ท้องถิ่นเชิดชู "ครูสอนดี" พัฒนาคุณภาพการศึกษาเมืองไทย (สกู๊ปแนวหน้า)
นำเข้าเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2555 โดย pop
อ่าน [58535]  

ท้องถิ่นเชิดชู "ครูสอนดี" พัฒนาคุณภาพการศึกษาเมืองไทย.....

ท้องถิ่นเชิดชู "ครูสอนดี" พัฒนาคุณภาพการศึกษาเมืองไทย (สกู๊ปแนวหน้า)  
 "ที่สำคัญยังช่วยกระตุ้นให้ท้องถิ่นหันกลับมามองบทบาทของตัวเองในการทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา รวมถึงจุดประกายให้ครูคนอื่นๆ หันกลับมาเติมเต็มช่องว่างของการทำงานในปัจจุบัน เพราะการเป็นครูที่แท้จริงไม่ได้หมายถึงการเป็นครูที่เก่งและขยันในการทำเอกสารเพื่อขอเลื่อนวิทยฐานะให้สูงขึ้น ที่อาจทำให้เกิดการละเลยการดูแลและพัฒนาเด็กและการศึกษาไป"

 "คุณภาพการศึกษาจะดีเพียงไรขึ้นกับคุณภาพของครู" เพราะครูที่ดีไม่เพียงแค่มีจิตวิญญาณแห่งความเป็นครูเท่านั้น แต่ยังจะต้องสามารถถ่ายทอดความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และพัฒนาการเรียนการสอนให้มีความสอดคล้องกับศักยภาพและข้อจำกัดของเด็กและเยาวชน

 แต่ในปัจจุบันความศรัทธาของสังคมต่ออาชีพ "ครู" กำลังลดน้อยถอยลงทั้งๆ ที่ครูเป็นอาชีพที่มีความหมายมากกว่าผู้ถ่ายทอดความรู้หน้ากระดานดำ เพราะครูคือผู้ "สร้างคนให้เป็นคน" โดยมีภารกิจที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ "การสร้างคนไทยรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพสูงและสร้างอนาคตที่ดีของชาติ"

 ด้วยเหตุดังกล่าว "โครงการสังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ ยกย่อง เชิดชู ครูสอนดี เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน" หรือ "ครูสอนดี" ที่ขับเคลื่อนโดย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) จึงเกิดขึ้นเพื่อมุ่งปฏิรูปค่านิยมที่สังคมมีต่อครู ด้วยการเชิดชูยกย่อง และมอบรางวัลให้แก่ครูสอนดีเพื่อเป็นต้นแบบให้แก่ครูท้องถิ่นและครูทั้งประเทศ

 ผ่านกระบวนการทำงานของ "คณะกรรมการเพื่อการคัดเลือกครูสอนดีและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระดับจังหวัดและระดับท้องถิ่น" ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในทุกภาคส่วนของสังคมทั้งภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม โดยเริ่มมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2554

 ซึ่งไม่เพียงจะร่วมกันเฟ้นหา "ครูสอนดี" ตามบริบทของชุมชนและท้องถิ่นแล้วยังก่อให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่าย กระตุ้นให้ท้องถิ่นเห็นความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ด้วยการมอบรางวัล "จังหวัดดีเด่น" ให้กับจังหวัดที่มีการจัดกระบวนการคัดเลือกครูสอนดีอย่างโปร่งใส สร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในท้องถิ่น และสามารถต่อยอดขยายผลการดำเนินงานเพื่อให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาของจังหวัดได้อย่างยั่งยืน โดยล่าสุดอยู่ในกระบวนการการคัดเลือกจังหวัดดีเด่น

 นางสุธีรา สีพยา หัวหน้าคณะผู้ทรงคุณวุฒิ โครงการติดตามการดำเนินงานคัดเลือกครูสอนดีและจังหวัดดีเด่น กลุ่มจังหวัดกรุงเทพมหานคร ภาคกลางและภาคตะวันออก เปิดเผยว่า การจัดตั้งคณะกรรมการฯ ระดับจังหวัด และระดับท้องถิ่นได้ทำให้เกิดการประสานความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการฯ และส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อการพัฒนาการศึกษาขึ้นในหลายๆ จังหวัดที่มีการดำเนินงานที่เข้มแข็ง "มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายๆ แห่งที่ได้มองเห็นบทบาทและหน้าที่รวมไปถึงความสำคัญของการดูแลและพัฒนาคุณภาพการศึกษาในท้องถิ่นของตนเอง เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเขาจะอยู่ใกล้กับครูและเด็กอยู่แล้ว และถ้าทุกภาคส่วนมีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการศึกษาก็จะสามารถเข้าไปช่วยในด้านการพัฒนาศึกษาในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี" อาจารย์สุธีรากล่าว

 ดร.ประสงค์ สังขะไชย หัวหน้าคณะผู้ทรงคุณวุฒิ โครงการติดตามการดำเนินงานคัดเลือกครูสอนดีและจังหวัดดีเด่น กลุ่มจังหวัดภาคใต้ เปิดเผยว่าคณะกรรมการในระดับจังหวัดและระดับท้องถิ่นหลายจังหวัดได้มีความตื่นตัวในเรื่องการการพัฒนาคุณภาพการศึกษามากขึ้น บางจังหวัดได้มีการต่อยอดองค์ความรู้ของว่าที่ครูสอนดี ด้วยการนำคุณครูไปออกรายการโทรทัศน์เพื่อเผยแพร่แนวคิดและกระบวนการจัดการเรียนการสอนให้กับคุณครูคนอื่นๆ ในทุกสัปดาห์

 "บางจังหวัดได้เตรียมแผนที่จะสร้างเป็นเครือข่ายชมรมครูสอนดีของจังหวัดเพื่อที่จะให้ครูสอนดีเหล่านั้นได้ระดมสรรพกำลังที่จะต่อยอดไปสู่คุณครูคนอื่นๆ ในจังหวัดของตัวเอง เป็นการต่อยอดองค์ความรู้ของคุณครูแต่ละท่านให้เกิดประโยชน์กับเด็กนักเรียนและครูคนอื่นๆ" อาจารย์ประสงค์กล่าว

 นายกมล ปิยภัณฑ์ ผู้ทรงคุณวุฒิฯ กล่าวถึงจุดเด่นและข้อดีที่เกิดขึ้นในแต่ละจังหวัดที่มีกระบวนการขับเคลื่อนโครงการครูสอนดีอย่างเข้มแข็งว่า ได้ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในท้องถิ่นนั้นๆ อย่างแท้จริง และเมื่อทุกภาคส่วนได้มาทำงานร่วมกัน ประโยชน์ที่ท้องถิ่นจะได้นอกเหนือจะได้ครูสอนดีแล้ว ยังจะได้เครือข่ายการทำงานในภาพรวมของจังหวัดนั้นๆ มากยิ่งขึ้น

 "ที่สำคัญยังช่วยกระตุ้นให้ท้องถิ่นหันกลับมามองบทบาทของตัวเองในการทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา รวมถึงจุดประกายให้ครูคนอื่นๆ หันกลับมาเติมเต็มช่องว่างของการทำงานในปัจจุบัน เพราะการเป็นครูที่แท้จริงไม่ได้หมายถึงการเป็นครูที่เก่งและขยันในการทำเอกสารเพื่อขอเลื่อนวิทยฐานะให้สูงขึ้น ที่อาจทำให้เกิดการละเลยการดูแลและพัฒนาเด็กและการศึกษาไป" อาจารย์กมลระบุ

 นายเธนศ ขำเกิด ผู้ทรงคุณวุฒิฯ กล่าวว่าเมื่อมีโครงการครูสอนดีเกิดขึ้นทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งๆ เกิดความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาในเรื่องการศึกษาในพื้นที่ของตนเองควบคู่ไปกับการพัฒนาในด้านอื่นๆ มากยิ่งขึ้น

 "ตรงนี้จะส่งผลดีกับเด็กและการศึกษาในท้องถิ่น เพราะเมื่อครูเป็นผู้นำสำหรับการสร้างปัญญา แล้วพอมีผู้ใหญ่ในระดับจังหวัดและภาคสังคมได้เข้ามายกย่อเชิดชูครู สิ่งเหล่านี้เป็นปฏิกิริยาทางด้านแรงจูงใจทางด้านจิตใจ เมื่อครูได้รับการยกย่องเขาก็เกิดความตระหนัก เกิดความศรัทธา มีความรักในวิชาชีพ แล้วก็อยากที่จะทุ่มเททำงานมากยิ่งขึ้น" อาจารย์เธนศระบุ

 นายนคร ตังคะพิภพ ที่ปรึกษาคณะกรรมการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน กล่าวถึงการดำเนินงานที่ให้ท้องถิ่นเป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการฯ ว่า เพราะในอดีตที่ผ่านมาหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีภารกิจที่เด่นมากในเรื่องของการสร้างสาธารณูปโภคปัจจัยพื้นฐาน ดังนั้นการที่มีคณะกรรมการฯ ระดับท้องถิ่นมาคิดเรื่องการศึกษานั้น ทาง สสค.จึงหวังลึกๆ ว่าทุกคนจะให้ความสนใจว่าการศึกษาคือการมองอนาคตของท้องถิ่น โดยเริ่มต้นจากการมองครูในโครงการครูสอนดี

 "ถ้าท้องถิ่นเป็นคนเลือกครู ครูเองก็จะมีความภูมิใจ แล้วตัวของครูก็จะเป็นคนของท้องถิ่น เราก็จะคืบหน้าต่อไปว่า เมื่อท้องถิ่นเห็นว่ามีครูสอนดีอยู่ตรงไหนบ้างในตำบล เทศบาล หรือจังหวัด เขาก็จะอาศัยศักยภาพของครูที่ถูกเลือกนั้นไปทำงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคนพัฒนาเด็ก ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ที่เราอยากจะเห็นท้องถิ่นมุ่งไปสู่การทำงานเพื่อการพัฒนาการศึกษา โดยอาศัยคุณครูสอนดีเหล่านี้ที่อยู่ในระบบและนอกระบบ ทั้งอยู่ในและนอกสถานศึกษามาเป็นตัวขับเคลื่อนการศึกษาของท้องถิ่น ทั้งเด็กปกติและเด็กด้อยโอกาส ซึ่งจะเป็นการต่อยอดขยายผลกระบวนการทำงานคัดเลือกครูสอนดีไปสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาในระดับจังหวัด" อาจารย์นครกล่าวสรุป
 

 

 
กำลังแสดงหน้าที่ 1 จากทั้งหมด 0 หน้า [หน้าถัดไปคือหน้าที่ 2] 1
 

 
เงื่อนไขแสดงความคิดเห็น
1. ทุกท่านมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเสรี โดยไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่กล่าวพาดพิง และไม่สร้างความแตกแยก
2. ผู้ดูแลระบบขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใด ๆ ต่อเจ้าของความคิดเห็นนั้น
3. ความคิดเห็นเหล่านี้ ไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมาย และไม่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับคณะผู้จัดทำเว็บไซต์

ชื่อ :

อีเมล์ :

ความคิดเห็นของคุณ :
                                  

              * ใส่รหัสจากภาพที่เห็นลงในช่องด้านล่าง และใส่คำตอบจากคำถาม เพื่อยืนยันการส่งความเห็น
  และสำลีสีอะไร
    

          ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการแสดงความคิดเห็นโดยสาธารณชน ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าชื่อผู้เขียนที่้เห็นคือชื่อจริง และข้อความที่เห็นเป็นความจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ boyoty999@google.com  เพื่อให้ผู้ดูแลระบบทราบและทำการลบข้อความนั้นออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้