สัญญาณอันตราย...การศึกษาไทยท็อปบ๊วยอาเซียน
นำเข้าเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2557 โดย นายจุฬา ศรีบุตตะ
อ่าน [58527]  

.....

 

นับว่าเป็นอีกกระแสหนึ่งที่ช่วยปลุกให้คนไทยหันมาสนใจกับเรื่อง คุณภาพการศึกษา คุณภาพเด็กไทย และคุณภาพคนไทยในอนาคตได้เป็นอย่างดี

วันพุธ 1 มกราคม 2557 เวลา 00:00 น.
 

เป็นกระแสฮือฮาที่สามารถสร้างความตระหนักให้แก่วงการศึกษาไทยได้มากสำหรับปี 2556 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป กับข่าวการเปิดเผยข้อมูลการประชุม World Economic Forum (WEF) - The Global Cometitiveness Report 2012-2013 ซึ่งเป็นการประชุม “เวทีเศรษฐกิจโลก” ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยปีนี้ได้มีการเปิดข้อมูลการจัดอันดับคุณภาพการศึกษาของประเทศในกลุ่มอาเซียน ที่ระบุว่า อันดับ 1 ได้แก่ สิงคโปร์ อันดับ 2 มาเลเซีย อันดับ 3 บรูไน ดารุสซาลาม อันดับ 4 ฟิลิปปินส์ อันดับ 5 อินโดนีเซีย อันดับ 6 กัมพูชา อันดับ 7 เวียดนาม และอันดับ 8 ไทย นั่นหมายความว่า วันนี้ประเทศไทยอยู่ในอันดับรั้งท้ายแล้วหรือ

 

นับว่าเป็นอีกกระแสหนึ่งที่ช่วยปลุกให้คนไทยหันมาสนใจกับเรื่อง คุณภาพการศึกษา คุณภาพเด็กไทย และคุณภาพคนไทยในอนาคตได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะนี้ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เราจะต้องเร่งเตรียมความพร้อมให้แก่คนในประเทศเพื่อพร้อมรับมือกับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อวันนั้นมาถึงการแข่งขันอย่างรุนแรงจะต้องเกิดขึ้น ไม่เพียงแต่คนในประเทศที่จะต้องแข่งขันกันเอง แต่จะมีเพื่อนจากประเทศต่าง ๆ เข้ามาร่วมแข่งขันซึ่งจะเป็นการแข่งขันในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะเรื่องของการจ้างงานที่การแข่งขันสูงแน่นอน คนไทยมีสิทธิถูกแย่งงาน เพราะฉะนั้นการยกระดับพัฒนาคุณภาพคนไทยจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อสร้างโอกาสในการทำงานหรือเพื่อการมีงานทำ

 

ถือว่าเป็นจังหวะและโอกาสที่เรื่อง การปฏิรูปการศึกษา ถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งคงไม่ใช่การทำตามกระแสแต่เป็นความจำเป็น เพราะที่ผ่านมาไม่ว่ารัฐบาลใดก็ตามที่เข้ามาบริหารประเทศ เรื่องการปฏิรูปการศึกษาจะถูกพูดถึงและถูกยกให้เป็นนโยบายสำคัญ โดยมีเป้าหมายที่คนไทยได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพซึ่งจะส่งผลถึงคุณภาพของคนไทย “เด็กไทยต้องคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาได้” จนกลายเป็นคำพูดติดปากถึงความเป็นเด็กไทยที่พึงประสงค์ หรือคนไทยในอนาคต เพราะคุณภาพของคนต้องเกิดขึ้นด้วยคุณภาพการศึกษา จึงหลีกไม่พ้นที่จะต้องมีการปฏิรูปการศึกษา

 

การปฏิรูปการศึกษาเริ่มต้นมาตั้งแต่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 โดยมีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องยอมรับว่านับแต่การปฏิรูปการศึกษาเมื่อปี 2542 มาถึงวันนี้ต้องถือว่าล้มเหลว เวลาผ่านมาร่วม 14 ปี ยังไปไม่ถึงโรงเรียน เพราะมัวแต่สาละวนอยู่กับเรื่องการปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงาน ระบบการบริหารจัดการ การจัดระเบียบต่าง ๆ รวมถึงการกระจายอำนาจจากส่วนกลางให้พื้นที่ดำเนินการเอง แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมาย ทำให้ต้องตามแก้ปัญหาที่เกิดจากการปรับโครงสร้างทั้งเรื่องการกระจายอำนาจ การจัดคนลงตำแหน่ง จนลืมให้ความสำคัญกับจุดหมายหลักของการปฏิรูปการศึกษานั่นคือ คุณภาพของคน

 

เรื่องการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ของเด็กไทยก็เป็นปัญหาสำคัญที่คนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่า มีส่วนเป็นจุดตั้งต้นของปัญหาคุณภาพเด็กไทย ซึ่งล่าสุดจากการรายงานความก้าวหน้าการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายปฏิรูปการศึกษา เรื่องการปฏิรูปการเรียนการสอน การเร่งรัดคุณภาพการอ่านรู้เรื่องสื่อสารได้ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รายงาน ผลการสแกนนักเรียนชั้น ป.3 และ ป.6 โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม พบว่า กลุ่มที่ 1 นักเรียนอ่านไม่ได้มีทั้งสิ้น 45,929 คน แบ่งเป็นนักเรียน ป.3 จำนวน 33,084 คน คิดเป็น 6.43% และ ป.6 จำนวน 12 ,845 คน คิดเป็น 2.51% กลุ่มที่ 2 นักเรียนที่อ่านได้และเข้าใจเรื่องบ้าง มีทั้งสิ้น 365,420 คน แบ่งเป็น ป.3 จำนวน 184,598 คน คิดเป็น 35.89% และ ป.6 จำนวน 180,822 คน คิดเป็น 35.40% และกลุ่มที่ 3 นักเรียนที่อ่านได้และเข้าใจเรื่องดี ซึ่งแต่ละระดับชั้นจะมีมากกว่า 50%

 

ว่ากันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการปรับเปลี่ยนหลักสูตรและวิธีการสอน หนักกว่านั้นเรื่องเก่าบางเรื่องที่เป็นคุณลักษณะเฉพาะของคนไทยถูกมองว่าเป็นเรื่องคร่ำครึ คือ การสอนให้เด็กอ่านเขียนภาษาไทยในระดับชั้น ป.1-2 ถูกแปรเปลี่ยน ไม่สอนแบบแจกลูกและสะกดคำ พอเรื่องนี้หายไปเด็กก็อ่านไม่ออก ทำให้เรียนวิชาอื่นไม่ได้ เวลามีการทดสอบต่าง ๆ ก็ทำคะแนนได้ไม่ดี เพราะอ่านไม่ออก ตีความไม่แตก ทำให้คิดอะไรไม่เป็น ก็ทำให้ตกต่ำกันทั้งระบบ แต่เรื่องนี้จะโทษครูอย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาที่ทำให้ครูมีภาระงานมากขึ้น

 

เรื่องของการอาชีวศึกษา เป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาให้ความสำคัญที่ต้องเร่งปฏิรูป เพื่อขับเคลื่อนให้การอาชีวศึกษาผลิตกำลังคนระดับช่างฝีมือป้อนตลาดแรงงานทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในขณะที่กำลังจะเปิดประตูประชาคมอาเซียนในปี 2558 ซึ่งแรงงานช่างฝีมือถือเป็นกลุ่มบุคลากรที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดแต่ก็ขาดแคลนที่สุด ซึ่งนายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ ดูเหมือนจะเน้นย้ำกับการอาชีวศึกษาเป็นพิเศษ โดยพยายามขับเคลื่อนให้มีการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนสายอาชีวศึกษาให้มีความทันสมัย ตรงกับความต้องการของตลาด รวมถึงให้มีการเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษาต่อสามัญศึกษาให้ได้ 51 ต่อ 49 ภายในปี 2558 จากปัจจุบันที่อยู่ที่ 36 ต่อ 64 ในขณะที่แนวโน้มผู้เรียนสายอาชีพลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมากที่หน่วยงานหลักด้านการอาชีวศึกษาอย่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ต้องรับบทหนักในการสร้างแรงจูงใจโดยใช้กระบวนการแนะแนวเพื่อเดินไปให้ถึงเป้าหมายให้ได้

 

ส่วนของอุดมศึกษาในปีที่ผ่านมาจะเน้นคุณภาพของการจัดการศึกษาเป็นหลัก ซึ่งส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการแก้ปัญหาอันเนื่องมาจากการซื้อขายใบประกาศนียบัตรวิชาชีพครู หรือ ป.บัณฑิต ผ่านระบบการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้ง และการซื้อขายวุฒิการศึกษาผ่านทางเว็บไซต์โดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย และจากที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) พยายามจะควบคุมคุณภาพการศึกษา ทำให้เกิดสิ่งที่น่าห่วงและต้องจับตาดูกับสถาบันอุดมศึกษาบางแห่งพยายามเลี่ยงไปจัดการศึกษาทางไกลแทนการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้ง เพื่อหากำไร ซึ่ง สกอ.ก็พยายามปิดช่องด้วยการออกเกณฑ์การประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาระบบการศึกษาทางไกลที่เข้มขึ้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องการเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนที่ดูเหมือนว่าทางอุดมศึกษาจะตื่นตัวระดับหนึ่งที่มีการเตรียมความพร้อมเรื่องการให้ความรู้เกี่ยวกับอาเซียน การจัดหลักสูตรการเรียนการสอน การแลกเปลี่ยนนิสิตนักศึกษาในกลุ่มอาเซียน และเตรียมบัณฑิตออกไปทำงานในกลุ่มอาเซียนด้วย

 

อย่างที่บอกว่าทุกรัฐบาลที่เข้ามาแรก ๆ จะเน้นย้ำว่าให้ความสำคัญกับการศึกษา จะมีการปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาคน เรียกว่าท่องกันเป็นคาถามหานิยม คนฟังก็เคลิ้มไปตาม ๆ กัน แต่เอาเข้าจริงก็เป็นอย่างที่เห็น ๆ กัน เปลี่ยนรัฐบาลทีนโยบายก็เปลี่ยน ถึงแม้ไม่เปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนแค่ตัวรัฐมนตรีนโยบายก็เปลี่ยน แม้จะมาจากพรรคเดียวกันก็ยังต้องเริ่มต้นกันใหม่ ทำให้ขาดความต่อเนื่องในทางปฏิบัติ

 

รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการคนล่าสุด นายจาตุรนต์ ฉายแสง ได้ประกาศ 8 นโยบายการศึกษา โดยมีเป้าหมายที่การมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้สามารถคิด วิเคราะห์ เรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ และทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 โดยภายในปี 2558 ให้ผลการจัดอันดับการศึกษาของไทย ผลการทดสอบการประเมินนักเรียนนานาชาติ(PISA)อยู่ในอันดับที่ดีขึ้น ให้สัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษาต่อสามัญศึกษา ให้มหาวิทยาลัยไทยติดอันดับโลกมากขึ้น และให้มีการกระจายโอกาสและเพิ่มความเสมอภาคมากขึ้น เป็นการปฏิรูปทั้งระบบ โดยมุ่งไปที่การสร้างคนที่เน้นคุณภาพ คุณภาพ และคุณภาพ โดยเริ่มจากการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ต้องหมดไปภายในปี 2557

 

ก็ไม่ทราบว่าที่มีการประกาศนโยบายการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพผู้เรียนนั้นจะต้องใช้เวลาเท่าไหร่ และสุดท้ายผลของการปฏิรูปจะเกิดกับใคร ผู้เรียนจะมีคุณภาพจริงหรือไม่ ถ้าสำเร็จก็ดีไปแต่ถ้าล้มเหลวใครจะตกเป็นจำเลยรายต่อไป หนังเรื่องนี้อีกยาวไม่มีจบง่ายแน่นอน ที่สำคัญที่สุดวันนี้สถานการณ์ทางการเมืองก็กำลังมีการเปลี่ยนแปลง มีแววว่าทิศทางการศึกษาไทยคงต้องรอฟังนโยบายใหม่อีกแล้ว.

 

 
กำลังแสดงหน้าที่ 1 จากทั้งหมด 0 หน้า [หน้าถัดไปคือหน้าที่ 2] 1
 

 
เงื่อนไขแสดงความคิดเห็น
1. ทุกท่านมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเสรี โดยไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่กล่าวพาดพิง และไม่สร้างความแตกแยก
2. ผู้ดูแลระบบขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใด ๆ ต่อเจ้าของความคิดเห็นนั้น
3. ความคิดเห็นเหล่านี้ ไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมาย และไม่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับคณะผู้จัดทำเว็บไซต์

ชื่อ :

อีเมล์ :

ความคิดเห็นของคุณ :
                                  

              * ใส่รหัสจากภาพที่เห็นลงในช่องด้านล่าง และใส่คำตอบจากคำถาม เพื่อยืนยันการส่งความเห็น
  และสำลีสีอะไร
    

          ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการแสดงความคิดเห็นโดยสาธารณชน ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าชื่อผู้เขียนที่้เห็นคือชื่อจริง และข้อความที่เห็นเป็นความจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ boyoty999@google.com  เพื่อให้ผู้ดูแลระบบทราบและทำการลบข้อความนั้นออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้