วิกฤตผู้บริหารโรงเรียน สอบคัด"ผอ.-รอง"ไม่เข้าเป้า ผ่านไม่ถึง 10%
นำเข้าเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2555 โดย ของจริง..ต้องอย่างนี้
อ่าน [58535]  

วิกฤตผู้บริหารโรงเรียน สอบคัด"ผอ.-รอง"ไม่เข้าเป้า ผ่านไม่ถึง 10%.....

วิกฤตผู้บริหารโรงเรียน สอบคัด"ผอ.-รอง"ไม่เข้าเป้า ผ่านไม่ถึง 10% ทำให้เหลืออัตราว่าง 800 ตำแหน่ง สพฐ.เร่งถก ก.ค.ศ. หาทางออก เหตุกระทบสถานศึกษาขาดผู้นำ ชี้ติดหลักเกณฑ์ ก.ค.ศ. ที่สอบใหม่มีผลให้ยกเลิกบัญชี หวั่นทำให้ฟ้องร้องตามมาได้ ชี้ไม่เคยเกิดปัญหาลักษณะนี้มาก่อน

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยว่า หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ประกาศรับสมัครสรรหาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการและผู้อำนวยการสถานศึกษาทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 3-9 เมษายนที่ผ่านมา ปรากฏว่า มียอดผู้สมัครประมาณ 15,000 คน และได้มีการจัดให้สอบข้อเขียนแบบปรนัยเมื่อ วันที่ 23 พฤษภาคม และประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเมื่อ วันที่ 30 พฤษาคมที่ผ่านมานั้น ปรากฏว่ามีผู้ที่สอบผ่านเกณฑ์และรอการอบรมและบรรจุแต่งตั้ง จำนวน 1,300 คน คิดเป็นผู้สอบผ่านไม่ถึง 10% ขณะที่มีอัตราว่างที่บรรจุได้ 2,170 กว่าตำแหน่ง ดังนั้น จึงทำให้อัตราที่ว่างประมาณ 800 ตำแหน่ง ไม่สามารถหาผู้ไปบรรจุและแต่งตั้งเป็นรอง ผู้อำนวยการและผู้อำนวยการสถานศึกษาได้

แหล่งข่าวกล่าวว่า ขณะนี้ สพฐ.กำลังหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ว่าจะใช้วิธีการใด เพราะ สพฐ.ไม่สามารถเปิดสอบบรรจุใหม่ได้ เนื่องจากติดหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กำหนดไว้ว่า หากมีการเปิดสอบบรรจุและแต่งตั้งใหม่ จะมีผลทำให้บัญชีที่เปิดสอบไว้ทั้งหมดจะต้องยกเลิกไปในทันที ฉะนั้น สพฐ.เกรงว่าจะเกิดปัญหาฟ้องร้องตามมาอย่างแน่นอนหากเปิดสอบบรรจุใหม่ ทั้งนี้ สพฐ.กำลังเร่งหารือกับ ก.ค.ศ.ในเรื่องนี้ว่า จะหาทางออกได้อย่างไร เพราะหากไม่เร่งแก้ไข จะเกิดปัญหาทำให้โรงเรียนที่มีอัตราว่าง 800 อัตรา ไม่มีผู้อำนวยการสถานศึกษา หรือรองผู้อำนวยการสถานศึกษาประมาณ 1 ปี ซึ่งย่อมส่งผลกระทบกับการบริหารจัดการโรงเรียนอย่างแน่นอน

"การที่มีผู้สอบบรรจุและแต่งตั้งผ่านกัน น้อย สพฐ.ได้วิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ข้อสอบที่ออกโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น อาจมีความยากเกินไปจนทำให้มีผู้สอบผ่านกันน้อยมาก ซึ่งที่ผ่านมา สพฐ.ยังไม่เคยมีปัญหาในลักษณะนี้" แหล่งข่าวระดับสูง สพฐ.กล่าว

ด้านนายศิริชัย กาญจนวาสี คณบดีคณะ ครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ยืนยันว่าจุฬาฯออกตามกรอบมาตรฐานหลักสูตรตามที่ ก.ค.ศ. กำหนด ด้วยเหตุที่เป็นข้อสอบแข่งขัน จึงต้องมีความยากระดับหนึ่ง โดยภายหลังจุฬาฯได้กรอบหลักสูตรจาก ก.ค.ศ. จุฬาฯ ได้ให้ผู้ทรงคุณวุฒิของจุฬาฯ วิเคราะห์ข้อสอบว่าผู้ที่จะเป็นผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการสถานศึกษา ควรต้องรู้อะไรบ้าง ซึ่งยืนยันว่า ข้อสอบที่จุฬาฯออกครอบคลุมทั้งกรอบแนวคิด ภาคทฤษฎี และ ภาคปฏิบัติตามที่ ก.ค.ศ.กำหนด โดยเฉพาะภาคปฏิบัตินั้น ศธ.ส่งผู้เชี่ยวชาญมาร่วมออกข้อสอบกับจุฬาฯด้วย ส่วนที่ผู้อำนวยการ และรอง ผู้อำนวยการสถานศึกษาทำข้อสอบผ่านได้น้อยนั้น ส่วนตัวไม่รู้สึกแปลกใจ เพราะเป็นข้อสอบแข่งขัน จึงต้องมีความยากระดับหนึ่ง ฉะนั้น อาจมีเปอร์เซ็นต์ผู้ผ่านไม่สูงมากนัก แต่ยืนยันว่าข้อสอบของจุฬาฯได้มาตรฐานตามกรอบหลักสูตรของ ก.ค.ศ.

"การที่ผู้บริหารสถานศึกษาสอบผ่านไม่เต็มตามอัตราที่เปิดรับ 2,170 กว่าตำแหน่งนั้น อาจประกอบด้วย 3 ปัจจัย คือ 1.ปัจจัยข้อสอบ โดยเป็นข้อสอบแข่งขัน จึงต้องมีความยากระดับหนึ่ง เพื่อคัดผู้ที่มีความรู้ความสามารถและสมรรถนะถึงจริงๆ 2.การทำข้อสอบได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับผู้สอบ โดยผู้สอบต้องใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ส่วนตัวที่มีอยู่ ซึ่งกรอบหลักสูตร กำหนดให้มีทั้งแนวคิด ทฤษฎี และภาคปฏิบัติ และ 3.ทราบว่าการสอบครั้งนี้ มีการติวและกวดวิชากันมาก ฉะนั้นเมื่อติวไม่ตรงกับข้อสอบก็อาจจะต้องผิดหวัง การที่สอบผ่านไม่ผ่านสะท้อนว่าผู้บริหารหวังพึ่งกวดวิชากันมาก ทั้งที่ควรศึกษาด้วยตนเอง เพราะการพึ่งกวดวิชา ผมก็ไม่รู้ว่าจะติวกันถูกทิศถูกทางหรือไม่" คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว

ขณะที่นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สพฐ.ได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการสรรหาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรอง ผู้อำนวยการ และผู้อำนวยการสถานศึกษาใน 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มทั่วไป และกลุ่มประสบการณ์ หลังจากนี้ผู้ผ่านการสรรหาทุกคน จะต้องเข้ารับการอบรมผ่านหลักสูตรการพัฒนาไม่น้อยกว่า 180 ชั่วโมง ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ สมรรถนะทางการบริหาร เจตคติที่ดี รวมถึงได้รับการพัฒนาคุณธรรม จริย ธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพก่อนเข้ารับราชการ

"วันที่ 26-27 มิถุนายนนี้ จะเป็นมหกรรมที่จะให้ผู้ผ่านการสรรหาได้เลือกโรงเรียนที่จะบรรจุและแต่งตั้ง โดยจะเรียงลำดับตามคะแนนจากผู้ที่ได้คะแนนมากไปหาน้อย ทั้งนี้ จะให้ผู้ที่ได้ลำดับคะแนนที่สูงสุดเป็นผู้มีสิทธิได้เลือกโรงเรียนก่อน การเรียงลำดับคะแนน จะเรียงเท่ากับตำแหน่งที่ว่างในปัจจุบัน และจำนวนที่คาดว่า จะว่างจากการเกษียณอายุราชการใน 2 ปีงบประมาณ โดยการขึ้นบัญชีจะมีอายุไม่เกิน 2 ปีนับจากวันที่ประกาศ เว้นแต่จะมีการประกาศขึ้นบัญชีผู้ผ่านการสรรหาครั้งใหม่ ถึงจะยกเลิกการขึ้นบัญชี ผู้ผ่านการสรรหาทุกบัญชี" เลขาธิการ กพฐ.กล่าว

 

 

 

 

 
กำลังแสดงหน้าที่ 1 จากทั้งหมด 0 หน้า [หน้าถัดไปคือหน้าที่ 2] 1
 

 
เงื่อนไขแสดงความคิดเห็น
1. ทุกท่านมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเสรี โดยไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่กล่าวพาดพิง และไม่สร้างความแตกแยก
2. ผู้ดูแลระบบขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใด ๆ ต่อเจ้าของความคิดเห็นนั้น
3. ความคิดเห็นเหล่านี้ ไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมาย และไม่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับคณะผู้จัดทำเว็บไซต์

ชื่อ :

อีเมล์ :

ความคิดเห็นของคุณ :
                                  

              * ใส่รหัสจากภาพที่เห็นลงในช่องด้านล่าง และใส่คำตอบจากคำถาม เพื่อยืนยันการส่งความเห็น
  และสำลีสีอะไร
    

          ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการแสดงความคิดเห็นโดยสาธารณชน ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าชื่อผู้เขียนที่้เห็นคือชื่อจริง และข้อความที่เห็นเป็นความจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ boyoty999@google.com  เพื่อให้ผู้ดูแลระบบทราบและทำการลบข้อความนั้นออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้