“กลไกตรวจสอบการใช้อำนาจ”
นำเข้าเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2558 โดย  
อ่าน [58513]  

“กลไกตรวจสอบการใช้อำนาจ” .....

ในการเมืองระบอบประชาธิปไตย “กลไกตรวจสอบการใช้อำนาจ” ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อมิให้ผู้ปกครองหรือรัฐบาลใช้อำนาจไปในทางทุจริต ซึ่งนอกจากรัฐสภาและศาลแล้ว “องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ” ก็เป็นอีกเสาหลักหนึ่งในการทำหน้าที่สอดส่องดูแล ทั้งฝ่ายการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง

รัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา ทั้ง 2540 และ 2550 ให้ความสำคัญกับองค์กรอิสระเหล่านี้มาก โดยเฉพาะ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) , คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และ ผู้ตรวจการแผ่นดิน อันเป็น 3 หน่วยงานหลักที่ตรวจสอบการใช้อำนาจหรือดำเนินนโยบายของเจ้าหน้าที่รัฐโดยตรง ทว่ายังมีข้อจำกัดบางประการ ดังที่ปรากฏตามหน้าสื่อ ว่าคดีความล่าช้าจนล้นบ้าง หรือทำได้แค่ตักเตือน ไม่สามารถลงโทษใครได้บ้าง แม้ความเสียหายจะเริ่มเกิดขึ้นแล้วก็ตาม

จนบางครั้ง..ก็มีคนให้สมญานามองค์กรเหล่านี้ว่า “เสือกระดาษ” ที่ไม่มีเขี้ยวเล็บ!!!

“เทียบเคียงกับ ป.ป.ช.ฮ่องกง ป.ป.ช.สิงคโปร์ เมื่อเทียบเคียงแล้ว ป.ป.ช.ฮ่องกง มีบุคคลากร 1,300 กว่าคน แต่ท่านดูงบประมาณของฮ่องกงถ้าเทียบกับไทย งบประมาณ ป.ป.ช. ของเราน้อยนิด อำนาจมากมายและอำนาจนี้ก็ไม่ได้อยู่ในระบบผ่อนผัน”

เสียงสะท้อนจาก นางศิริรัตน์ วสุวัต ผู้เชี่ยวชาญด้านวิจัย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการ “การปรับปรุงโครงสร้างองค์กรอิสระเพื่อต่อต้านคอร์รัปชั่น” จัดโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เมื่อเดือน มี.ค. 2558 ณ โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด กทม. เปรียบเทียบงบประมาณหน่วยงานตรวจสอบการทุจริตของภาครัฐ ที่ ป.ป.ช. ของไทย ได้งบประมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับ ป.ป.ช. ในต่างประเทศ แต่ภารกิจนั้นหนักไม่ต่างกัน

เชื่อหรือไม่?..งบประมาณ ป.ป.ช.ต่างชาติ อยู่ที่ “หลักร้อยล้านบาท” ต่อปี ขณะที่ ป.ป.ช. ไทย ได้งบแค่ “ยี่สิบกว่าล้านเศษ” ต่อปีเท่านั้น!!!

ปัญหาอีกประการหนึ่ง คือเรื่องของ “ความเป็นอิสระ” ในการได้มาซึ่งงบประมาณ โดย นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการและโฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ในการทำงานตรวจสอบ ก็ต้องใช้ทั้งบุคลากรและงบประมาณ แต่ที่ผ่านมาต้องรอการจัดสรรงบประมาณจากรัฐสภา ซึ่งบางทีก็จัดสรรมาให้ไม่เพียงพอกับภาระงาน

“องค์กรเหล่านี้จะทำงานได้เป็นอิสระ ต้องจัดสรรงบประมาณบุคคลากรให้เพียงพอ ในส่วนของผู้ตรวจการแผ่นดินแบ่งเป็นเรื่องของการอุดหนุน ในเรื่องของบุคคลากรเราต้องมีระเบียบ อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตดังนี้ครับ..ถึงแม้ว่าจะมีระเบียบในเรื่องของการจัดคนอะไรต่างๆ แต่ว่าเราจะจัดสรรตำแหน่งอัตราก็ต้องปรึกษาหารือ เราจัดคนไว้แต่เค้าไม่จัดสตางค์มาให้ เราก็ดำเนินการต่อไปไม่ได้ เป็นอีกประการหนึ่งที่อยู่ในข้อเสนอแนะอย่างชัดเจน”

เลขาธิการและโฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าว พร้อมเสนอแนะว่า เป็นไปได้หรือไม่? ที่หากจะระบุในกฎหมาย ให้กันงบประมาณส่วนหนึ่งโดยคิดเป็นร้อยละของงบประมาณแผ่นดินประจำปี จัดสรรให้องค์กรอิสระเหล่านี้ไปจัดสรรกันเอง

ซึ่งจะสอดคล้องกับความเห็นของ นางศิริรัตน์ ที่ยกตัวอย่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่กฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่าได้งบประมาณจาก “ภาษีบาป” หรือรายได้จากเครื่องดื่มมึนเมาและยาสูบ ทำให้มีความเป็นอิสระและทำงานได้เกิดประสิทธิภาพ มากกว่าการต้องมารองบประมาณจากส่วนกลาง

“งบประมาณถ้าเทียบเคียงกับ สสส. คืองบประมาณเสียภาษีของสุรา ยาสูบ แล้ว สตง. ผู้ตรวจการแผ่นดิน องค์กรอิสระ ทำไมเราไม่ได้เห็นตารางเงินเช่น สสส. ถ้าเทียบเคียงแล้วน่าจะยกตรงนี้มาเป็นตัวแบบ กำหนดงบประมาณให้ตอบรับการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่” นางศิริรัตน์ ระบุ

ถึงกระนั้น..นอกเหนือจากเรื่องงบประมาณที่เพียงพอแล้ว “ยุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง” เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ให้ความเห็นว่าต้องเน้นเรื่อง “ป้องกัน” เป็นหลัก จะไปหวังที่ “ปราบปราม” คงไม่ดีนัก เพราะการปราบปรามหรือการเอาผิด จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีการกระทำผิดแล้ว ซึ่งเท่ากับว่าเกิด “ความเสียหาย” ขึ้นแล้วเช่นกัน และบ่อยครั้งกว่าคดีจะสิ้นสุด ก็ใช้เวลาหลายปี

เหล่าผู้ฉ้อฉล..มองเห็นแล้วว่า “คุ้ม” จึงกล้าที่จะ “ทุจริต” อย่างไม่เกรงกลัวกฏหมาย!!!

“ป.ป.ช. มีกฎหมายใหม่แล้วก็สั่งในเรื่องของการป้องกันขึ้นมาโดยเฉพาะ แต่ว่าการทำงานยังทำในเชิงปราบปราม มีคนฟ้องก็ไต่สวน แต่การป้องกันอีกแบบนี่ไม่มีใครผิด แต่ก่อให้เกิดความเสี่ยง ซึ่งในการทำงานต้องทำงานในเชิงรุก ถ้าป้องกันจะประหยัดงบประมาณ พวกทุจริตกลัวป้องกันมากกว่าปราบปราม

การปราบปราม ถ้าเขาได้เงินได้ทองตามที่ปรารถนาแล้ว แล้วก็รู้ด้วยว่าระยะเวลาในการไต่สวนมันยาว ถึงแม้ว่าจะเป็นองค์กรอิสระและทำด้วยความยุติธรรมอย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้นเขารู้ว่าอีกยาวนานกว่าเค้าจะไต่สวนเสร็จ เลยอยากฝากว่ายุทธการการป้องกันของ ป.ป.ช. ต้องทำงานเป็นเชิงรุก” นายวิชัย ให้ความเห็น

อย่างไรก็ตาม การป้องกันการทุจริตที่ดีที่สุด ไม่ได้อยู่ที่องค์กรอิสระอย่างเดียว แต่ต้องทำให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูล-ข้อเท็จจริงด้วย แต่ที่ผ่านมา การเปิดเผยข้อมูลงบประมาณ การใช้จ่ายต่างๆ ของรัฐ ยังมีข้อบกพร่อง นายวิชัย ยกตัวอย่างสำคัญ คือ หลายเรื่องกำหนดให้ต้องเปิดเผยต่อรัฐสภา แต่หากรัฐสภาไม่มีใครเรียกร้องซักถาม ข้อมูลนั้นก็ไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ

แล้วประชาชนจะมีส่วนร่วมตรวจสอบได้อย่างไร? หากไม่มีข้อมูลที่ถูกต้องเพียงพอ!!!

“การเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะชน  ผมคิดว่าเอกสารเปิดเผยเราต้องไปฝั่ง ครม.หรือว่าผ่านทางรัฐสภา แต่ว่าถ้าเขาไม่ถามก็เปิดเผยไม่ได้ เสียหายมาก  คือต้องเสนอไปเลยว่าถ้าไม่เสนอภายใน 30 วันจะทำอย่างไร มันควรจะมีในจุดนี้ คำว่ามีส่วนร่วมกับประชาชนทุกคนพูด แต่ไม่มีใครมีโปรเจ็คท์ที่เป็นรูปธรรมนอกจากพูดเป็นเชิงอุดมการณ์ แต่ข้อมูลที่จะเปิดเผยกับประชาชนนี่แหละที่เรียกว่ามีส่วนร่วม ถ้าเราสามารถเปิดเผยต่อสาธารณะชนโดยไม่ไปต่อว่าเขา

ซึ่งถ้าในปัจจุบัน สตง. ตั้ง คตร. ตรวจสอบเรื่องการเร่งรัดงบประมาณภาครัฐ ตรวจสอบเรื่องความผิดปกติส่วนหนึ่ง ส่วนหนึ่งเรื่องเร่งรัด ค้างอะไรทำไมไม่เปิดเผยกับประชาชน? สามารถเปิดเผยเป็นทางวิชาการก็ได้ ถือเป็นการมีส่วนร่วม ที่ควรทำ เรื่องการเปิดเผยประชาชนเรื่องดึงสาธารณะชนเป็นพวก คือ การที่ตั้งองค์กรตามที่ประชาชนต้องการ ซึงผมว่าควรพยายามให้ประชาชนเป็นส่วนร่วม” รองประธานกรรมการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ฝากทิ้งท้าย

ชนัดดา บุญครอง

SCOOP@NAEWNA.COM

 

 
กำลังแสดงหน้าที่ 1 จากทั้งหมด 0 หน้า [หน้าถัดไปคือหน้าที่ 2] 1
 

 
เงื่อนไขแสดงความคิดเห็น
1. ทุกท่านมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเสรี โดยไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่กล่าวพาดพิง และไม่สร้างความแตกแยก
2. ผู้ดูแลระบบขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใด ๆ ต่อเจ้าของความคิดเห็นนั้น
3. ความคิดเห็นเหล่านี้ ไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมาย และไม่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับคณะผู้จัดทำเว็บไซต์

ชื่อ :

อีเมล์ :

ความคิดเห็นของคุณ :
                                  

              * ใส่รหัสจากภาพที่เห็นลงในช่องด้านล่าง และใส่คำตอบจากคำถาม เพื่อยืนยันการส่งความเห็น
  และสำลีสีอะไร
    

          ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการแสดงความคิดเห็นโดยสาธารณชน ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าชื่อผู้เขียนที่้เห็นคือชื่อจริง และข้อความที่เห็นเป็นความจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ boyoty999@google.com  เพื่อให้ผู้ดูแลระบบทราบและทำการลบข้อความนั้นออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้