มะเร็งเต้านมป้องกันได้
นำเข้าเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2557 โดย นายจุฬา ศรีบุตตะ
อ่าน [58531]  

.....

 
 

Pic_398127

 

“มะเร็งเต้านม” กับผู้หญิงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานาน และในปัจจุบันมีแนวโน้มว่าอัตราผู้ป่วยจะเพิ่มมากขึ้น ฉะนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงสนับสนุนให้ทําการ “ตรวจคัดกรอง” หรือที่เรียกว่า “Screening” เพื่อตรวจหาความผิด ปกติตั้งแต่ระยะเริ่มแรก หรือก่อนระยะลุกลามซึ่งมีโอกาสหายขาดได้ โดยมีวิธีการให้เลือก 3 แบบ ดังนี้

• การตรวจแมมโมแกรม

• การตรวจเต้านมโดยแพทย์หรือบุคลากรทางแพทย์ที่ได้รับการอบรมพิเศษ

• การตรวจเต้านมด้วยตนเอง

วิธีแรก “แมมโมแกรม” (Mammogram) ได้รับการยอมรับว่าดีที่สุด โดยใช้เครื่องมือเฉพาะเพื่อเอกซเรย์เต้านม ด้วยวิธีการกดเต้านมและถ่ายภาพข้างละ 2 ท่า จากนั้นรังสีแพทย์จะทําการแปลผล โดยปกติแนะนําให้ผู้หญิงอายุ 40 ปี ขึ้นไปตรวจด้วยวิธีนี้ทุก 1-2 ปี โดยผู้ที่มีความเสี่ยงสูงคือผู้ที่มีประวัติเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ในครอบครัว และ หากสมาชิกเหล่านั้นเป็นมะเร็งก่อนอายุ 50 ปีหรือมีสมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งหลายคนจะมีความเสี่ยงสูงขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเพิ่มเติมความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม ได้แก่ผู้ที่เคยฉายแสงบริเวณหน้าอกตั้งแต่อายุน้อย เคยได้รับการเจาะชิ้นเนื้อหรือผ่าตัดเต้านมแล้วมีเซลล์ผิดปกติและมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านมในเต้านมอีกข้าง นอกจากนี้ผู้ที่ได้รับฮอร์โมนเสริมทดแทนในวัยทองก็ควรได้รับการตรวจแมมโมแกรมทุกปี เพราะมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่มีการตอบสนองต่อฮอร์โมนเพศหญิง การได้รับฮอร์โมนเสริมอาจทําให้มะเร็งที่ซ่อนอยู่โตเร็วขึ้น

หลายคนอาจสงสัยว่าคนหน้าอกใหญ่มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าคนหน้าอกเล็กหรือไม่ ในความเป็นจริง ขนาดของเต้านมไม่ใช่ปัจจัยที่จะบอกว่ามีโอกาสเป็นมะเร็งหรือไม่ แต่ปัจจัยสําคัญกว่าคือความหนาแน่นของเนื้อเต้านม ซึ่งหมายถึงสัดส่วนระหว่างเนื้อกับไขมันในเต้านม ผู้ที่มีความหนาแน่นของเนื้อมากจะมีความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม มากกว่า แต่ทั้งนี้ความเสี่ยงก็ไม่ได้มากเท่ากับกลุ่มที่มีสมาชิกใรครอบครัวเป็นมะเร็งหรือมีประวัติมาก่อน

หลังการตรวจแมมโมแกรม บางครั้งรังสีแพทย์อาจต้องตรวจอัลตร้าซาวด์เพิ่มเติมโดยเฉพาะในผู้หญิงที่มีความหนาแน่นของเนื้อเต้านมมาก เพราะอาจบดบังสิ่งผิดปกติจากการตรวจแมมโมแกรม นอกจากนี้ อัลตร้าซาวด์ยังช่วยหาคําตอบว่าสิ่งผิดปกติหรือสิ่งที่สงสัยในแมมโมแกรมเป็นความผิดปกติจริงหรือไม่ รวมทั้งสามารถแยกแยะชนิดของความผิดปกติ (ก้อนเนื้อหรือถึงน้ํา) ที่แมมโมแกรมไม่สามารถแยกได้ด้วย อย่างไรก็ตาม อัลตร้าซาวด์ไม่สามารถทดแทนแมมโมแกรมได้ เนื่องจากมีข้อจํากัดในการตรวจแคลเซี่ยมหรือหินปูน ซึ่งมะเร็งเต้านมก่อนระยะลุกลามส่วนใหญ่จะมีแคลเซี่ยมเป็นสิ่งผิดปกติชนิดเดียวที่ตรวจพบได้ด้วยแมมโมแกรม

มีข้อควรคํานึงเล็กน้อยคือช่วงเวลาเหมาะสมที่สุดสําหรับการตรวจแมมโมแกรมคือ 7-14 วันหลังหมดประจําเดือน แต่ในทางปฏิบัติการนัดตรวจผู้ป่วยอาจไม่ตรงกับช่วงเวลาดังกล่าว ผู้รับบริการไม่ต้องรู้สึกกังวลเพราะช่วงดังกล่าว มีผลกระทบต่อการแปลผลของรังสีแพทย์ไม่มากนัก

วิธีที่สองคือ การตรวจเต้านมโดยแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรมเป็นพิเศษ หรือ Clinical Breast Examination (CBE) ในประเทศไทยแนะนําให้เริ่มตรวจเต้านมด้วยวิธีนี้เมื่ออายุ 40 ปี ปีละ 1 ครั้ง อย่างไรก็ตาม การตรวจด้วยวิธีนี้มีข้อจํากัดเพราะว่าก้อนเมื่อคลําได้ต้องมีขนาดพอสมควร อีกทั้งแคลเซียมชนิดที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งไม่สามารถคลําพบด้วยวิธีนี้

วิธีที่สามคือ การตรวจเต้านมด้วยตนเอง หรือ Breast Self-Examination (BSE) การตรวจวิธีนี้จะเกิดประโยชน์ ถ้าทราบวิธีการที่ถูกต้อง แต่ถึงกระนั้นวิธีนี้ก็มีข้อจํากัดคล้ายวิธี CBE คือ กว่าจะตรวจพบก้อนหรือความผิดปกติที่เต้านม โรคก็ดําเนินไประยะหนึ่งแล้ว กล่าวคือ โอกาสจะตรวจพบมะเร็งในระยะแรกเป็นไปได้ยาก

อย่างไรก็ดี การตรวจ BSE ในประเทศไทยยังมีประโยชน์เนื่องจากเครื่องแมมโมแกรม อัตรารังสีแพทย์และเจ้าหน้าที่รังสีเทคนิคมีจํานวนจํากัด สถาบันมะเร็งแห่งชาติจึงแนะนําให้ผู้หญิงไทยอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปตรวจเต้านมด้วย ตนเองทุก 1 เดือน ซึ่งข้อพึงระวังคือการตรวจด้วยตนเองอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้ หรือมีความคลาดเคลื่อนเรื่อง ก้อนเนื้อบนเต้านม แต่ถึงกระนั้น การตรวจวิธีนี้ก็มีประโยชน์ในแง่ที่กระตุ้นให้ผู้หญิงเอาใจใส่สุขภาพเต้านมของตนเอง เพราะไม่มีใครคุ้นเคยกับเต้านมของเราเท่าตัวเราเอง การตรวจพบความผิดปกติจะช่วยให้มาพบแพทย์ได้เร็วขึ้น

พ.ญ.ชลทิพย์ วิรัตกพันธ์

คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี

 

 
กำลังแสดงหน้าที่ 1 จากทั้งหมด 0 หน้า [หน้าถัดไปคือหน้าที่ 2] 1
 

 
เงื่อนไขแสดงความคิดเห็น
1. ทุกท่านมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเสรี โดยไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่กล่าวพาดพิง และไม่สร้างความแตกแยก
2. ผู้ดูแลระบบขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใด ๆ ต่อเจ้าของความคิดเห็นนั้น
3. ความคิดเห็นเหล่านี้ ไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมาย และไม่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับคณะผู้จัดทำเว็บไซต์

ชื่อ :

อีเมล์ :

ความคิดเห็นของคุณ :
                                  

              * ใส่รหัสจากภาพที่เห็นลงในช่องด้านล่าง และใส่คำตอบจากคำถาม เพื่อยืนยันการส่งความเห็น
  และสำลีสีอะไร
    

          ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการแสดงความคิดเห็นโดยสาธารณชน ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าชื่อผู้เขียนที่้เห็นคือชื่อจริง และข้อความที่เห็นเป็นความจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ boyoty999@google.com  เพื่อให้ผู้ดูแลระบบทราบและทำการลบข้อความนั้นออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้