐมาณฑุ เมื่อวันที่ 8 เม.ษ.57 และวันที่ 27 เม.ษ.58
       
       ดร.พิเชฐ กล่าวว่า สทอภ.จะส่งแผนที่ดังกล่าวให้กับ องค์การสหประชาชาติด้วยในฐานะที่เป็นตัวแทนประเทศไทยในโครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเซียและแปซิฟิก (RESAP) เพื่อสนับสนุนข้อมูลให้กับประเทศสมาชิกในกรณีเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ ซึ่งเนปาลเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิก RESAP ด้วย ทั้งนี้ การนำเอาภาพถ่ายทางดาวเทียมนับเป็นประโยชน์อย่างมากในการตรวจสอบความเสียหายในลักษณะภาพรวม เหมือนครั้งที่เกิดสึนามิในประเทศไทยเมื่อปี 2547 การเกิดอุทกภัยครั้งประวัติศาสตร์เมื่อปี 2554 รวมถึงปัญหาน้ำมันรั่วไหลในหลายครั้งในอดีต

 
เผยภาพถ่ายพื้นที่แผ่นดินไหวเนปาลจากดาวเทียมไทย
        

       

       
       
      
 

 

 
กำลังแสดงหน้าที่ 1 จากทั้งหมด 0 หน้า [หน้าถัดไปคือหน้าที่ 2] 1
 

 
เงื่อนไขแสดงความคิดเห็น
1. ทุกท่านมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเสรี โดยไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่กล่าวพาดพิง และไม่สร้างความแตกแยก
2. ผู้ดูแลระบบขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใด ๆ ต่อเจ้าของความคิดเห็นนั้น
3. ความคิดเห็นเหล่านี้ ไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมาย และไม่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับคณะผู้จัดทำเว็บไซต์

ชื่อ :

อีเมล์ :

ความคิดเห็นของคุณ :
                                  

              * ใส่รหัสจากภาพที่เห็นลงในช่องด้านล่าง และใส่คำตอบจากคำถาม เพื่อยืนยันการส่งความเห็น
  และสำลีสีอะไร
    

          ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการแสดงความคิดเห็นโดยสาธารณชน ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าชื่อผู้เขียนที่้เห็นคือชื่อจริง และข้อความที่เห็นเป็นความจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ boyoty999@google.com  เพื่อให้ผู้ดูแลระบบทราบและทำการลบข้อความนั้นออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้