ชายแดนไทย-พม่า ทอดยาวจากเหนือสุดที่เชียงรายลงมาใต้สุดที่ระนอง กินระยะทางกว่า 1,800 กิโลเมตร
นำเข้าเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2555 โดย pop
อ่าน [58569]  

ชายแดนไทย-พม่า ทอดยาวจากเหนือสุดที่เชียงรายลงมาใต้สุดที่ระนอง กินระยะทางกว่า 1,800 กิโลเมตร .....

ชายแดนไทย-พม่า ทอดยาวจากเหนือสุดที่เชียงรายลงมาใต้สุดที่ระนอง กินระยะทางกว่า 1,800 กิโลเมตร เป็นที่ทราบดีว่าตลอดระยะเวลาหลายสิบปีนับตั้งแต่รัฐบาลทหารพม่าเข้าปกครองประเทศได้มีการกวาดล้างปราบปรามชนกลุ่มน้อยตลอดจนนักศึกษาประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิป ไตยอย่างหนัก

ทว่าวันเวลาที่เปลี่ยนไป วันนี้พม่าเริ่มหันเหจากระบอบเผด็จการเข้าสู่เส้นทางประชาธิปไตย มีการเจรจาหยุดยิงกับชนกลุ่มน้อยต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี พ.ศ.2558 ส่งผลให้ชาติมหาอำนาจต่างๆ เริ่มผ่อนคลายนโยบายคว่ำบาตร จนแม้แต่นักวิเคราะห์บางคนถึงกับกล้าทำนายว่า พม่าอาจจะกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจรายใหม่ของเอเชียในอนาคตด้วยความที่เป็นประเทศที่มีทรัพยากรประเภทพลังงานอย่างมหาศาล แต่ขณะเดียวกัน ประเทศไทยเราอาจจะต้องเจอกับสารพัดปัญหาในอนาคต วันนี้เราจะพาทุกท่านไปสัมผัสกับชายแดนทางทิศเหนือบางส่วนกัน

 เศรษฐกิจดีขึ้นคนค้าขายมากขึ้น ?

“ตอนนี้ดีกว่าเมื่อ 20 ปีก่อนเยอะ ตอนปี 33 หรือ 34 โน่น ยิงกันหนัก หลังคาบ้านผมเป็นรูเลย วิ่งหนีกันจ้าละหวั่น”

แม้จะผ่านมากว่า 20 ปีแล้ว แต่ความทรงจำของ พ่อเล็ก ชายวัยกลางคนแห่งหมู่บ้านวาเล่ย์ จ.ตาก ยังไม่เคยลืมเลือนประสบการณ์ที่น่ากลัวแม้แต่น้อย สะเก็ดระเบิดและลูกปืนที่ยิงปะทะกันระหว่างทหารรัฐบาลพม่ากับกองกำลังชนกลุ่มน้อยลอยข้ามฝั่งมาตกยังบ้านของเขาและชาวบ้านละแวกนี้หลายครั้ง จนต้องอพยพออกจากหมู่บ้านเป็นระยะๆ แต่ทุกวันนี้ดีขึ้นมาก ปัจจุบันพ่อเล็กมีรายได้จากการทำไร่ข้าวโพดได้ปีละสองแสนบาทจากจำนวนไร่ทั้งหมด 50 ไร่ ชีวิตสงบสุขกว่าแต่ก่อนมาก

เช่นเดียวกันกับ ป้าลี้ แม่ค้าร้านขายของเบ็ดเตล็ดที่ห่างจากสะพานข้ามเขตแดนบริเวณฐานปฏิบัติการบ้านวาเล่ย์ไม่ไกลนัก เธอเล่าว่าหลังจากพม่าทำข้อตกลงหยุดยิงและเปิดการเจรจากับชนกลุ่มน้อยต่างๆ พบว่าเธอขายของได้มากขึ้นซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยจากฝั่งพม่าข้ามมาซื้อของที่ฝั่งไทย โดยเฉพาะสบู่ ยาสีฟัน แป้งหอม รวมไปถึงโฟมล้างหน้าและครีมทาผิว

“เดี๋ยวนี้อะไรที่คน กทม. มี ที่นี่มีหมดนะ คนฝั่งโน้นอยากได้กันมาก มากว้านซื้อยกโหลยกแพ็กฝั่งเราแล้วไปขายฝั่งเขา นี่ดูอย่างครีมยี่ห้อนี้นะ โอย! ขายดีจนแทบหามาแทนไม่ทัน”

ป้าลี้พูดพลางหัวเราะพลาง พร้อมกับชี้ไปที่กระปุกครีมทาผิวยี่ห้อหนึ่งซึ่งถ้าเอ่ยชื่อไปแล้วทุกท่านคงรู้จักกันดีเพราะเป็นยี่ห้อดังมีดาราเป็นพรีเซ็นเตอร์มากมาย

ยาเสพติดกับสภาวะสุญญากาศ ?

    ดูเหมือนหลายฝ่ายอาจจะเบาใจลงได้บ้างเมื่อพม่าประกาศว่าชนกลุ่มน้อยต่างๆ ต้องหยุดเกี่ยวข้องกับยาเสพติดตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 เป็นต้นไป  ทว่า...จากรายงานของแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ในหน่วยทหารประจำชายแดนฝั่งตะวันตกหน่วยหนึ่งของไทย พบว่าในช่วงนี้เป็นช่วงสุญญากาศ เพราะหลังจากพม่าเริ่มเจรจาหยุดยิง การปะทะทั้งจากทหารพม่ากับกองกำลังชนกลุ่มน้อยและระหว่างชนกลุ่มน้อยด้วยกันเองลดลง  การขนถ่ายลำเลียงยาเสพติดจึงเป็นงานที่ทำได้สะดวกขึ้นเพราะไม่ต้องระวังการปะทะกันอีก โดยปัจจุบันคาราวานลำเลียงยาเสพติดนิยมมากันแบบกองทัพมด แบ่งเป็นชุดละ 1-2 คน ทำทีเป็นคนหาของป่าโดยจะซุกซ่อนยาบ้าเข้ามาครั้งละหนึ่งหมื่นถึงสองหมื่นเม็ด ทำให้ยากต่อการตรวจค้นจับกุม

    “ไปดูเองละกันนะครับ ยาบ้ายี่ห้อ WY ใบ้ให้ว่าเป็นชื่อกลุ่มกับชื่อที่ตั้งโรงงานผลิต” แหล่งข่าวคนดังกล่าวย้ำอย่างหนักแน่น

ฤาคนไทยจะถูกแย่งงานจริงๆ?

    จุดที่น่าสังเกตประการหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นที่ชุมชนชายแดนบริเวณฐานบ้านวาเล่ย์ , ด่านตรวจริมแม่น้ำเมยหรือด่านตรวจอื่นๆ ในพื้นที่ จ.ตาก เราจะพบแรงงานต่างด้าวรอเข้ามาทำงานในฝั่งไทยเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ข้ามมาทำงานในพื้นที่ชายแดนแบบมาเช้ากลับเย็น หรือรอที่จะไปทำงานในเมืองซึ่งจะผ่านการตรวจจากเจ้าหน้าที่เป็นระยะๆ

“ช่วงหน้าแล้งน่ะครับ พวกนี้ชอบลักลอบข้ามแม่น้ำเข้ามาตอนที่แม่น้ำตื้นเขิน”

จากคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ทหารประจำด่านวาเล่ย์บอกกับเรา เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ ชรบ. ประจำหมู่บ้านก็บอกว่าช่วงนี้แรงงานต่างด้าวเข้ามาเยอะมาก สอดคล้องกับรายงานของชุด ฉก.ร.4 กองกำลังนเรศวร ที่พบว่าตอนนี้แรงงานต่างด้าวเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้น หลังจากรัฐบาลพม่าเข้ามาเป็นตัวกลางในการขนส่งเงินเก็บของแรงงานพม่าในประเทศไทยกลับไปสู่ญาติพี่น้องที่พม่า จากแต่เดิมที่ต้องผ่านนายหน้าขบวนการขนแรงงานเถื่อนซึ่งมีการหักค่าหัวคิวและเงินอาจสูญหายระหว่างทางได้

“ถ้าถามทหารในพื้นที่นะครับ จับวันนี้ พรุ่งนี้เขาก็มาอีก ทำไงได้ ค่าแรงฝั่งเราสูงกว่าเขามาก ทางที่ดีควรบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังกับสถานประกอบการทั้งหลายไม่ให้ใช้แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายดีกว่า” แหล่งข่าวทหารในพื้นที่รายหนึ่งเรียกร้องให้รัฐบาลเอาจริงเอาจังกับการดำเนินคดีกับเจ้าของกิจการที่ชอบใช้แรงงานเถื่อนเพื่อลดต้นทุน

ขบวนการ ตัดไม้ทำลายป่า ?

ปัญหาใหม่ที่กำลังเพิ่มมากขึ้นจนเทียบกับปัญหายาเสพติด คือการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า โดยจากข้อมูลของชุด ฉก.ร.4 กองกำลังนเรศวร มีเรื่องที่น่าตกใจว่าปัจจุบันมีความต้องการเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้เพิ่มสูงขึ้นทำให้การลักลอบตัดไม้บริเวณพื้นที่ชายแดนมีมากขึ้น ซึ่งวิธีการคือ เมื่อโค่นต้นไม้ได้แล้วจะปล่อยให้ตกลงไปในแม่น้ำ จากนั้นจะมีการชักลากไม้ขึ้นไปแปรรูปในฝั่งพม่า ก่อนจะส่งกลับเข้ามาขายในประเทศไทย ซึ่งตรวจสอบได้ยากว่าเป็นไม้มาจากฝั่งใด

สอดคล้องกับข้อมูลของหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 32 สังกัดหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย ที่พบว่าบริเวณรอยต่อระหว่าง จ.เชียงใหม่กับ จ.เชียงราย มีนายทุนเข้าไปส่งเสริมให้ชาวบ้านตัดไม้ทำลายป่ากันมากขึ้น

ใกล้จะเปิดเสรีอาเซียนอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ปัญหาต่างๆ ก็รุกคืบตามเข้ามาด้วยราวกับเป็นเงาตามตัว จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องหาทางรับมืออย่างรู้เท่าทัน

ก่อนที่ปัญหาจะลุกลามจนยากจะแก้ไขได้ในที่สุด
 

 

 
กำลังแสดงหน้าที่ 1 จากทั้งหมด 0 หน้า [หน้าถัดไปคือหน้าที่ 2] 1
 

 
เงื่อนไขแสดงความคิดเห็น
1. ทุกท่านมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเสรี โดยไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่กล่าวพาดพิง และไม่สร้างความแตกแยก
2. ผู้ดูแลระบบขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใด ๆ ต่อเจ้าของความคิดเห็นนั้น
3. ความคิดเห็นเหล่านี้ ไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมาย และไม่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับคณะผู้จัดทำเว็บไซต์

ชื่อ :

อีเมล์ :

ความคิดเห็นของคุณ :
                                  

              * ใส่รหัสจากภาพที่เห็นลงในช่องด้านล่าง และใส่คำตอบจากคำถาม เพื่อยืนยันการส่งความเห็น
  และสำลีสีอะไร
    

          ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการแสดงความคิดเห็นโดยสาธารณชน ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าชื่อผู้เขียนที่้เห็นคือชื่อจริง และข้อความที่เห็นเป็นความจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ boyoty999@google.com  เพื่อให้ผู้ดูแลระบบทราบและทำการลบข้อความนั้นออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้