ปูด “สุชาติ” บีบ สพฐ.อุ้มเด็กเข้าเรียน “ชินภัทร” โยนกลับ 3 แนวทาง รมว.ศธ.เลือก
นำเข้าเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2555 โดย pop
อ่าน [58533]  

ปูด “สุชาติ” บีบ สพฐ.อุ้มเด็กเข้าเรียน “ชินภัทร” โยนกลับ 3 แนวทาง รมว.ศธ.เลือก .....

ปูด “สุชาติ” บีบ สพฐ.อุ้มเด็กเข้าเรียน “ชินภัทร” โยนกลับ 3 แนวทาง รมว.ศธ.เลือก 
 
       ปูดข่าว “สุชาติ” บีบ สพฐ.ให้อุ้มเด็กทั้งหมดกลับเข้าเรียน ด้าน สพฐ.ไม่แข็งโยน 3 ทางเลือกให้ รมว.ศึกษาฯ ตัดสินใจ ชี้ หากเลือกขยายห้องเรียนเพิ่ม ก็เป็นการตัดสินของฝ่ายการเมือง “ชินภัทร” ย้ำ ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบที่กำหนด และนักเรียนต้องมีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขด้วย
      
       วันนี้ (21 พ.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น.ที่ห้องประชุมชั้น 2 อาคารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 4 นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเรียกประชุมด่วน ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ทั่วประเทศทั้ง 42 เขต และผู้อำนวยการโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงในกรุงเทพฯ จำนวน 9 โรงเรียน เพื่อชี้แจงการรับนักเรียนปีการศึกษา 2555 และเพื่อหาทางออกเกี่ยวกับกรณีโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ว่า กรณีเช่นนี้มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ แต่ทุกพื้นที่พยายามชี้แจงทำความเข้าใจและประเด็นปัญหาเหล่านี้จึงเป็นที่มาของการกำหนดกติกาการรับนักเรียน เพื่อให้โรงเรียนนำไปเป็นแนวปฏิบัติอย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่ สพฐ.ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ หาแนวทางแก้ไขปัญหา ซึ่งคงต้องขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่จะต้องให้ความเข้าใจ และให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหานี้ให้ลุล่วงไปได้ เพราะการแก้ไขปัญหาคงไม่ใช่แค่มองปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่ต้องมองผลกระทบที่จะตามมาในวันข้างหน้าด้วย
      
       ทั้งนี้ จากการประชุมได้จัดทำข้อเสนอ 3 ทางเลือก เพื่อให้ ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ตัดสิน ดังนี้ คือ 1.ทำแผนพัฒนาโรงเรียนคู่พัฒนาให้เป็นเนื้อเดียวกับโรงเรียนดัง โดยจะมีการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ บุคลากรจะเป็นของโรงเรียนหลัก และมีการหมุนเวียนให้นักเรียนไปเรียนในโรงเรียนหลักด้วย เพื่อทำให้เกิดการหมุนเวียนเป็นเนื้อเดียวกัน และต่อไปโรงเรียนคู่พัฒนาจะมีโอกาสเสนอแผนพัฒนาโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นอาคารเรียนและห้องปฏิบัติการต่างๆ รวมถึงอัตรากำลังครู ตรงนี้อยู่ในหลักเกณฑ์ที่สามารถทำได้ทันที 2.ตั้งโรงเรียนสาขาของโรงเรียนที่มีชื่อเสียงขึ้น เหมือนโรงเรียนเตรียมอุดมพัฒนาการ สุวรรณภูมิ ที่เป็นโรงเรียนสาขาของโรงเรียนเตรียมอุดมพัฒนาการ และ 3.ทำการขยายห้องเรียนเพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นทางเลือกกรณีที่ไม่สามารถเปลี่ยนความคิด และค่านิยมของผู้ปกครองนักเรียนได้ คงต้องมองดูว่ามีโอกาสความเป็นไปได้หรือไม่ ในการให้นักเรียนได้เรียนที่เดิม เพราะการจัดการศึกษาต้องคำนึงถึงคุณภาพ มาตรฐาน จำนวนเด็กต่อห้อง เพราะถ้ายอมเพิ่มจำนวนนักเรียนเข้าไป คงต้องมีคำตอบเรื่องคุณภาพด้วย สพฐ.ไม่อยากเห็นโรงเรียนที่มีนักเรียน 60 คนต่อห้อง แต่ถ้าเป็นนโยบายของทาง ศธ.สพฐ.ก็ยินดีปฏิบัติ เพียงแต่อาจต้องเพิ่มศักยภาพของโรงเรียนให้สูงขึ้น แต่ทางเลือกที่ 3 อาจจะทำให้โรงเรียนอื่นที่มีปัญหาคล้ายๆ กันยกประเด็นนี้ขึ้นมาเรียกร้องอีก ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ในวันที่ 22 พ.ค.นี้
      
       “หากเป็นทางเลือกที่ 3 ถือว่าเป็นการตัดสินใจของระดับนโยบาย เดิมที่ สพฐ.คิดว่า จะกระจายทรัพยากรไปในโรงเรียนคุณภาพยังห่างจากมาตรฐานที่ควรจะเป็น ก็อาจจะต้องถมทรัพยากรมาในโรงเรียนที่มีความพร้อมอยู่แล้วให้สูงขึ้นไป ให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้น เพื่อรับนักเรียนส่วนที่ยังตกค้าง ทางเลือกที่ 1 กับ 2 เป็นทางเลือกระยะยาว ส่วนทางเลือกที่ 3 ต้องรอการตัดสินใจของนายสุชาติ” นายชินภัทร กล่าว และว่า ปีนี้ สพฐ.มีการเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติในการรับนักเรียนน้อยมาก มีข้อเดียวคือ ให้โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง พิจารณาคะแนนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต มามีส่วนในการเข้าเรียน ซึ่งได้รับความเห็นชอบจาก กพฐ.และรัฐมนตรีว่าการ ศธ.แล้ว
      
       ส่วนที่มีการกล่าวหาว่า การดำเนินงานของข้าราชการนั้น นายชินภัทร กล่าวว่า สพฐ.ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ตอนนี้ต้องแยกประเด็นออกเป็น 2 เรื่อง คือ 1.ประเด็นที่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับความประพฤติที่ไม่โปร่งใส เรียกรับเงินเพื่อแลกที่นั่งเรียน เป็นเรื่องที่ สพฐ.รับไม่ได้ ดังนั้น จึงต้องคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง และให้รายงานผลโดยเร็วภายใน 1 สัปดาห์ หากมีมูลจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยต่อไป ส่วนอีกกรณี คือ การเยียวยานักเรียน โดยจะต้องให้โอกาสนักเรียนอย่างดีที่สุด แต่จะต้องให้ประสบการณ์ที่ถูกต้องกับนักเรียนด้วยเช่นเดียวกัน เราเป็นบุคลากรทางการศึกษา เราต้องการให้ลูกศิษย์เรียนรู้และเคารพในกติกา เป็นหลักการของประเทศ ไม่ใช่โอนเอนไปตามกระแส และแรงกดดันทั้งหมด เพราะฉะนั้นหากนักเรียนต้องการได้รับการดูแล ก็ต้องคุยกัน ไม่ใช่ปฏิเสธไม่คุยแล้วกับข้าราชการ ถ้าแบบนี้ถือว่าระบบการบริหารของเราปัญหา ข้าราชการประจำเป็นหน่วยที่ต้องรับฟังนโยบายอยู่แล้ว และเป็นหน่วยที่ต้องปฏิบัติตาม
      
       “ปัญหานี้มาถึงขั้นตอนที่คาบเกี่ยวกันระหว่างหลักเกณฑ์ที่ข้าราชการประจำกำหนดเป็นแนวทาง แต่เราก็ต้องเคารพทางการเมือง เพราะการเมืองรับผิดชอบต่อประชาชน เราไม่สามารถตัดสินใจแทนการเมืองได้ สุดท้ายหากเป็นการตัดสินใจของทางฝ่ายการเมืองว่ามีความจำเป็น เราให้ความเคารพ เชื่อว่า หากเป็นการตัดสินใจของฝ่ายการเมือง ทางรัฐบาล และกระทรวงก็ยินดีให้การสนับสนุนในปัจจัยที่เกี่ยวข้องที่จะตามมา และคิดว่า การดำเนินการในปีนี้จะมีผลต่อการกำหนดกฎเกณฑ์การรับนักเรียนในปีหน้า ที่อาจจะให้มีการรับนักเรียนชั้น ม.3 เลื่อนชั้นขึ้น ม.4 ได้ 100% แต่ตรงนี้ก็มีข้อเสียว่าปิดโอกาสนักเรียนคนอื่นๆ ที่อยู่รอบนอก ซึ่งก็อาจมีข้อเรียนร้องตามมาอีกเช่นกัน”เลขาธิการ กพฐ.กล่าว และว่า ส่วนกรณีนักเรียนโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สวนกุหลาบวิทยาลัยปทุมธานี ประมาณ 200 คน เรียกร้องขอให้ขยายห้องเรียนห้องเรียนทั้ง ม.1 และ ม.4 นั้น ตนขอไปดูรายละเอียดก่อน
      
       รายงานข่าวแจ้งว่า ศ.ดร.สุชาติ พยายามจะแก้สถานการณ์โดยให้ สพฐ.รับนักเรียนทั้งหมดกลับเข้าเรียนตามเดิม ซึ่งสร้างความลำบากใจให้ สพฐ.เป็นอย่างมาก เพราะนักเรียนบางคนมีคุณสมบัติไม่ตรงตามเกณฑ์ เช่น นักเรียนบางคนมีผลการเรียนต่ำ หากยอมรับเข้าเรียนอาจจะเป็นตัวอย่างให้โรงเรียนอื่นเลียนแบบ เมื่อเข้าเรียนไม่ได้ก็เดินมาเรียกร้องอีก
      
       ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ศ.ดร.สุชาติ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ ศธ.จัดเตรียมสถานที่และอาหาร โดยเชิญผู้ปกครองและนักเรียนโรงเรียนบดินทรเดชาฯ มาร่วมรับประทานอาหารเช้าที่บริเวณหลังองค์พระประจำกระทรวง พรุ่งนี้ (22 พ.ค.) ในเวลา 08.30 น.ก่อนจะแถลงข่าวในเวลา 09.00 น.ตามกำหนดการที่วางไว้ภายหลังจากเดินทางกลับจากประเทศเกาหลีใต้
      
       น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า การสืบหาข้อเท็จจริงในกรณีการเรียกรับแปะเจี๊ยะในส่วนของผู้มีอุปการคุณนั้น คงจะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ โดยจะต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่าผู้มีอุปการคุณให้แก่โรงเรียนนั้น ให้การสนับสนุนด้วยความเต็มใจหรือไม่ หรือเป็นการเรียกรับแปะเจี๊ยะเพื่อแลกกับที่นั่งเรียน และหากเรียกรับเงินจริงก็จะต้องตรวจสอบด้วยว่าใครเป็นคนรับเงิน จากนั้นจะได้มีการลงโทษทางวินัยต่อไป
      
       อย่างไรก็ตาม ตนมองว่า สาเหตุทั้งหมดของปัญหาการรับนักเรียนนั้น เกิดจากคุณภาพของโรงเรียนที่ไม่เท่ากัน ดังนั้น จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาในจุดนี้ ทั้งนี้ ในส่วนปัญหาของโรงเรียนบดินทร์เดชาฯ นั้น สพฐ.คงต้องไปพิจารณาว่าจะสามารถแก้ไขกฎระเบียบเรื่องการขยายห้องเรียนเพิ่มได้หรือไม่ ซึ่งตนมองว่าสามารถทำได้ แต่รัฐบาลก็ต้องยอมที่จะจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้แก่โรงเรียนด้วย
 

 

 
กำลังแสดงหน้าที่ 1 จากทั้งหมด 0 หน้า [หน้าถัดไปคือหน้าที่ 2] 1
 

 
เงื่อนไขแสดงความคิดเห็น
1. ทุกท่านมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเสรี โดยไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่กล่าวพาดพิง และไม่สร้างความแตกแยก
2. ผู้ดูแลระบบขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใด ๆ ต่อเจ้าของความคิดเห็นนั้น
3. ความคิดเห็นเหล่านี้ ไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมาย และไม่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับคณะผู้จัดทำเว็บไซต์

ชื่อ :

อีเมล์ :

ความคิดเห็นของคุณ :
                                  

              * ใส่รหัสจากภาพที่เห็นลงในช่องด้านล่าง และใส่คำตอบจากคำถาม เพื่อยืนยันการส่งความเห็น
  และสำลีสีอะไร
    

          ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการแสดงความคิดเห็นโดยสาธารณชน ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าชื่อผู้เขียนที่้เห็นคือชื่อจริง และข้อความที่เห็นเป็นความจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ boyoty999@google.com  เพื่อให้ผู้ดูแลระบบทราบและทำการลบข้อความนั้นออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้