'ธีระชัย' ชำแหละประชานิยม กระชากหนี้สาธารณะพุ่ง เอกชนชะงักลงทุน
นำเข้าเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2555 โดย pop
อ่าน [58568]  

'ธีระชัย' ชำแหละประชานิยม กระชากหนี้สาธารณะพุ่ง เอกชนชะงักลงทุน .....

 

'ธีระชัย' ชำแหละประชานิยม กระชากหนี้สาธารณะพุ่ง เอกชนชะงักลงทุน

 
 
Pic_298468

 

"ธีระชัย" โพสต์ FB ชำแหละโครงการประชานิยม แจงต้องมอง 2 ด้าน ทั้งแง่ฉุดหนี้สาธารณะพุ่งจนเกินขีดความสามารถชำระหรือไม่ ชี้หากหนี้ล้นต้องประสบชะตากรรมเหมือนประเทศกรีซ พร้อมระบุตัวเลขจาก ก.คลัง ขาดความทันสมัย แนะรายงานหนี้เป็นประจำทุกไตรมาส ประการต่อมา ควรพิจารณากระทบต่อการลงทุนภาคเอกชนหรือไม่ วอน ก.คลัง หารือแบงก์ชาติ ประเมินผลและหาทางลดผลกระทบ...

เมื่อเวลา 20.25 น. วานนี้ (13 ต.ค.2555)​ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เขียนเฟซบุ๊กส่วนตัว (Thirachai Phuvanatnaranubala)​ ภายใต้หัวข้อ "โครงการประชานิยมในแง่มุมวิชาการ" โดยเกริ่นนำว่าไม่ขอวิจารณ์ว่าโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลเสี่ยงต่อทุจริตหรือไม่ หรือส่งผลดีต่อเกษตรกรแท้จริงหรือไม่ แต่ขอมองในมุมทางวิชาการของการทำโครงการประชานิยม ด้วยการชี้สาระสำคัญ มีอยู่ 2 ประการ ได้แก่

ประการแรก อยู่ที่ผลร้ายอยู่ที่การก่อหนี้สาธารณะเกินขีดความสามารถในการชำระ หากเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายประเทศจะมีหนี้สินล้นพ้นตัว อีกทั้งตัวเลขที่กระทรวงการคลังทำบัญชี มักไม่เป็นปัจจุบัน และไม่สะท้อนภาระที่จะเกิดขึ้นทั้งหมด

นายธีระชัย แนะด้วยว่า กระทรวงการคลังควรจะมีการประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อหนี้สาธารณะจากโครงการประชานิยมทุกโครงการ โดยทำเป็นประจำทุกไตรมาส และควรประกาศตัวเลขหนี้สาธารณะที่รวมถึงตัวเลขดังกล่าวเป็นการทั่วไปด้วยทุกไตรมาส

ประการต่อมา นายธีระชัยชี้ว่า ต้องพิจารณาโครงการประชานิยมนั้นมีผลกระทบต่อการลงทุนภาคเอกชน โดยโครงการประชานิยมต้องไม่ไปกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนในอนาคตของภาคเอกชน ซึ่งโครงการประชานิยมจะทำให้เกิดการเติบโตของระบบเศรษฐกิจแค่ในระยะสั้น ทว่าปัญหาคือ หากกระตุ้นมากเกินไปจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเร็ว แต่จะมีผลกดดันเงินเฟ้อให้สูง ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยย่อมไม่สามารถลดดอกเบี้ยได้ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยสูง จนส่งผลกระทบต่อการลงทุนภาคเอกชน

นายธีระชัยได้เสนอแนะในประเด็นนี้ว่า กระทรวงการคลังควรจะมีการปรึกษากับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อประเมินว่าโครงการประชานิยมมีผลต่อการลงทุนภาคเอกชนหรือไม่ และหากมีจริง ควรหาวิธีการลดทอนผลกระทบด้วย

สำหรับข้อเขียนทั้งหมดของนายธีระชัย ได้แก่

- ขณะนี้มีการถกเถียงกันมากว่าโครงการจำนำข้าวมีความเสี่ยงด้านทุจริตมากหรือไม่ หรือชาวนาจะได้ประโยชน์จริงหรือไม่ การถกเถียงเรื่องโครงการประชานิยมแบบนี้จึงมักจะเน้นข้อขัดแย้งกันในทางความคิดทางการเมืองเป็นสำคัญ

- แต่มีประเด็นทางวิชาการเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับโครงการประชานิยมอยู่สองประเด็นที่ประชาชนควรทราบ และเป็นประเด็นที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องของการเมือง

- ประเด็นที่หนึ่งคือผลร้ายต่อหนี้สาธารณะ

- โครงการประชานิยมนั้นทำให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งประชาชนกลุ่มนี้อาจจะเป็นผู้ที่ด้อยโอกาสก็ได้ หรืออาจจะเป็นผู้ที่ไม่ด้อยโอกาสก็ได้

- ในประเด็นว่าโครงการประชานิยมใดเป็นโครงการที่เหมาะสมหรือไม่นั้น ผมจะไม่วิจารณ์

- แต่ผมอยากจะชี้ว่าโครงการประชานิยมจะเป็นโทษแก่ประเทศหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลนำเงินจากแหล่งใดมาใช้

- หากรัฐบาลใช้วิธีเก็บภาษีเพิ่มจะไม่เป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจ เพราะจะเป็นการเอาภาษีจากคนหนึ่งไปเอื้อประโยชน์แก่อีกคนหนึ่ง ซึ่งหากผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการประชานิยม รัฐบาลก็ทำได้โดยชอบ

- แต่หากรัฐบาลไม่ใช้วิธีเก็บภาษีเพิ่ม รัฐบาลก็ต้องเพิ่มหนี้สาธารณะ

- และในทางทฤษฎีนั้น หากมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นๆ มากจนเกินไป เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ประเทศไทยก็อาจจะเข้าสภาวะมีหนี้ล้นพ้นตัว และอาจจะประสบปัญหาทำนองเดียวกับประเทศกรีซ

- ปัญหาคือตัวเลขหนี้สาธารณะที่คำนวณตามกฎหมายนั้น มักจะเป็นตัวเลขที่ล้าหลัง เพราะกระทรวงการคลังทำบัญชีด้วยวิธีเงินสดเป็นหลัก

- กล่าวคือถึงแม้ในข้อเท็จจริงรัฐบาลจะมีภาระหนี้เกิดขึ้นในอนาคตจากโครงการประชานิยมเกิดขึ้นแล้วก็ตาม แต่กระทรวงการคลังจะนับเป็นหนี้สาธารณะก็ต่อเมื่อมีการเคลียร์โครงการและปิดบัญชีได้แล้ว ตัวเลขหนี้สาธารณะของประเทศไทยจึงไม่ทันสมัย ไม่เป็นปัจจุบัน และไม่สะท้อนภาระที่จะเกิดขึ้นทั้งหมด

- ดังนั้น จึงมีความเสี่ยงที่หากรัฐบาลเปิดโครงการประชานิยมโครงการแล้วโครงการเล่า อันจะมีผลทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นในอนาคต แต่นักวิเคราะห์ไม่สามารถประเมินได้ว่าหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าใด

- ผมจึงมีความเห็นว่า กระทรวงการคลังควรจะมีการประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อหนี้สาธารณะจากโครงการประชานิยมทุกโครงการ โดยทำเป็นประจำทุกไตรมาส แล้วควรประกาศตัวเลขหนี้สาธารณะที่รวมถึงตัวเลขดังกล่าวเป็นการทั่วไปด้วยทุกไตรมาส

- การประเมินตัวเลขผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นดังกล่าว กระทรวงการคลังควรใช้องค์กรที่มีความรู้ และหากไม่สามารถหาองค์กรที่ประเมินตัวเลขดังกล่าวได้ หรือหากมีปัญหาในการประเมินไม่ว่าประการใดก็ควรจะนับภาระหนี้ทั้งหมดที่ธนาคารของรัฐไปกู้ยืมมาเฉพาะเพื่อโครงการประชานิยมนั้นๆ เป็นหนี้สาธารณะทั้งจำนวนไว้ก่อน

- การดำเนินการเช่นนี้จะทำให้การบริหารหนี้สาธารณะของประเทศไทยเป็นไปโดยโปร่งใส เป็นที่น่าเชื่อถือแก่นักวิเคราะห์สากลรวมถึงสถาบันจัดอันดับต่างๆ และจะช่วยทำให้รัฐบาลเองตระหนักถึงภาระต่อประเทศที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างครบถ้วนด้วย

- ประเด็นที่สอง คือ โครงการประชานิยมนั้นมีผลกระทบต่อการลงทุนภาคเอกชน

- ในเรื่องนี้ต้องอธิบายก่อนว่าการที่ประเทศจะก้าวหน้าทางเศรษฐกิจได้นั้น จะต้องมีการลงทุนภาคเอกชนมากต่อเนื่องทุกปี เพราะการลงทุนจะช่วยเพิ่มผลผลิตในอนาคต ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจเติบโต และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น

- ดังนั้น หากมีปัจจัยใดที่กระทบต่อการลงทุนภาคเอกชนก็จะกระทบต่อศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจโดยตรง

- ถามว่านักธุรกิจเอกชนที่จะตัดสินใจลงทุนขยายกิจการนั้น เขาจะพิจารณาปัจจัยใด

- นักธุรกิจจะพิจารณาหลายปัจจัยครับ แต่อัตราดอกเบี้ยจะเป็นปัจจัยที่สำคัญมากปัจจัยหนึ่ง หากดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง การลงทุนก็จะน้อย หากดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ การลงทุนก็จะมาก

- ส่วนการใช้เงินโดยรัฐบาลนั้น หากรัฐบาลลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานก็จะช่วยสนับสนุนให้ประเทศเติบโตในปีต่อๆ ไป

- แต่รัฐบาลดำเนินโครงการประชานิยมที่มีผลกระตุ้นให้ประชาชนใช้จ่ายในเรื่องอุปโภคบริโภคนั้น โครงการประชานิยมจะมีผลเน้นให้เศรษฐกิจขยายตัวเร็วเฉพาะในปีนี้เป็นสำคัญ

- ปัญหาคือการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการอุปโภคบริโภคนั้น หากทำมากเกินไปก็จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเร็ว

- แต่จะมีผลกดดันเงินเฟ้อให้สูง

- เมื่อนโยบายประชานิยมของรัฐบาลมีผลกดดันเงินเฟ้อให้สูง ธนาคารแห่งประเทศไทยย่อมไม่สามารถลดดอกเบี้ยได้ และย่อมมีผลกระทบต่อการลงทุนภาคเอกชน

- ผมจึงมีความเห็นว่ากระทรวงการคลังควรจะมีการปรึกษากับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อประเมินว่าโครงการประชานิยมมีผลดังที่ว่านี้หรือไม่ และหากมีจะมีวิธีการลดทอนผลกระทบดังกล่าวได้อย่างไร

 

 

 

 

 
กำลังแสดงหน้าที่ 1 จากทั้งหมด 0 หน้า [หน้าถัดไปคือหน้าที่ 2] 1
 

 
เงื่อนไขแสดงความคิดเห็น
1. ทุกท่านมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเสรี โดยไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่กล่าวพาดพิง และไม่สร้างความแตกแยก
2. ผู้ดูแลระบบขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใด ๆ ต่อเจ้าของความคิดเห็นนั้น
3. ความคิดเห็นเหล่านี้ ไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมาย และไม่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับคณะผู้จัดทำเว็บไซต์

ชื่อ :

อีเมล์ :

ความคิดเห็นของคุณ :
                                  

              * ใส่รหัสจากภาพที่เห็นลงในช่องด้านล่าง และใส่คำตอบจากคำถาม เพื่อยืนยันการส่งความเห็น
  และสำลีสีอะไร
    

          ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการแสดงความคิดเห็นโดยสาธารณชน ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าชื่อผู้เขียนที่้เห็นคือชื่อจริง และข้อความที่เห็นเป็นความจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ boyoty999@google.com  เพื่อให้ผู้ดูแลระบบทราบและทำการลบข้อความนั้นออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้